xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” ปัดข่าวสินบน 30 ล้าน เลือกแบบก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบอาคาร สัปปายะสภาสถาน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแบบก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่บริเวณเกียกกาย มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 12,000 ล้านบาท
รอง ปธ.วุฒิฯ ปัดข่าวสินบน 30 ล้าน เลือกแบบสภาใหม่ ยันแค่ข่าวปล่อย แจงเหตุเลือก “สัปปายะสภาสถาน” ของ “ธีรพล นิยม” เพราะความโดดเด่นทางแนวคิด เน้นหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และสงบสุข มีพื้นที่ให้ชุมนุมทางการเมือง แต่บุกเข้าสภาไม่ได้ คาดใช้งานได้จริงปี 2556

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่า กลุ่มบริษัทของนายพีรพล นิยม ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน “สัปปายะสภาสถาน” ที่ชนะการแข่งขันเพราะมีคอนเนกชันในกลุ่มอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และนางประภาภัทร นิยม ภรรยา อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.สมัยนายพิจิตต รัตตกุล ว่าไม่ทราบว่านำเรื่องดังกล่าวมาโยงกันได้อย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีการวิ่งเต้น หรือมีการจ่ายสินบนให้คณะกรรมการ ซึ่งกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมประกวดก็มีหลากหลายสถาบัน ทั้งที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศิลปากร และอื่นๆ ส่วนคณะกรรมการก็มีอาจารย์จากทั้ง 2 สถาบันนี้เช่นกัน ส่วนที่โยงไปถึงภรรยาของนายพีรพล ที่เคยเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ก็ไม่เกี่ยวกัน เพราะคนตัดสิน คือ ส.ส.-ส.ว. และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ไม่ใช่คนของ กทม. สำหรับตนไม่ได้ลงคะแนนให้กับผู้ที่ชนะเลิศ แต่เลือกกลุ่มบริษัทที่ได้อันดับ 2 แต่ก็ยอมรับในมติเสียงส่วนใหญ่

เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวการล็อบบี้จ่ายเงินให้กัน 30 ล้านบาท นายนิคมกล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในตัวกรรมการทุกคน เพราะล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ทุกขั้นตอนเปิดเผยโปร่งใส จึงไม่ทราบว่ามีการปล่อยข่าวออกมากันอย่างไร เพราะเรารู้ว่าทุกฝ่ายจับตาดูอยู่

เมื่อถามว่าโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าแบบที่ชนะเลิศคล้ายเมรุเผาศพ นายนิคมกล่าวว่า แนวคิดการออกแบบทางบริษัทยึดหลักสงบ คุณธรรม จริยธรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหลักไตรภูมิ ถึงตนไม่ได้ให้คะแนนบริษัทนี้ แต่ก็ชอบหลักคิดที่ครอบคลุมทุกด้าน และรายละเอียดในประโยชน์ใช้สอย เขาคงเล็งเห็นว่าการเมือง บ้านเมืองทุกวันนี้วุ่นวายกันมาก เลยอยากให้ทุกคนมีจิตสงบ

นายนิคมกล่าวอีกว่า ทางคณะกรรมการได้คำนึงถึงความโดดเด่นทางแนวคิดที่เน้นหลักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ ได้เน้นถึงความสงบสุขของบ้านเมือง รวมทั้งสามารถใช้งานได้จริงในการเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนที่ไม่เสียเวลามาก รวมทั้งยังมีพื้นที่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงออกทางการเมือง แต่ไม่สามารถบุกเข้ามาภายในอาคารรัฐสภาได้ เนื่องจากจะมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีการเตรียมทางหนีทีไล่ไว้พร้อม รวมทั้งมีระบบป้องกันการบุกรุกต่างๆ ด้วย

นายนิคมเชื่อว่า ภายในอีก 2 ปีครึ่ง การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่น่าจะเสร็จสมบูรณ์ และเข้าใช้งานได้จริงช่วงปี 2556 เพราะต้องย้ายหน่วยราชการในพื้นที่ และโรงเรียนโยธินบูรณะออกไปให้เสร็จก่อน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ประชุมและพิจารณาลงมติแบบก่อสร้างอาคารรัฐสภา โดยเปิดให้ 5 บริษัทที่เสนอแบบ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการเพื่อนำเสนอผลงานบริษัทละ 1 ชม.จากนั้นคณะกรรมการได้ซักถามอีกบริษัทละ 1 ชม.จนครบ และมีการลงมติ โดยจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค.นี้

สำหรับแบบอาคารจำลองที่นำเสนอทั้งหมด 5 แบบ จาก 5 บริษัทนั้น แบบที่ 1 ใช้ชื่อว่า สัปปายะสภาสถาน แบบที่ 2 คือมรดกแผ่นดิน สถาปัตย์ศิลป์รัฐสภา ส่วนแบบที่ 3-5 ไม่มีชื่อ

สำหรับเกณฑ์ในการออกแบบนั้น คณะกรรมการต้องการให้มีพื้นที่ใช้สอย 3 แสนตารางเมตร โดยคิดค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 40,000 บาท รวมไม่เกิน 12,000 ล้านบาทในการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอย การประหยัดพลังงาน พื้นที่สีเขียว และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วย

หลังจากการประกาศผลอย่างเป็นทางการ บริษัทที่ได้รับเลือกจะต้องไปออกแบบก่อสร้างโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งระหว่างนี้จะมีการคัดเลือกบริษัทบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้าง หากโครงการไม่สะดุดคาดว่าจะจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2553 และแล้วเสร็จในปี 2556 อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขขณะนี้ขึ้นอยู่กับว่าทางโรงเรียนโยธินบูรณะ และหน่วยทหารเกียกกาย จะส่งมอบพื้นที่ได้เร็วแค่ไหน เพราะมีพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 119 ไร่

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีการคัดเลือกแบบก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ ได้มีกระแสข่าวการเรียกรับเงินจำนวน 30 ล้านบาท ซึ่งนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี คณะกรรมการตัดสินการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ว่า เคยมีกรรมการตัดสินบางคน รวมทั้งเพื่อน ส.ว. มาถามเรื่องนี้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ทราบ แต่ผู้เข้ารอบทั้ง 5 แบบ หากใครคนใดชนะ คนที่แพ้ก็ไม่มีใครเสียหาย เพราะเป็นการนำเสนอความคิด ใครนำเสนอดีก็ชนะไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกรับเงินใคร ถ้าดูหน้ากรรมการทั้ง 14 คน จะพบว่าไม่มีใครกล้าเรียกรับเงินอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นายสิงห์ชัยยอมรับว่า นายธีรพล นิยม มีคอนเนกชันที่ดี เช่น จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเดียวกับคณะกรรมการหลายๆ คน นอกจากนี้ยังมีผลงานในหน่วยงานราชการจำนวนมาก อีกทั้ง นางประภาภัทร นิยม ภรรยายังเคยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยนายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ ต้องยอมรับว่าผลงานของนายธีรพลชนะเลิศ เพราะชัดเจนในรายละเอียด และนำเสนอผลงานได้ดี

ขณะที่ ผศ.วิเชษฐ์ สุวิสิทฐ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ร่วมแข่งขันออกแบบอาคารรัฐสภาใหม่ กล่าวว่า หลังทราบข่าวว่าตนไม่ได้รับการคัดเลือกก็รู้สึกเซ็ง ช่วงที่ยังไม่มีการตัดสิน ทราบว่าประชาชนก็ตอบรับแบบของตนดีมาก จึงไม่ทราบว่า คณะกรรมการได้ตัดสินอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ ส่วนกระแสข่าวว่ามีนายหน้าวิ่งเรียกรับเงิน 30 ล้านบาทนั้น ถ้าข่าวดังกล่าวเป็นความจริง คณะกรรมการต้องรับผิดชอบ


แบบอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก





กำลังโหลดความคิดเห็น