“มาร์ค” ยันความขัดแย้งไทย-เขมรแค่ทวิภาคี ไม่กระทบอาเซียน ลั่นเขมรเป็นฝ่ายก่อต้องแก้ปัญหาโดยกลับไปทบทวนตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะออกมาตรการตอบโต้มากขึ้น แต่จะไม่ให้ประชาชน 2 ฝ่ายเดือดร้อน ย้ำต้องรื้อข้อตกลงในรัฐบาลชุดก่อน เพราะเกิดประโยชน์ทับซ้อนหลังอดีตนายกฯ ไปเป็นที่ปรึกษาให้กัมพูชา ด้าน “กษิต” เผยเขมรเลิกแต่งตั้ง “นช.แม้ว” ไม่พอ ต้องเข้าใจระบบยุติธรรมไทยด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์
เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 6 พ.ย. ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยโดยผ่านระบบวีดิโอลิงก์กับสถานที่ประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงกรณีความขัดแย้งกับรัฐบาลกัมพูชาในการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยหนีคดีทุจริต เป็นที่ปรึกษา
ผู้สื่อข่าวได้ถามนายกฯ กรณีที่ทางการสิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาจะส่งผลกระทบต่ออาเซียน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ตอบว่า คงไม่กระทบ เหมือนกับที่สองประเทศได้มาร่วมประชุมกรอบความร่วมมือของญี่ปุ่นกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราก็ต่างทำหน้าที่กันไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของทวิภาคี เพราะฉะนั้นจะแก้ไขปัญหาในกรอบทวิภาคี
เมื่อถามว่า คิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า บังเอิญเราไม่ใช่ฝ่ายที่สร้างปัญหา เพราะฉะนั้นเราก็แสดงท่าทีของเราชัดเจน ผู้ก่อปัญหาก็ต้องเป็นผู้แก้ เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาต้องแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่กัมพูชาก็ต้องไปทบทวน และวันนี้กระทรวงการต่างประเทศก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาจะชัดเจนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ถ้าไม่มีการทบทวนไทยจะมีมาตรการตอบโต้จะถูกดำเนินการมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่เราวางเป็นหลักไว้ประการแรกเราไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนชาวกัมพูชา ควรจะเป็นเพื่อนบ้านและเป็นมิตรที่ดี ประการที่สองความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับคนของเราจะไม่ให้มีหรือหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด มาตรการที่เราทำ ที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการไป ก็จะมุ่งเน้นการแสดงออกในทางการทูตบวกกับประเด็นปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกัมพูชาเอง
“เช่นข้อตกลงใดๆ ก็ตามในปัจจุบันก็เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้น เนื่องจากว่าคนเคยอยู่ฝ่ายไทย ปัจจุบันไปอยู่ฝ่ายกัมพูชาแล้ว ซึ่งมีบางเรื่องที่เป็นกรอบการเจรจา ที่เริ่มต้นในสมัยที่อดีตนายกฯ เป็นนายกฯ ของไทย เพราะฉะนั้นก็จะทราบในเรื่องของจุดยืนที่มาข้อมูลของไทย แต่ปัจจุบันกับกลายเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายกัมพูชาเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องทบทวนครับ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการทบทวนข้อตกลงเอ็มโอยู ที่มีกับกัมพูชาจะมีผลพวงในเรื่องข้อกฎหมายตามมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะดูอย่างรอบคอบเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญา ก็จะดูด้วยความรอบคอบอยู่แล้ว พูดตามตรง ก็เป็นเรื่องของข้อตกลงที่ประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งไม่สบายใจอยู่แล้ว
เมื่อถามต่อว่า การเรียกทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับจะมีการพิจารณาเรื่องการส่งกลับไปใหม่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้พิจารณาว่าเราได้ส่งสัญญาณและได้แสดงออกโดยใช้วิธีการตามปกติ ทางการทูตหรือมาตรการทางการทูตบวกกับการที่จะต้องมาแก้ไขปัญหา ในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่ตนกล่าวมาว่า ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เรามีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย ประเทศไทยปกป้องศักดิ์ศรีของสถาบันหลัก เช่นกระบวนการยุติธรรม นี้คือเหตุผลที่รัฐบาลไมต้องดำเนินการไม่มีข้อตกลงอื่น อะไรที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทั่วไป โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เราไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ดูเหมือนว่าทางกัมพูชายังแสดงความแข็งกร้าว โดยการเรียกทูตกลับประเทศ แล้วจุดจบจะอยู่ตรงไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เวลานี้สถานะก็เป็นอย่างนี้อยู่ ก็ต้องดูสถานการณ์ต่อไปอย่างที่ตนเรียนก็คือว่า ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายเรา
เมื่อถามต่อว่าทราบว่าในการรับประทานอาหารค่ำได้นั่งร่วมโต๊ะกับสมเด็จฮุนเซน มีการทักทายกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บังเอิญนั่งไกลกันแล้วมีแจกันดอกไม้ขวางอยู่
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายนพดล ปัมทะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ปรึกษาทางกฏหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ได้รับแล้วหรือยัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังครับ นึกว่าใช้แต่”ทวิตเตอร์”
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรอบการเจรจาของคณะกรรมการเขตแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ที่จะเข้าสภาในวันจันทร์นี้จะต้องมีการทบทวนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อตกลงหรือกรอบการเจรจาเยอะมาก เราจะจัดลำดับความสำคัญเช่น ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเกษตรที่ รมว.เกษตร จะต้องเดินทางไปที่บรูไน ข้อตกลงการค้าในกรอบเจรจาไทย เปรู และข้อตกลงอื่นที่ค้างอยู่อีกเยอะ จะดูตามลำดับความสำคัญ ส่วนข้อตกลงไทยกัมพูชาก็ไม่ถือว่าเร่งด่วน แต่ยังอยู่ในวาระ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.อยากให้รัฐบาลตอบโต้เขมรโดยเตือนนักลงทุนในไทยและแจ้งคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อตกลงระหว่างไทยกัมพูชา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ข้อแรกได้ดำเนินการไปแล้วคือเอกอัครราชทูตก่อนเดินทางกลับได้เรียกนักลงทุนมาประชุมเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์และให้คำแนะนำ ส่วนเรื่องมรดกโลกเป็นเรื่องที่ทำต่อเนื่องอยู่แล้วและการที่เราประสบความสำเร็จในการเข้าไปเป็นกรรมการมรดกโลกคงจะช่วยให้เรามีความสามารถในการติดตามความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องในเรื่องประสาทพระวิหารได้ง่ายขึ้นและสามารถสะท้อนความเห็นไปยังคณะกรรมการมากขึ้น ส่วนการยกเลิกข้อตกลงต่างๆ นั้นยังไม่เห็นและไม่รู้ว่าหมายถึงบันทึกตัวไหน แต่ที่เราจำเป็นต้องดูในปัจจุบันคือบันทึกที่เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นในแง่สถานะของอดีตนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามนายกษิต ถึงมาตรการตอบโต้จะมีอย่างอื่นอีกหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ปัญหามันอยู่ที่ฝ่ายกัมพูขาตามที่นายกฯ ว่าไว้ว่าการที่เขาได้แต่งตั้งอดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษามีผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นไปในการเมืองไทยต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกัมพูชา เราได้แสดงออกไปสองเรื่องว่าเราไม่พอใจกับพฤติกรรมอันนี้ ภาระทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายเขาต้องพิจารณาให้ดีว่าเขาจะทำอะไรต่อไป
เมื่อถามว่ายืนยันเราได้มาตรการที่ถูกต้องตามขั้นตอนทางการทูตใช่หรือไม่ นายกษิตกล่าวยืนยันว่า ถูกต้อง ไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ประเด็นคืออย่าห่วงทางฝ่ายเรา ประเด็นคือต้องดูพฤติกรรมของฝ่ายกัมพูชาว่าเขาได้ทำอะไร เราถึงได้ทำอย่างนี้
เมื่อถามว่า มาตรการในการตอบโต้จะหยุดแค่นี้หรือมีระดับขั้นต่อไปถึงขั้นการปิดพรหมแดน นายกษิต กล่าวว่า ไม่ใช่ คงถามอย่างนั้นไม่ได้ ต้องถามว่าที่เขาได้แต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและสังคมไทยอยากให้รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรเราก็ได้ทำไปสองอย่าง
“ตราบใดที่ความสัมพันธ์หรือเงื่อนไขที่กัมพูชามีกับคุณทักษิณยังอยู่นั้น เขาต้องพิจารณาว่าที่เราได้ทำไปสองเรื่องนั้นเพียงพอที่เขาจะได้ทบทวนและตัดสินใจใหม่หรือยัง ถ้าเผื่อยังจะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ขั้นตอนและเป็นความเห็นพร้อมต้องกันในรัฐบาล” นายกษิตกล่าว
เมื่อถามว่า หากกัมพูชายกเลิกการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา ไทยจะยกเลิกมาตรการตอบโต้หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น มันต้องดูความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย มันไม่ใช่แค่เลิกอย่างเดียว ความเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไป อย่าลืมว่าที่สมเด็จฮุนเซนได้พูดเมื่อครั้งมาประชุมอาเซียนซัมมิท ได้มีคำถามและข้อสงสัยที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยและรัฐบาลรับไม่ได้ ว่าเขามีข้อสงสัยที่มาดูหมิ่นดูแคลนเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตความเที่ยงตรงของระบบกระบวนการยุติธรรมของเราไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่ามาตรการนี้ยังจะคงอยู่ต่อไปหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นขาวเป็นดำ เป็นวิวัฒนาการดูไปตามขั้นตอน หากถามล่วงหน้าก็ตอบไม่ได้ เราได้เตรียมการไว้และจะตอบสนองไปตามเหตุการณ์ ต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลักด้วย อยากให้ทำมากน้อยแค่ไหน หรือข้อยุติเป็นที่พึงพอใจหรือกัมพูชาทำเป็นที่พึงพอใจเราก็ปรับความสัมพันธ์สู่ภาวะปกติคืบหน้ากันได้ มีเรื่องอื่นที่ต้องทำหลายสิบเรื่อง
ระหว่างนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานะในขณะนี้เราได้แสดงออกถึงท่าทีของเราด้วยวิธีการทางการทูต ประเด็นที่เรามี 2 หน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยเฉพาะหากมีข้อตกลงซึ่งขณะนี้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบด้วยมีคนที่เคยอยู่กับเราไปเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายเขา อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนไทยเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ที่เหลือยังไม่มีการดำเนินการอะไร เพราะในส่วนของการค้าชายแดนก็เป็นไปตามปกติ การไปมาหาสู่ การอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนบ้านก็ปกติไม่มีแนวคิดที่จะทำให้เกิดเงื่อนไขความรุนแรงหรืออะไรทั้งสิ้น
เมื่อถามว่าเรามีความหวังมากน้อยแค่ไหน หลังจากออกมาตรการไปแล้วกัมพูชาจะทบทวน หากเขาไม่ทบทวนระยะเวลาทอดยาวออกไปจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องประเมินไปอย่างที่ รมว.ต่างประเทศพูด เรื่องนี้จะมีพลวัตความเปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการของมันเอง ไม่มีใครตอบได้แต่ยืนยันได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นจะยึดถึงผลประโยชน์ประเทศไทย สถาบันของไทยอย่างดีที่สุด และจะหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุดไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประชาชนระหว่างสองประเทศเพราะปัญหาเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากผู้สื่อข่าวหมดคำถามนายกฯ ถึงกับหลุดออกมาว่า “หมดคำถามแล้วเหรอ นึกว่าจะถามเรื่องตำรวจ”