xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ ตร.ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


โครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว วันนี้ (6 ก.ย.) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.นี้เป็นต้นไป

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 126 ตอนที่ 65 ก เรื่อง พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยในประกาศ พระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว มีทั้งหมด 8 มาตรา 18 หน้า มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้ ให้พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (7 ก.ย.) นี้

พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘
(๒) พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

มาตรา ๔ ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

ก. สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แบ่งเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการดังต่อไปนี้

(๑) สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ
(๒) สำนักงานส่งกำลังบำรุง
(๓) สำนักงานกำลังพล
(๔) สำนักงานงบประมาณและการเงิน
(๕) สำนักงานกฎหมายและคดี
(๖) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
(๗) สำนักงานจเรตำรวจ
(๘) สำนักงานตรวจสอบภายใน

ข. ให้จัดตั้งกองบัญชาการหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ ดังต่อไปนี้

(๑) กองบัญชาการตำรวจนครบาล
(๒) - (๑๐) ตำรวจภูธรภาค ๑-๙
(๑๑) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๑๒) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
(๑๓) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
(๑๔) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
(๑๕) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
(๑๖) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
(๑๗) สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ
(๑๘) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
(๑๙) สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(๒๐) กองบัญชาการศึกษา
(๒๑) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
(๒๒) โรงพยาบาลตำรวจ

มาตรา ๕ ส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

ก. สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ วางแผนพัฒนาองค์กรและทรัพยากรทางการบริหาร อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับดูแล เร่งรัด ตรวจสอบ
ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งปวงของทุกหน่วยงานภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข. กองบัญชาการหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจและหน่วยงานในสังกัด

(ข) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการแผนปฏิบัติราชการประจำปีและแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี ให้สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ

(ค) ประสานและจัดทำแผน แผนงาน โครงการ ตลอดจนกำกับ เร่งรัด ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงาน
ตำรวจแห่งชาติ

(ง) ดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒) สำนักงานส่งกำลังบำรุง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานส่งกำลังบำรุงและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ศึกษา พัฒนา และสร้างมาตรฐานคุณลักษณะเฉพาะพัสดุแบบรูปรายการและราคากลางสิ่งปลูกสร้าง

(ค) บริหารงานและดำเนินการเกี่ยวกับงานส่งกำลังบำรุงของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ง) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๓) สำนักงานกำลังพล มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานกำลังพลและหน่วยงานในสังกัด

(ข) จัดระบบงานและบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างส่วนราชการ ระบบตำแหน่ง และระบบการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการและพัฒนาการจัดสวัสดิการประเภทต่าง ๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๔) สำนักงานงบประมาณและการเงิน มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานงบประมาณและการเงินและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณ การเงิน การบัญชี ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ค) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำแผนงาน โครงการในส่วนที่เกี่ยวกับงบประมาณ ดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งคำขอ การจัดสรร การบริหาร การควบคุม และการกำกับดูแล
ตลอดจนติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ง) ให้คำปรึกษาแนะนำแก่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินงานและงานวิชาการด้านงบประมาณ การเงิน และการบัญชีรวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับงานข้อมูลข้อสนเทศ และงานฝึกอบรมด้านงบประมาณ การเงิน และการบัญชีแก่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๕) สำนักงานกฎหมายและคดี มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานกฎหมายและคดีและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ให้คำปรึกษา และให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ค) ศึกษา วิเคราะห์ และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับงานนิติกรรมและสัญญา งานเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ฉ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๖) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมอบหมาย

(ค) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรืออนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการรายงานการดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการของ
ข้าราชการตำรวจ

(ง) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรืออนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการแก้ไขวันเดือนปีเกิดในทะเบียนประวัติและการควบคุม
เกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ

(จ) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรืออนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ
และลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ฉ) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรืออนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา วินิจฉัยปัญหา การออกกฎ ระเบียบ
ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของข้าราชการตำรวจ

(ช) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๗) สำนักงานจเรตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานจเรตำรวจและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจราชการด้านการป้องกันและปราบปรามการสืบสวน การสอบสวน การจราจร การบริการสังคม และด้านอื่น ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามที่ได้รับมอบหมาย

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ข้าราชการตำรวจพนักงานราชการ และลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง
ตามอำนาจหน้าที่

(ง) ให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของข้าราชการตำรวจ จัดทำคู่มือและคำอธิบายแนวทางการปฏิบัติ และสอดส่องดูแลการรักษาการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๘) สำนักงานตรวจสอบภายใน มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ
สำนักงานตรวจสอบภายในและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในหน่วยงานต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดที่กำหนดให้เป็น
หน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน รวมทั้งมีสิทธิและอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล เอกสาร และหลักฐานต่างๆ ตลอดจนบุคลากรและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน

(ค) ให้คำปรึกษาต่อผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รายงานผลการตรวจสอบและให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ประเมินผล ให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไข

(ง) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๙) กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจหน้าที่ในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครอง ดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดยุทธศาสตร์ วางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำและเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานตำรวจหรือหน่วยงานอื่นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย และการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลสำคัญ ประชาชน ตลอดจนการให้บริการช่วยเหลือประชาชน

(จ) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญา

(ฉ) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(ช) ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย

(ซ) ดำเนินการเกี่ยวกับการจราจร

(ฌ) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชนตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละพื้นที่

(ญ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๑๐) - (๑๘) ตำรวจภูธรภาค ๑-๙ มีอำนาจหน้าที่ในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครอง ดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดยุทธศาสตร์ วางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำและเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจภูธรภาคและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานตำรวจหรือหน่วยงานอื่นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

(ง) ควบคุม ตรวจสอบ และแนะนำข้าราชการตำรวจที่สังกัดหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนให้มีอำนาจยับยั้งการกระทำใดๆ ของข้าราชการตำรวจที่สังกัดหน่วยงานอื่นในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ชั่วคราว แล้วรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย และการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลสำคัญ ประชาชน ตลอดจนการให้บริการช่วยเหลือประชาชน

(ฉ) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาตามที่ได้รับมอบหมาย

(ช) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(ซ) ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย

(ฌ) ดำเนินการเกี่ยวกับการจราจร

(ญ) ดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับราชการตำรวจ

(ฎ) ดำเนินการวิเคราะห์ค้นหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การสร้างและพัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน จัดฝึกอบรมก่อนเข้ารับราชการตำรวจ และจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัด

(ฏ) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในกิจการของตำรวจ

(ฐ) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชนตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละพื้นที่
(ฑ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๑๙) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่ในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครอง ดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดยุทธศาสตร์ วางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำและเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานตำรวจหรือหน่วยงานอื่นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

(ง) ควบคุม ตรวจสอบ และแนะนำข้าราชการตำรวจที่สังกัดหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนให้มีอำนาจยับยั้งการกระทำใด ๆ ของข้าราชการตำรวจที่สังกัดหน่วยงานอื่นในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ชั่วคราว แล้วรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย และการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลสำคัญ ประชาชน ตลอดจนการให้บริการช่วยเหลือประชาชน

(ฉ) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาตามที่ได้รับมอบหมาย

(ช) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(ซ) ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย

(ฌ) ดำเนินการเกี่ยวกับการจราจร

(ญ) ดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับราชการตำรวจ

(ฎ) ดำเนินการวิเคราะห์ค้นหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การสร้างและพัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน จัดฝึกอบรมก่อนเข้ารับราชการตำรวจ และจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัด

(ฏ) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย
และรักษาความปลอดภัยในกิจการของตำรวจ

(ฐ) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษา
ความปลอดภัยของประชาชนตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละพื้นที่
(ฑ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๐) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักรหรือตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติงานทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย การให้ความปลอดภัยแก่บุคคลสำคัญและประชาชน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และการกระทำความผิดที่เป็นภัยกับความมั่นคงของประเทศ

(จ) ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

(ฉ) ควบคุม จัดการจราจร ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก และให้บริการบนทางหลวงและทางพิเศษต่างๆ

(ช) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๑) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอื่นอันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร

(ค) ดำเนินการเพื่อให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

(ง) ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั่วราชอาณาจักร

(จ) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(ฉ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๒) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับการข่าวกรองบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับงานดำเนินกรรมวิธีข่าวกรองให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ

(ฉ) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศตามอำนาจหน้าที่

(ช) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิชาการ งานมาตรฐานการข่าว และงานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในด้านการข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ซ) ดำเนินการเกี่ยวกับงานสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล

(ฌ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๓) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร
(ค) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๔) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) ปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในเขตพระราชฐานและที่ประทับ

(ง) รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ ประชาชนและความมั่นคงปลอดภัยตามแนวชายแดน

(จ) พัฒนาและช่วยเหลือประชาชนเพื่อความมั่นคงของชาติ และงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

(ฉ) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

(ช) ดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับราชการตำรวจ

(ซ) ดำเนินการวิเคราะห์ค้นหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การสร้างและพัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน จัดฝึกอบรมก่อนเข้ารับราชการตำรวจ และจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัด

(ฌ) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในกิจการของตำรวจ

(ญ) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชนตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละพื้นที่

(ฎ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๕) สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

(ค) ปฏิบัติงานตามพระราชประสงค์

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาความปลอดภัยในราชสำนัก

(จ) ปฏิบัติงานในภารกิจถวายความปลอดภัยตามที่ได้รับมอบหมายจากสมุหราชองครักษ์

(ฉ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๖) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน วิทยาการตำรวจ การตรวจสถานที่เกิดเหตุ การถ่ายรูป การทะเบียนประวัติอาชญากร การจัดเก็บสารบบลายพิมพ์นิ้วมือ และการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหาและบุคคลทั่วราชอาณาจักรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานอื่น ๆ

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับงานตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และการส่งกลับในกรณีเหตุวินาศภัยหรือเหตุพิเศษอื่น

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับงานฐานข้อมูลวัตถุระเบิด รวมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการการตรวจพิสูจน์ วิเคราะห์ เก็บกู้ และทำลายวัตถุระเบิด เฉพาะกรณีที่มีลักษณะพิเศษ

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมงานด้านพิสูจน์หลักฐาน และงานด้านวิทยาการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ฉ) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานพิสูจน์หลักฐาน และงานวิทยาการตำรวจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(ช) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๗) สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการและพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ค) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างมาตรฐานด้านคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสาร ตลอดจนฝึกอบรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่ข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายโดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๘) กองบัญชาการศึกษา มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการศึกษาและหน่วยงานในสังกัด

(ข) วางระบบและมาตรฐานการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการตำรวจให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับราชการตำรวจ

(ง) ศึกษาและเสนอแนะนโยบาย แผนงาน และงบประมาณในการพัฒนาข้าราชการตำรวจเพื่อกำหนดทิศทางและมาตรฐานเป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติ

(จ) ดำเนินการวิเคราะห์ค้นหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การสร้างและพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน และการประกันคุณภาพการศึกษา ระบบการเรียนการสอน จัดฝึกอบรมก่อนเข้ารับราชการตำรวจ และจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการและลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ฉ) ศึกษา วิเคราะห์ และส่งเสริมมาตรฐานทางวิชาการเกี่ยวกับเนื้อหาของหลักสูตร ระบบ รูปแบบ เทคนิค วิธีการเรียนการสอน และฝึกอบรมบุคลากรที่ทำหน้าที่สอนฝึกอบรม และผู้เข้ารับการศึกษาอบรม เพื่อพัฒนามาตรฐานทางด้านวิชาการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการศึกษาอบรมของหน่วยงานอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ช) ดำเนินการส่งเสริมจริยธรรมและพัฒนาคุณธรรมของข้าราชการตำรวจ

ซ) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมให้กับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยในกิจการของตำรวจ

(ฌ) ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการจัดการศึกษาและฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการและลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ญ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒๙) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

(๓๐) โรงพยาบาลตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิเคราะห์วิจัยทางการแพทย์

ง) ดำเนินการเกี่ยวกับงานนิติเวช การชันสูตรพลิกศพ การตรวจพิสูจน์และค้นคว้าหาหลักฐานซึ่งเกี่ยวกับหลักวิชาแพทย์ และนิติเวชศาสตร์ในบุคคลที่มีชีวิต ศพ เศษหรือส่วนของศพ

(จ) ผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการพยาบาลตามความจำเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ฉ) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรทางการสาธารณสุขของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน
(ช) ให้การรักษาพยาบาลข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งบุคคลในครอบครัว และประชาชน
(ซ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบ หรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการตามมาตรา ๔ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๗ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ประกาศกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการตามมาตรา ๖ ให้นำพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และประกาศที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552
กำลังโหลดความคิดเห็น