xs
xsm
sm
md
lg

“สภาล่ม” ขวาง! ประชุมลับถกข้อตกลง MOU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย  ชิดชอบ
ที่ประชุมรัฐสภา ล่ม ฝ่ายค้าน-ส.ว.ขวาง “กษิต” เสนอประชุมลับถกบันทึกเขตแดนไทย-กัมพูชา อ้าง ปชช.อยากฟัง ด้านรัฐบาลกลัวฝ่ายค้านพูดนอกกรอบ กระพือปัญหาบานปลาย สุดท้าย ยอมถอนเรื่อง เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

วันนี้ (9 พ.ย.) ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระเรื่องบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งประกอบด้วย บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2551 บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพฯ วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2552 และ บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เมษายน 2552 ซึ่ง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อขอให้มีการประชุมลับตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ปรากฏว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประชุมตามปกติ โดยนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน และสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็มาจากประชาชน รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีเอง ทำให้มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องชี้แจงถึงเหตุผลที่มีการใช้ช่องทางทางการทูตในการเรียกทูตไทย จากกรุงพนมเปญ กลับประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และตอนนี้ก็มีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีการอ้างว่ามีเพียงธุรกิจกาสิโน เพียงอย่างเดียวที่ได้รับผลกระทบ จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นความจริง เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ตนเห็นว่า จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลด้วยซ้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงต่อประชาชน

ขณะที่ด้าน ส.ส.ต่างกล่าวสนับสนุนให้ประชุมลับ ว่า ทางการไทยต้องไปเจรจา หากต่างประเทศรู้ท่าที หรือข้อมูล ก็จะทำให้ไทยเสียประโยชน์ทางการเจรจา เพราะคำพูดจะพันคอ ไม่อยากให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ และเชื่อว่า ทุกฝ่ายหวังดีต่อประเทศ และไม่แน่ใจว่าสมาชิกจะอภิปรายนอกกรอบหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลทบทวนที่จะให้เป็นการประชุมลับ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลเสนอเข้ามาบรรจุในระเบียบวาระมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น ควรให้มีการประชุมอย่างเปิดเผย โดยเมื่อมีประเด็นใดที่จะต้องชี้แจงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกระทำ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยอมรับว่า การนำบันทึกการประชุมดังกล่าวเข้ามาให้รัฐสภาเห็นชอบและต้องขอให้มีการประชุมลับ ไม่เหมือนกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้าน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีการบริหารราชการแผ่นดินที่บกพร่องอย่างไร แต่กรณีของการประชุมรัฐสภาในกรณีนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นการที่รัฐบาลต้องการขออนุมัติเรื่องดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลสามารถเจรจากับต่างประเทศได้ ซึ่งในภาวะสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ หากมีการอภิปรายและพาดพิงออกไป อาจจะมีการตีความผิดพลาด และเกิดปัญหาต่อการเจรจาตามกรอบดังกล่าวได้ แต่ถ้าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านให้การยืนยันว่า จะอภิปรายเฉพาะในกรอบโดยไม่นำสถานการณ์ปัจจุบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนก็พร้อมจะมีการเปิดอภิปรายตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร

“ไม่ได้กังวลว่าถ้าอภิปรายแล้ว ผม และรัฐมนตรี กษิต ภิรมย์ จะเสียหาย แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ และมีการให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ที่มีการอ้างสถาบันอื่นที่ไม่ใช่รัฐบาลมาเป็นเงื่อนไข ถ้าไม่เป็นการอภิปรายลับ อาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ปัญหาได้ และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แต่ผมก็พร้อมให้มีการอภิปรายอย่างเปิดเผย หากสมาชิกอภิปรายอยู่ในกรอบ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้สลับลุกขึ้นอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วย ที่นายกฯ จะให้เป็นการประชุมลับ ทำให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา วินิจฉัยว่าเรื่องนี้ต้องเป็นการประชุมลับ แต่ ส.ส.ในซีกพรรคฝ่ายค้าน ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย จนทำให้การประชุมสภาวุ่นวาย และเกิดการประท้วงอย่างหนัก จนในที่สุด นายชัย ได้สั่งให้พักการประชุม 5 นาที และเรียกวิปทั้ง 3 ฝ่าย และนายกฯ ไปหารือเพื่อหาข้อสรุป

จากนั้นเมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ฝ่ายค้าน ยังยืนยันเจตนารมณ์เช่นเดิม ที่ต้องการให้มีการเปิดประชุมแบบเปิดเผย รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการทางการทูตกับกัมพูชา นายกฯต้องตอบถึงความสัมพันธ์ให้ชัดว่าอยู่ระดับไหน รัฐบาลควรใจกว้างขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 เพื่อฟังความเห็นในการบริหาร หรือ ส.ว.ควรเข้าชื่อ 1 ใน 3 ตามมาตรา 161 สอบถามรัฐบาล ส่วนเรื่องนี้รัฐบาลสามารถถอนเรื่องออกไปก่อนได้ เมื่อปัญหาคลี่คลายค่อยนำเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบทั้งจากวิปรัฐบาล และวิปวุฒิสภา

ด้าน นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการทางการทูตไปกับกัมพูชา 3 ข้อ ได้ตัดสินใจเพื่อปกป้องประโยชน์ประเทศและประชาชน และตามแนวทางทางการทูตที่เป็นที่ยอมรับของสากล และยืนยันว่า ทุกก้าวที่จะดำเนินการต่อไป จะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศมากที่สุด ส่วนการค้าชายแดนของคนสองชาติ เป็นเรื่องที่รัฐบาลตระหนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เริ่มจากรัฐบาลไทยก่อน เมื่อมีผลกระทบ รัฐบาลจึงต้องแสดงจุดยืน ยืนยันว่า ไม่มีอะไรผิดพลาด และเมื่อมีการเสนอกรอบการเจรจานี้เข้ามา เกรงว่า มีผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลจึงไม่ขัดข้องที่จะขอถอนเรื่องดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ผู้นำของสองประเทศ มองไม่ตรงกัน ดังนั้น ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำเนินการการทูตเพื่อปกป้องประโยชน์ประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายชัย ได้ตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนที่จะให้สมาชิกมีมติเห็นชอบให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อนตามที่นายกฯร้องขอหรือไม่ ปรากฏว่า มีสมาชิกแสดงตนเพียง 298 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่กึ่งหนึ่งจำนวน 312 คน จากสมาชิกรัฐสภา 624 คน ทำให้นายชัย เลื่อนให้นับองค์ประชุมใหม่ในวันที่ 10 พ.ย.และสั่งปิดประชุมทันทีเวลา 17.00 น.

สำหรับสารสำคัญของบันทึก คือ ให้ผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตลอดแนวเขตแดน เพื่อช่วยสำรวจและจัดทำแนวเขตแดน และชุดสำรวจร่วมอาจเริ่มการสำรวจพื้นที่ตอน 5 (หลักเขตแดนที่ 1-23) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ และการจัดทำคำแนะนำการสำรวจพื้นที่ตอนที่ 6 (หลักเขตแดนที่ 1-เขาสัตตะโสม) ซึ่งรวมบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย และระหว่างรอการจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารให้แล้วเสร็จ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ตอนที่ 6 ทันทีที่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการสำรวจในพื้นที่ตอนที่ 6
















กำลังโหลดความคิดเห็น