xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สายสื่อแฉ NBT ปฏิบัติการจิตวิทยา ย้อนเหตุการณ์นองเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย แสวงการ
ส.ว.เสนอญัตติด่วน หลังทราบ ตร.ใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม เตรียมรวบรวมรายชื่อ 1 ใน 3 เปิดอภิปราย ทั่วไปไม่ลงมติ เสนอวุฒิเป็นเจ้าภาพเชิญ รบ.-พันธมิตรฯ หาทางออกสันติ “รสนา” สมาชิกรุดดูเหตุการณ์ที่ทำเนียบฯ ส.ว.สายสื่อ ย้ำเอ็นบีทีกำลังปฏิบัติการจิตวิทยา วอนนึกถึง 14 ตุลา-พฤษภา 35

วันนี้ (29 ส.ค.) นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามด่วนเรื่อง ปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองละเลยไม่ป้องกันและไม่ระงับเหตุการณ์ กลุ่ม “ชมรมคนรักอุดร” ทำร้ายร่างกายผู้ร่วมฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ถามนายกรัฐมนตรีว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม แต่ระยะเวลาเลยมาเดือนเศษแล้ว จึงต้องการทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังไม่มีการลงโทษทางวินัยหรือโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สามารถควบคุมเหตุได้ กระทั่งโผโยกย้ายนายตำรวจล่าสุดก็ไม่มี ทั้งนี้ได้เปิดซีดีบันทึกเหตุการณ์วันดังกล่าวด้วย

นายสุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มาตอบกระทู้แทน ชี้แจงว่า เหตุการณ์ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อมีกำลังเพียง 375 นาย ชมรมคนรักอุดรที่มีคนมากกว่า ใช้กำลังฝ่าเข้าไป จึงไม่สามารถต้านได้ ทำให้มีเหตุรุนแรงเกิดกับกลุ่มพันธมิตรฯ จากนั้นผู้ว่าฯ สั่งการให้ฝ่ายตำรวจเอาผิดเด็ดขาด รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรอุดรธานี เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน พบว่า มีผู้กระทำผิด 2 ราย คือ นายขวัญชัย สาระคำ และนายอุทัย แสนแก้ว จึงดำเนินคดีอาญา ส่วนผู้ยั่วยุ ได้ออกหมายเรียก 36 ราย ไม่มาตามหมาย 11 ราย ส่วนสำนวนคดี พนักงานสอบสวนได้ส่งผลสอบให้อัยการไปแล้วเมื่อ 21 สิงหาคม ฉะนั้นคดีนี้ไม่เป็นมวยล้มต้มคนดูแน่เพราะเป็นคดีความไปแล้ว

จากนั้น นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ตั้งกระทู้ถามด่วนเรื่องปัญหาการจัดการการติดตามดำเนินคดีกับสถานีวิทยุชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องปลุกปั่นกลุ่ม “ชมรมคนรักอุดร” ให้ทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถามต่อนายกรัฐมนตรี โดยย้ำถึงการจัดการและการติดตามดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการปลุกปั่นโดยใช้วิทยุชุมชนจนเกิดเหตุทำร้ายร่างกายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งยังไม่มีการจัดการจริงจังและสั่งระงับการออกอากาศและดำเนินการต่อผู้ประกาศที่ปลุกปั่น และเหตุใดมีการสั่งการให้ระงับการถ่ายทอดสัญญาณการแพร่ภาพของเคเบิลทีวีที่ถ่ายทอดรายการเอเอสทีวี และได้เปิดซีดีบันทึกเหตุการณ์วันดังกล่าวด้วย ซึ่งนายสุพลชี้แจงว่า การดำเนินการกับวิทยุชุมชนเป็นอำนาจของกทช. รัฐบาลไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแล และไม่เคยมีนโยบายให้ระงับการแพร่ภาพของเคเบิลทีวี เพียงแต่ขอความร่วมมือผู้ประกอบการว่า การแพร่ภาพและเสียงลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขอให้ระมัดระวังเท่านั้น ทั้งนี้ข้อเสนอทั้งหมดจะรับไปพิจารณาเพราะไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง อะไรที่ตอบได้ก็จะตอบ หรือไปหาคำตอบมาให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการชี้แจงของนายสุพล ทำให้บรรดา ส.ว.ไม่พอใจ เนื่องจากไม่สามารถตอบคำถามได้ โดยนายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา ระบุว่า ถ้านายกฯ ไม่มาตอบกระทู้ก็ไม่ควรเอาหุ่นยนต์มาตอบแทน ไม่มาก็อัดเทปมาเปิดก็ได้ จะหาคนมาชี้แจงแทนควรหาคนที่รอบรู้ ให้ข้อมูลกับวุฒิสภาได้มากกว่านี้

ต่อมา นายสมชาย ได้หารือว่า ขณะนี้มีข่าวว่า มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นเรื่องสำคัญจึงควรใช้โอกาสนี้หาทางออกและขอเสนอเป็นญัตติด่วน ซึ่ง ส.ว.ที่ตั้งกระทู้ถามด่วนอีก 3 คน ก็ยอมให้มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ นายสมชายตั้งข้อสังเกตว่า ภาพข่าวที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีกรณีพันธมิตรฯ บุกสถานี มีบางมุมเสมือนจริงมาก และการเสนอข่าวของเอ็นบีทีก็เป็นการปฏิบัติการทางจิตวิทยา เพราะฉายภาพรุนแรงซ้ำๆ พยายามทำให้การชุมนุมดูไม่ชอบธรรมเพื่อใช้กำลังสลาย และให้ประชาชนเห็นด้วยกับการปราบปราม และมีการเสนอข่าวไม่รอบด้าน เช่น ไม่เสนอภาพตำรวจ 5 กองร้อยพร้อมกระบองและแก๊สน้ำตา หรือประชาชนโดนกระทำก็ไม่มีภาพ ดังนั้นขอให้นึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 ที่รัฐบาลปฏิบัติการมีลักษณะคล้ายเหตุการณ์ปัจจุบันจนมีความสูญเสีย พร้อมกันนี้นายสมชายได้นำเทปภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล จนได้รับบาดเจ็บเวลา เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.หลายคนผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่อาจบานปลาย และมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ไม่ฟังเสียงประชาชน และเรียกร้องรัฐบาล อย่าใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และขอให้วุฒิสภามีมติถึงท่าทีของส.ว.

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล เสนอให้ ส.ว.เดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อไปช่วยเป็นประจักษ์พยานหากรัฐบาลกระทำการรุนแรง และเสนอให้ส.ว.ยกเลิกจัดสัมมนา ในวันที่ 29-31 สิงหาคม ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนไม่มีสภาจะอยู่ และเห็นว่า หากสภาไม่สามารถเป็นเวทีแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ก็ไม่สมควรมีสภาต่อไป และระบุว่า บ่ายวันนี้ ส.ว.บางส่วนจะเดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุม

แต่ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ที่ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม ชี้แจงว่า การไปสัมมนาระดมความคิดเห็นเป็นบทบาทหนึ่งของ ส.ว. ขอให้แยกประเด็นการสัมมนากับการชุมนุมออกจากกัน หากใครจะไปหรือไม่ไปก็ไม่เป็นไร เพราะถึงถึงอย่างไรก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว จึงอยากให้ใช้โอกาสนี้ไปหารือสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อมีข้อสรุปเป็นทางออกให้บ้านเมืองก่อนประชุมรัฐสภาในวันที่ 1 กันยายน

ด้าน นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม และเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ ส.ว.(วิปวุฒิ)เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 161 โดยให้ ส.ว.เข้าชื่อ 1 ใน 3 เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติรัฐบาล ถึงปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ ส.ว.บางส่วนแสดงความเห็นสนับสนุนนายวิทยา

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา รายงานสถานการณ์การชุมนุมต่อที่ประชุมว่า ณ เวลา 11.50 น. ตำรวจได้เริ่มสลายการชุมนุมบริเวณประตูต่างๆรอบทำเนียบฯ พร้อมนำภาพข่าวล่าสุดจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสฉายในที่ประชุมด้วย ส่วนนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี เสนอให้ประชุมลับ เพื่อมีมติไปในทางเดียวกัน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ส่วนพ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร เสนอให้ ส.ว.เป็นเจ้าภาพเชิญรัฐบาลและพันธมิตรฯ มาหารือทางออกเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หลังจากสมาชิกได้อภิปรายฯกันพอสมควร ประธานได้สั่งปิดประชุมโดยไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น