xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ส.ส.-ส.ว.” ไม่ทำหน้าที่ แล้วยังมีหน้ามาขึ้นเงินเดือนตัวเอง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล(เสื้อฟ้า) ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นำทีม ส.ส.ของพรรคประมาณ 70 คนเดินทางไปพบทักษิณที่กัมพูชา ส่งผลให้สภาล่ม(13 พ.ย.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ช่างเป็นเรื่องหน้าไม่อาย สำหรับ ส.ส.-ส.ว.ที่ได้รับเลือกเข้ามานั่งในสภา แต่ถึงเวลากลับไม่ค่อยทำงาน โดดประชุมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำเอาสภาล่มถึง 10 ครั้ง ในช่วงเวลาแค่ 11 เดือน ลำพังมีพฤติกรรมงามหน้าแบบนี้ก็แย่เกินพอแล้ว ยังกล้าออกกฎหมายเพิ่มค่าตอบแทนให้ตัวเองอีก โดยอ้างว่า ส.ส.-ส.ว.ทำงานหนักบ้าง ปรับเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพบ้าง และค่าตอบแทน ส.ส.-ส.ว.บ้านเรายังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านบ้าง ไม่ว่าจะยกเหตุผลใดขึ้นมาอ้าง ก็คงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการเพิ่มค่าตอบแทนให้ตัวเองได้ ตราบใดที่ยังไร้สำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง ...เราควรจะดัดหลัง ส.ส.-ส.ว.เหล่านี้อย่างไรดี?

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

น่าจะยังจำกันได้ว่า ส.ส.และ ส.ว.ได้ขึ้นเงินเดือนตัวเองขนานใหญ่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 ซึ่งที่ประชุม ครม.วันนั้นได้อนุมัติให้ขึ้นค่าตอบแทนข้าราชการฝ่ายการเมืองกันถ้วนหน้า โดยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เดิมได้รับ 65,920 บาท ขึ้นเป็น 115,920 บาท ขณะที่ประธานวุฒิสภา เดิมได้รับ 64,890 บาท ขึ้นเป็น 110,390 บาท ด้านผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้รับเท่ากับรองประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานวุฒิสภา คือเดิมได้รับ 63,860 บาท ขึ้นเป็น 106,360 บาท ขณะที่ ส.ส. และ ส.ว.ได้เท่ากัน ซึ่งเดิมได้รับ 62,000 บาท ขึ้นเป็น 104,330 บาท

ที่ประชุม ครม.คราวนั้น ไม่เพียงอนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนแก่ ส.ส.-ส.ว.เท่านั้น แต่ยังเห็นชอบให้ ส.ส.-ส.ว.ได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วย ส่วนได้รับกี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่ว่าเป็น ส.ส.-ส.ว.มากี่ปีกี่สมัย เช่น เป็น ส.ส.หรือ ส.ว.มา 2-3 ปี ก็ได้บำเหน็จบำนาญ 20% ของเงินเดือน แต่ถ้าเป็นมา 20 ปีขึ้นไป ก็ได้ร้อยละ 70 ของเงินเดือน

เวลาผ่านมาแค่ 5 ปีเศษ บรรดาข้าราชการฝ่ายการเมืองหรือนักการเมืองผู้ทรงเกียรติก็ขึ้นค่าตอบแทนให้ตัวเองอีกแล้ว เมื่อที่ประชุม ครม.รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร,ประธานและรองประธานวุฒิสภา, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ โดยให้เพิ่มค่าตอบแทนสมาชิกรัฐสภาขึ้นอีกตำแหน่งละประมาณ 6,000 บาท นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มเบี้ยประชุมของคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ โดยกรรมาธิการเพิ่มจาก 1,000 บาทต่อครั้ง เป็น 1,200 บาทต่อครั้ง ส่วนอนุกรรมาธิการ เพิ่มจาก 500 บาทต่อครั้ง เป็น 800 บาทต่อครั้ง ส่วนเรื่องที่จะให้ ส.ส.-ส.ว.ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการประจำ และเรื่องการเบิกค่าเดินทางนั้น ให้สภาไปหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง

ทั้งนี้ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเพิ่มค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมแก่สมาชิกรัฐสภาอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว บรรดา ส.ส.-ส.ว.ยังขาดความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพราะโดดประชุมสภาจนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ส่งผลให้สภาล่มถึง 10 ครั้งในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ ส.ส.-ส.ว.จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเพิ่มค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมครั้งนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าตอบแทน ขณะที่นักวิชาการก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนกรุงเทพฯ พูดถึงการเพิ่มค่าตอบแทน ส.ส.-ส.ว.และเบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการว่า แม้ตนจะเป็นอนุกรรมาธิการบางคณะ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าเบี้ยประชุม และว่า แทนที่จะจ่ายค่าเบี้ยประชุมให้ ส.ส.-ส.ว. น่าจะจ่ายเป็นค่าเดินทางให้คนนอกที่ต้องเดินทางมาชี้แจงกรรมาธิการมากกว่า ผศ.นพ.ตุลย์ ยังเสนอด้วยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสภาล่ม น่าจะมีการกำหนดว่า หาก ส.ส.-ส.ว.คนใดขาดประชุมหรือเข้าประชุมสภาไม่ครบตามเกณฑ์ ก็ให้หมดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งครั้งต่อไป

“อนุกรรมาธิการผมก็เป็นอยู่ ผมก็ว่าไม่ต้องเพิ่มหรอก แค่นี้เหลือเฟือแล้ว จริงๆ แล้วตัวกรรมาธิการที่เป็น ส.ส.ไม่ควรรับด้วยซ้ำไป มันอยู่ในเงินเดือนอยู่แล้ว น่าจะเป็นอย่างนั้นด้วยซ้ำไป โอเคอนุกรรมาธิการหรืออะไรที่เขาไม่ได้รับเงินเดือนของ ส.ส.คุณให้ค่าตอบแทนเขา คนที่มาชี้แจง คุณยังไม่มีค่ารถค่าราให้เขาเลย อย่างนี้ผมว่าคนที่มาชี้แจงหรือคุณเชิญเขามาเนี่ย มาตั้งไกล คุณควรจะให้กับคนที่มาทำงานให้กับสภา โดยที่เขาไม่ได้มีเงินเดือนเป็นประจำ น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า (ถาม-คิดยังไงที่มีการขึ้นเงินเดือนในช่วงนี้ ทั้งที่สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส.ส.ไปพบทักษิณบ้าง?) ใช้อะไรดีล่ะ หน้าไม่อายมั้ง คืออย่างพวกผมเงินเดือน 3 หมื่นเนี่ย ทำงานตัวเป็นเกลียวเลย สอนหนังสือ ดูคนไข้อะไรไม่รู้ เต็มไปหมดเลย แต่พวกนี้ทำงานอะไรล่ะ ผมทำงาน extra ด้วยซ้ำไป ไม่ได้หนีราชการไปไหนเลย พวกเขานี่ยิ่งมีข่าวว่าหนีการประชุมไปเขมรด้วย ยิ่งน่าละอายใหญ่”

“(ถาม-คุณหมอคิดยังไง เวลานักการเมืองอยากได้ค่าตอบแทนเพิ่ม ก็สามารถพิจารณาได้ด้วยตัวเอง แต่ขณะเดียวกันเวลาสภาล่ม ทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลต่างโยนกันไปมาว่าไม่ใช่ความผิดของตัวเอง?) เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ เอาง่ายๆ เลย ถ้าเป็นพนักงานบริษัท เขาไล่ออกไปนานแล้ว แต่นี่เขาเรียกหน้าไม่อาย และเขาก็รู้อยู่ว่าไปเลือกตั้งใหม่ เขาก็ได้อีก ทั้งๆ ที่ผมคิดว่าผลงานอย่างนี้เนี่ย สมมติว่าผมเอง สมมติเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ผมจะไปต่อสัญญาผมต้องมีผลงานไปต่อ ถามว่า ส.ส.แต่ละคนมีอะไรไปต่อมั่ง จริงๆ แล้วควรจะมีไปดูเลยว่า ถ้าเกิดคุณประชุมไม่ครบเนี่ย คือคุณหมดสิทธิสมัครรอบต่อไป มันคงต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างที่ โอเคคุณอยากเป็น ส.ส.สมัยหน้าก็ต้องมี คนนี้มาประชุมครบมั้ยหรืออะไร คือการแก้องค์ประชุมล่มเนี่ย เป็นเรื่องน่าละอายของสภาก็ว่าได้ ความรับผิดชอบ สมมติว่า มาโรงพยาบาลแล้วบอกว่า มีคนไข้มาตรวจ 1 พันคน แต่มีหมอตรวจคนไข้ได้สัก 200 คน ที่เหลือก็นั่นไป มันก็เป็นเรื่องน่าละอายของโรงพยาบาล ถ้าบอกว่าหมอไปประชุมอะไรกันหมดเลย ไม่มีใครมาดูแลคนไข้ เพราะหน้าที่ของหมอก็คือดูแลคนไข้ หน้าที่ของ ส.ส.สมาชิกรัฐสภาก็คืออะไร มาประชุม มาให้ความเห็น จะให้ความเห็นอีท่าไหน คุณก็ต้องมาแสดงความเห็น แล้วเดี๋ยวที่ประชุมเขาตัดสินกัน ได้ข่าวว่า ธรรมเนียมการนับองค์ประชุมเนี่ย มันเกิดจากการที่กลัวเรื่องพวกมากลากไป เขาก็เลยบอกว่า งั้นผมไม่เอาชื่อเข้าองค์ประชุม ผมคิดว่าคงต้องมีวิธีการใหม่ๆ หรือระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ที่จะบอกว่า การจะนับองค์ประชุมเนี่ยจะนับตอนไหน และที่น่าละอายมากคือ คุณอภิปรายปาวๆๆ แต่พอนั่นบอก กูเป็นผี ไม่ใส่ชื่อเอาไว้ ไม่ยอมให้เป็นอยู่ในองค์ประชุมน่ะ แต่พอเริ่มอภิปราย ขอพูด ยิ่งได้ออกทีวีด้วย ขอพูด ไอ้พวกนี้เป็นผี ผีสภา”


ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.แม้จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มค่าตอบแทนครั้งนี้ แต่ก็ยืนยันว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าตอบแทน เพราะลำพังค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ก็คิดว่ามากพอแล้ว นายไพบูลย์ ยังเตือนสติเพื่อน ส.ส.-ส.ว.ที่ชอบโดดประชุมจนสภาล่มด้วยว่า ถ้าไม่เข้าใจภารกิจหลักของตัวเอง ก็ควรจะพิจารณาตัวเอง

“แค่นี้เราก็พอเพียง เราพอใจแล้ว แต่ก็แน่นอน มันเป็นความคิดส่วนตัว สำหรับ ส.ส.-ส.ว.ที่บางคนเขามีรายจ่ายเยอะ เขาก็อาจจะว่าไม่พอ อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา แต่เอกสิทธิของผมคือผมว่าผมพอใจแล้ว เยอะมาก ได้เยอะอยู่แล้ว (ถาม-คิดว่าการขึ้นค่าตอบแทนจะสามารถแก้ปัญหาการไม่เข้าประชุมหรือสภาล่มได้มั้ย?) ไม่เกี่ยวกันเลย เรื่องจำนวนเงินไม่ได้เป็นปัจจัยเกี่ยวกับมาประชุมหรือไม่มาประชุม หรือสภาล่ม ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของความรู้สึก คนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่พอ ก็จะรู้สึกว่าไม่พอ คราวมาก็อยากจะได้มากขึ้น แต่เรื่องไม่มา ก็ไม่มา แต่ถ้ามาต้องการได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มพวกผมที่พอเนี่ย รู้สึกจะรวมคุณรสนา หลายๆ คนที่เป็นเพื่อนๆ ผมก็บอกว่า แค่นี้ก็เยอะแล้ว ก็เป็นเอกสิทธิของพวกเรา ...แต่ถ้าจะบอกว่า ผมไม่เห็นด้วยที่เขาขึ้น ก็อย่าเอาสิ พวกนั้นก็จะใช้วิธีพูดอย่างนี้ ซึ่งมันก็ไม่รู้จะพูดกันยังไง มันคนละเรื่องกัน (ถาม-คุณไพบูลย์ช่วยเตือนสตินักการเมืองหน่อย หน้าที่ของ ส.ส.คือ ประชุม แต่สภาล่มบ่อย 11 เดือน ล่ม 10 ครั้ง ซึ่งมีทั้งในแง่ประชุมสภา และประชุมร่วม 2 สภา?) ก็อยากจะให้ทาง ส.ส.-ส.ว.คำนึงว่าตัวเองเป็นผู้อาสาเขาเข้ามา สภา รัฐสภาก็เป็นการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติงานหลักที่เป็นงานหลักที่ต้องทำก็คือการมาร่วมประชุมพิจารณากฎหมายต่างๆ หรือเรื่องต่างๆ ที่เข้าสู่สภา อันนั้นคืองานหลัก ถ้าท่านไม่ทำงานหลัก แล้วท่านจะไปทำอะไร ถ้าท่านบอกว่า งานหลักคือไปดูแลทุกข์สุขประชาชน หรือไปมัวแต่ไปแสวงอำนาจจากทางฝ่ายบริหารอะไรต่างๆ นั้น ก็แสดงว่าท่านไม่เข้าใจภารกิจหลักของท่าน ถ้าท่านไม่เข้าใจภารกิจหลักของท่าน แล้วท่านอาสามา ท่านก็ควรจะพิจารณาตัวเอง”

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ก็ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าตอบแทนให้ ส.ส.-ส.ว.เพราะนอกจากจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังถังแตก ต้องกู้เงิน 8 แสนล้านแล้ว การเพิ่มค่าตอบแทนยังควรพิจารณาจากผลงานและความรับผิดชอบของ ส.ส.-ส.ว.ด้วย น.ส.รสนา ยังแนะทางแก้ปัญหา ส.ส.-ส.ว.ชอบโดดร่มไม่เข้าประชุมสภาด้วยว่า ควรให้เงินเดือนเป็นรายวัน หากวันใดไม่เข้าประชุมก็ไม่ต้องได้ค่าตอบแทน

“ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนตอนนี้ ก็คือ รัฐบาลก็ยังถังแตก ต้องกู้เงิน 8 แสนล้านอะไรพวกนี้ มาขึ้นเงินเดือนทำไมช่วงนี้ นั่นประการที่ 1 ประการที่ 2 เนี่ยต้องบอกว่า การขึ้นเงินเดือนควรจะต้องมีวิธีการว่า ไม่ใช่ขึ้นแบบสุ่ม หว่าน สุ่มไปเลยอะไรแบบนี้ เพราะโดยปกติในระบบธุรกิจเนี่ย เขาจะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานให้เจ้าหน้าที่ผู้บริหารเนี่ย เขามีผลกำไรเป็นตัวประเมิน ถ้าในแง่ของนักการเมือง คือแม้แต่ข้าราชการเอง เวลาเขาขึ้นเงินเดือนก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะขึ้นให้ทุกคน 2 ขั้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นในแง่ของนักการเมืองเองเนี่ย ที่จริงแล้วมันควรจะต้องมีกรอบความรับผิดชอบพื้นฐาน เช่น ผลงานของคุณ การขึ้นเงินเดือนควรจะเป็นไปตามผลงาน คือถ้าดูโดยภาพรวม เช่น ใน 1 สมัยประชุม คุณจะต้องผ่านกฎหมายกี่ฉบับ เป็นขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ไม่ใช่ว่าเงินเดือนก็ขึ้นไปทางหนึ่ง แต่หน้าที่และความรับผิดชอบไม่ได้เอามาประเมิน ไม่ได้มาสัมพันธ์กันเลย มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

“พี่เคยเสนอแล้ว ให้มันเว่อร์ๆ แบบจ่ายเงินเดือนเป็นรายวันไปเลย เงินเดือนคุณได้เท่าไหร่ 1 แสนใช่มั้ย มาเฉลี่ยเลย เดือนหนึ่งคุณมาประชุมกี่ครั้ง และการประชุมต่อครั้งราคาเท่าไหร่ คุณมาประชุม 20% คุณก็รับเงินไป 20% ถ้าประชุม 80% ก็รับไป 80% ยอมเสียสละ ลาไปไหนก็หักไปค่าใช้จ่าย เพราะคุณก็ได้สิทธิประโยชน์อย่างอื่นอยู่แล้ว แบบนี้มันแฟร์ดี เหมือนคนทำงานคนใช้แรงงานอื่นๆ น่ะ เขาก็กินเงินเดือนเป็นแรงงานรายวัน แต่เมื่อ ส.ส.-ส.ว.เป็นผู้ทรงเกียรติเนี่ย ถ้าคุณยังไม่มีสำนึกในการที่จะทำงานให้เต็มที่เนี่ย มันก็ต้องใช้กระบวนการที่เข้มงวดในการตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้จะทำให้ประชาชนเห็นความสมเหตุสมผล ขึ้นเงินเดือนได้ แต่ไม่ใช่ขึ้นทั้งหมด ขึ้นตามผลงาน ขึ้นตามความขยันความขี้เกียจ เพราะหลายคน ส.ส.-ส.ว.ทั้งหลาย พี่ก็ไม่รู้นะ หลายคนเขาก็ธุรกิจ เขาก็เพียงเพื่อให้เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรี ไม่ต้องเอาเงินก็ยังได้ ไม่ใช่เหรอ หลายคนเงินเดือนพวกนี้ก็เป็นเงินทอนน่ะ เขามีโอกาสมีแหล่งรายได้จากที่อื่น บางคนมาเล่นการเมืองก็เพียงเพื่อเข้ามามีอำนาจ คุณมีอำนาจแล้วคุณใช้อำนาจหารายได้อย่างอื่นได้อีกเยอะแยะ คือถ้าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา ก็ต้องทำให้เกิดความเข้มงวด ...จริงๆ ทุกประเทศ ถ้าไปถามโพลนะ ประชาชนก็เห็นว่า อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่คนให้ความเชื่อถือน้อยที่สุดน่ะ เพราะฉะนั้นการที่เราจะผลักให้สถานะของเราเป็นที่ได้รับความเชื่อถือมากขึ้นเนี่ย เป็นสิ่งที่สำคัญ และการที่คนเขาจะเชื่อถือเราให้การยกย่องเราก็คือจากผลงานการทำงานของเรา ไม่ใช่ว่าเราทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเมื่อเราเข้าสู่อำนาจแล้วเนี่ย เรามีสิทธิขึ้นเงินเดือนตัวเอง เพราะเราเป็น 1 ในอำนาจ 3 ประชาชนไม่มีสิทธิจะมาพูดอะไร คุณมีแต่จ่ายเงินให้เราเท่านั้น คุณก็ทำให้ประชาชนเขารังเกียจ”


น.ส.รสนา ยังแนะวิธีตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.-ส.ว.ด้วยว่า จริงๆ แล้ว รัฐสภามีเว็บไซต์ แต่ไม่ได้ใช้สื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ควบคุมการทำงานของสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องน่าจะทำประวัติของ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าวว่า ตลอดสมัยประชุม ส.ส.-ส.ว.คนใดเข้าประชุมมากน้อยแค่ไหน ใครชอบเข้าประชุมเพียงเพื่อให้ครบองค์ประชุมแล้วหายตัวไป ไม่ร่วมลงมติ หากพบว่า ส.ส.-ส.ว.คนใดเข้าร่วมประชุม 80% ขึ้นไป ก็ขึ้นเงินเดือนให้ แต่ถ้าใครเข้าประชุมต่ำกว่า 50% นอกจากจะไม่ต้องขึ้นเงินเดือนแล้ว ควรลดเงินเดือนด้วย ซึ่งการบันทึกและทำประวัติไว้เช่นนี้ นอกจากจะใช้ประเมินผลงานกับค่าตอบแทนที่ ส.ส.-ส.ว.ควรจะได้รับแล้ว ยังจะช่วยให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจได้ด้วยว่า สมัยหน้า ควรเลือก ส.ส.หรือ ส.ว.คนนั้นเข้าสภาอีกหรือไม่?
บรรยากาศหลังสภาล่มเมื่อวันที่ 9 พ.ย.
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าตอบแทนให้ ส.ส.-ส.ว.และการเพิ่มเบี้ยประชุมให้ กมธ.-อนุ กมธ.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับเพิ่มค่าตคอบแทนให้ ส.ส.-ส.ว.
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าตอบแทนให้ ส.ส.-ส.ว.เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น