xs
xsm
sm
md
lg

วาระซ่อนเร้นของซีพี กับกฎหมายค้าปลีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับยักษ์ใหญ่อย่าง ซีพี. ที่ความเคลื่อนไหวแต่ละอย่าง จะต้องถูกจับตามองว่า จะต้องมีเป้าหมายที่แฝงเร้น ซ่อนอยู่หลังวัตถุประสงค์ที่ประกาศโดยเปิดเผย

อย่างเช่น ความเคลื่อนไหวล่าสุดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ บริษัท ซีพี ออลล์ เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น ผลักดันการจัดตั้ง สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ขึ้นมา โดยมีนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ เป็นนายกสมาคม โดยมีสมาชิก 20 กว่าราย เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ตั้งฮั่วเส็ง ช้อยส์มินิมาร์ท โฮมโปร เป็นต้น

สมาคมนี้ ชูเรื่อง ความเป็นไทย นำหน้า โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกไทยด้วยกัน ให้มีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับค้าปลีกต่างชาติได้

ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยที่โชว์ห่วยไทยต้องทยอยล้มหายตายจากไป ไม่ใช่เพราะว่า ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับ ค้าปลีกต่างชาติเท่านั้น แต่ธุรกิจค้าปลีกสัญชาติไทย ที่มีขนาดใหญ่ และเป็นค้าปลีกสมัยใหม่ อย่าง เซเว่น -เอเลฟเว่น หรือ ซุปเปอร์ สปอร์ต , พาวเวอร์ บาย ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ร้านค้าปลีกเล็กๆ ต้องสูญพันธ์ไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าต้องการช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกไทยจริง ก็ต้องทำให้มีความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันกับค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งที่เป็นต่างชาติ และที่เป็นของคนไทยด้วย ไม่ใช่ให้แข่งขันกับค้าปลีกต่างชาติได้เท่านั้น

สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทยนี้ จดทะเบียนตั้งขึ้นมาได้ 7 เดือนแล้ว แต่เพิ่งจะประกาศตัวในตอนนี้ บังเอิญตรงกับช่วง ที่ กระทรวงพาณิชย์ กำลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำประชาพิจารณ์ครบ 9 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายมีขึ้นที่หาดใหญ่ เมื่อวานนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและประชุมร่วมกับสมาคมผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย. ก่อนจะสรุปรายงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 พ.ย.

การเปิดตัวสมาคมพัฒนาผู้ประกอบภาระกิจค้าปลีกทุนไทยในช่วงนี้ จึงมีข้อสังเกตว่า เพื่อเป็นช่องทางให้เซเว่น -เอเลฟเว่น มีบทบาทในการผลักดัน ร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับตน ซึ่งการพูดในฐานะ สมาคม ที่เป็นตัวแทนค้าปลีกสัญชาติไทย ย่อมดูดี มีความชอบธรรมกว่า การพูดในนามเซเว่น-เอเลฟเว่น

สาระสำคัญในร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่งประการหนึ่งคือ การกำหนดลักษณะธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งที่ต้องขออนุญาตพิเศษ ต่ออธิบดีกรมการค้าภายในหรือผู้ว่าราชขการจังหวัด คือ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าล่งที่มีพื้นที่ขายเกิน 1,000 ตารางเมตร , ร้านสะดวกซื้อที่มียอดขายรวมในปีที่ผ่านมาเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต

เซเว่น-เอเลฟเว่นตกอยู่ในประเภทร้านสะดวกซื้อที่มียอดขายรวมเกิน 1,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องขออนุญาตเป็นพิเศษ

หัวใจสำคัญของ ร่างกฏหมายฉบับนี้คือ คณะกรรมการการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง หรือ กกค. ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และจัดทำแผนการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง กกค. จึงเป็นเหมือนผู้กำหนดอนาคตของธุรกิจค้าปลีกว่า จะให้เดินไปในทิศทางไหน จะให้ค้าปลีกต่างชาติ เปิดสาขาตรงไหนได้บ้าง หรือ จะให้สิทธิพิเศษแก่ค้าปลีกสัญชาติไทยไหม ก็ขึ้นอยู่กับ กกค. ชุดนี้

องค์ประกอบ ของ กกค. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน นอกจากมีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากส่วนราชการแล้ว ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ กรรมการที่มาจาก ผู้แทนสถาบันหรือองค์กรเอกชน จำนวนห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ใน การคุ้มครองผู้บริโภค แห่งละหนึ่งคน และผู้แทนสมาคมการค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง จำนวนสองคน

ถ้าเซเว่น -เอเลฟเว่น อ้างสิทธิในฐานะนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการค้าปลีกทุนไทย ส่งคนเข้าไปเป็นผู้แทนสมาคมการค้า ที่มีโควต้าอยู่ 2 คน ใน กกค. ก็เป็นสิทธิที่สามารถอ้างได้ เพราะเป็นไปข้อกำหนดในกฎหมาย เท่ากับว่า มีคนของตัวเอง คอยเป็นหูเป็นตา หรือช่วยผลักดันนโยบายด้านค้าปลีกให้ไปในแนวทางที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของตน

วัตถุประสงค์สำคัญของการตั้งสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ก็น่าจะอยู่ตรงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น