xs
xsm
sm
md
lg

20 ค้าปลีก-แฟรนไชส์ จับมือ ม.ศรีปทุม สร้างบุคลากรคุณภาพป้อนภาคธุรกิจทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟรนไชส์ จับมือ ม.ศรีปทุม สร้างบุคลากรคุณภาพป้อนภาคธุรกิจทั้งระบบ เผยค้าปลีกและแฟรนไชส์ไทยโตสวนกระแสเศรษฐกิจ เชื่อมั่นสร้างฐานรากเศรษฐกิจแบบยั่งยืนในอนาคต

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง- ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีก และแฟรนไชส์ของประเทศไทย ช่วงปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากระบบเดิมมาก โดยเฉพาะการนำไฮเทคโนโลยีและระบบการบริหารจัดการด้านค้าปลีก-แฟรนไชส์ เข้ามาวางแผนและปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าให้ทันสมัยตอบสนองความต้องการของชีวิตในเมืองของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าการเติบโตการค้าปลีกที่เป็นระบบได้ขยายสาขา มีปริมาณร้านค้าทั่วประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี

ธุรกิจค้าปลีกไทยนับเป็นแฟรนไชส์อันดับต้นๆ ที่ได้รับความสนใจจากแฟรนไชซี และมีอัตราการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2552 มีมูลค่าทางธุรกิจอยู่ที่ประมาณสองล้านล้านบาท

ธุรกิจค้าปลีก-แฟรนไชส์ ไทยได้พัฒนารูปแบบและมีการขยายพื้นที่มากขึ้น ยิ่งในตัวเมืองหลักจะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เกิดการสร้างศูนย์การค้า การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติ อาทิ กลุ่มเซ็ลทรัล เทสโก้โลตัส บิ๊กซี และร้านสะดวกซื้อจำนวนมาก ทำให้เกิดรูปแบบการค้าที่หลากหลายทุกระดับ ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายของคนเมืองที่ต้องการความพึงพอใจและความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ปัจจุบันบุคลากรที่มีความรู้เรื่องระบบค้าปลีก แฟรนไชส์ ของไทยยังมีน้อยมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกรายใหญ่ กลุ่มโมเดิร์นเทรด และผู้ประกอบการรายย่อยต่างประสบปัญหาพอสมควร จึงเป็นเรื่องดีที่ทางม.ศรีปทุมจัดหลักสูตรนี้ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ

“เชื่อว่าหลักสูตรนี้จะสามารถตอบโจทย์การยกระดับธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ในประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะสถาบันการศึกษาถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญ นอกเหนือจากภาครัฐและภาคธุรกิจที่จะผลักดันให้การพัฒนาธุรกิจค่าปลีกและแฟรนไชส์ในประเทศให้เติบโต เพราะที่ผ่านมาการขาดแคลนบุคลากรและองค์ความรู้ด้านธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์นี่เองที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและ แฟรนไชส์ในไทยไม่สามารถเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร” นายกสมาคมฯกล่าว

ดร.สุนันทา ไชยสระแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว มหาวิทยาลัยศรีปทุม เล็งเห็นศักยภาพโอกาสการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ในไทย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทางจึงเปิดหลักสูตร การจัดการธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ ครั้งแรกในเมืองไทย ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพื่อสร้างบุคลากรสาขาค้าปลีกและแฟรนไชส์ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจของไทย

“เพราะธุรกิจค้าปลีกถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นภาคธุรกิจที่สร้างงานสร้างเงินนับหมื่นนับแสนล้านบาทต่อปี และเป็นดัชนีสำคัญที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ หลักสูตรเน้นการให้ความรู้เรื่องทฤษฎีไปพร้อมกับการปฏิบัติงานในสถานประกอบการจริง ซึ่งหลักสูตรได้ออกแบบให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้เป็น “นักบริหารและผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์มืออาชีพรุ่นใหม่” ผ่านการเรียนการสอนที่ทันสมัย สมบูรณ์แบบได้มาตรฐานสากล สามารถทำงานในองค์กรค้าปลีกและแฟรนไชส์ได้อย่างหลากหลาย” ดร.สุนันทา กล่าวและว่า สำหรับการเปิดรับสมัครทั้งสองหลักสูตรเปิดตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 ศกนี้

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการรายใหญ่ในไทยกว่า 20 ราย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจและความร่วมมือเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ กับ ม.ศรีปทุม ซึ่งตัวแทนผู้ประกอบการต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นด้วยกับทาง ม.ศรีปทุม ที่จัดหลักสูตรนี้ เพราะว่าภาคธุรกิจตอนนี้ปัญหาหลักคือเรื่องขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เฉพาะทางระบบค้าปลีกและแฟรนไชส์ ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการต้องเสียเวลาในการฝึกอบรม สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ธุรกิจไม่คล่องตัว เติบโตล่าช้า ซึ่งจริงๆแล้วภาคค้าปลีกและแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าและความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในการนี้ผู้ประกอบการพร้อมที่จะเป็นศูนย์ฝึกงานให้แก่นักศึกษาหลักสูตรดังกล่าวเต็มที่

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริหารจาก บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด (Black Canyon) บริษัท โชคดี อินเตอร์เนชั่นแนลแฟรนไชส์ จำกัด (โชคดีติ่มซำ) บริษัท กิฟฟารีน สกายไลนส์ ยูนิตี้ จำกัด (กิฟฟารีน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (Siam Macro) บริษัท โมนา โพลิแตนท์ จำกัด (Cosmeda) บริษัท คาร์แลค (ไทย-เยอรมัน) จำกัด (Moly Care) บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด (EZ’S) บริษัท สมาร์ทอิงลิช จำกัด (Smart English) บริษัท เดอะคอฟฟี่เมคเกอร์ จำกัด (The coffee maker) บริษัท ที อาร์ โปรดักส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Wizard Auto Care) บริษัท วินเซนท์ เซ็นเตอร์เซอวิส กรุ๊ป จำกัด (Win-sent) บริษัท เพลย์ แอนด์ เลอน จำกัด (Kido) บริษัท วราภรณ์ สมพงษ์ ฟู้ดส์ จำกัด (วราภรณ์ ซาลาเปา) บริษัท เค เอส กรุ๊ป (KS Group )

****ข้อมูลจาก www.smethailandclub.com****
กำลังโหลดความคิดเห็น