xs
xsm
sm
md
lg

“เทือก” สอนมวย “ไอ้ตู่” ไม่ใช่ผู้เสียหายคดีบีบีซี จะให้ไปร้องทุกข์ใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จตุพร พรหมพันธุ์
“จตุพร” ตั้งกระทู้ถาม “เทพเทือก” ร่วมกันขึงพืด “บรรหาร” กลางสภา ข้อหาร่วมมือ “ราเกซ” ยักยอกแบงก์บีบีซี ปั่นหัวพรรคร่วม แฉได้ประโยชน์หลังแบงก์ล้ม 65 ล้าน ด้าน “เทพเทือก” สอนมวยทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้าน ไม่มีหน้าที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย โบ้ยเป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



วันนี้ (5 พ.ย.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กระทู้สดถามนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เรื่องสอบถามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้สร้างความเสียหายแก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ว่า การล้มของธนาคากรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) จำกัด (มหาชน) ในปี 2538-2540 มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายยังอยู่กันครบถ้วน และผู้ที่ถูกกล่าวหาและพวกที่กล่าวหากลายเป็นพวกเดียวกัน โดยนายสุเทพเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2539 ว่า นายบรรหารละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ผิดประมวลกฎหมายมาตรา 148 เพราะหาทรัพย์สินประโยชน์อื่นใด จึงถามว่า ขณะที่ นายสุเทพ และพวกทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ได้นำพยานเอกสารและบันทึกข้อเท็จจริงนายราเกซ 15 หน้า ที่พบว่าทำผิด แล้ววันนี้นายสุเทพเป็นรองนายกฯ และกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วยังยืนยันในหลักฐานเรื่องเช็คธนาคารแหลมทองจำนวน 20 ล้านบาทหรือไม่ แล้วทำไมนายสุเทพไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ และดำเนินคดีในพยานหลักฐานที่มี เมื่อนายสุเทพรับผิดชอบโดยตรง แล้วนายสุเทพมีความคิดที่จะดำเนินคดีกับนายบรรหารหรือไม่ แล้วนายสุเทพยังยืนยันสิ่งที่เคยอภิปรายไว้หรือไม่

นายสุเทพชี้แจงว่า ตนได้ทำหน้าที่ ส.ส.ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลครบถ้วนกระบวนความ และรวบรวมเอกสารเท่าที่ทำได้ ว่าเพราะเหตุใดไม่ไว้วางใจ ครม.ในขณะนั้น และเมื่ออภิปรายเสร็จสิ้นก็ยื่นเอกสารหลักฐานให้ประธานสภา ตนไม่มีหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่ตนอภิปรายใดๆ ทั้งสิ้น คนที่ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษ คือ ผู้เสียหาย และกรณีนี้คนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีธนาคารบีบีซี คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารบีบีซีก็ไปร้องทุกข์ เพราะเป็นผู้เสียหาย ส่วนเอกสารก็หาได้ที่สภา ส่วนตนก็มีสำเนาอยู่แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร

นายจตุพรกล่าวต่อว่า นายสุเทพได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า ได้มีการนำเงินนายราเกซมาใช้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2538 โดยก่อนการเลือกตั้ง ระดับแกนนำพรรคชาติไทย 4-5 คน บอกว่าสงสัยจะแพ้พรรคประชาธิปัตย์ และต้องเอาชนะให้ได้ ไม่ต้องสนใจวิธีการต้องเอาชนะมาให้ได้ และตั้งเป้าว่าจังหวัดไหนที่จะได้ที่นั่ง และประเมินว่า จังหวัดไหนที่ต้องแย่งพื้นที่จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ประเมินว่าต้องใช้เงิน 250-300 ล้าน แล้วเอาเงินที่ไหนก็ต้องเอามาจากนายราเกซ โดยใช้ธนาคารบีบีซีมาหมุนเงิน ซึ่งนายสุเทพยังบอกต่อว่าได้ต้นขั้วเช็ค 75 ล้านบาท และเห็นต้นตอการฟอกเงิน จึงถามว่า เมื่อนายสุเทพได้อภิปรายระบุข้อเท็จจริงว่า นายบรรหาร กระทำความผิดตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2524 ในขณะนั้น ในฐานรับเงินจากผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องจำคุก 2-10 ปี ซึ่งหมดอายุความในปี พ.ศ.2553 และเมื่อนายสุเทพยืนยันเองว่านายราเกซเป็นชาวต่างชาติ เป็นประชาชนประเทศอินเดีย จึงถามว่า เมื่อนายสุเทพและพวกเตรียมได้นำหลักฐานเช็คต้นขั้วเรียกเงิน 75 ล้านของพรรคชาติไทย ซึ่งนายสุเทพยังยืนยันหลักฐานนี้หรือไม่ และในขณะที่นายราเกซได้ถูกจับคุมตัวนำตัวมายังประเทศไทย เหตุใดนายสุเทพไม่นำเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษเข้าสู่กระบวนการทางอาญา เพื่อจำคุกนายบรรหารและพรรคพวก ทั้งที่เคยพูดในการอภิปรายว่าหากให้นายสุเทพ เป็น รมว.มหาดไทย 2 เดือน จะจับนายบรรหารให้ดู

นายสุเทพชี้แจงว่า ตอนอภิปรายจบได้นำพยานหลักฐานส่งให้ประธานสภาแล้ว ส่วนทำไมตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษนายราเกซ ในความคิดของตนได้ปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.แล้ว ที่มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร สมัยนั้นยังไม่มีองค์กรอิสระเหมือนสมัยนี้ ไม่มี กกต.ถ้ามีตนคงทำเหมือนยื่นเรื่องยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนอย่างที่ทำมา ส่วนเรื่องนี้ใครผิดใครถูก เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องดำเนินการเมืองมีคนร้องทุกข์

นายจตุพรกล่าวต่อว่า การที่ นายสุเทพ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหารมีหลายประเด็นและนำสู่การล้มลงของรัฐบาลนายบรรหาร ต่อมาก็เกิดรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ แล้วสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษ แล้วนายสุเทพก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย แต่สุดท้ายเมื่อธนาคารบีบีซีล้มลง นายสุเทพไปหาประโยชน์ในการล้มเสียเอง โดยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2540 นายสุเทพได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิ้นก่อนเข้าตำแหน่งรมว.คมนาคมในช่วงรัฐบาลชวน 2 ว่า เป็นหนี้ 3 ธนาคารเป็นเงิน 65 ล้านบาท แต่เมื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอีกครั้งเมื่อ 14 ก.พ.2544 หนี้สิ้นดังกล่าวกลับหายไป ทั้งที่ ไม่มีรายได้อื่นๆนอกจากรายได้ที่ได้จากตำแหน่งและ ส.ส.แค่ปีละ 1.2 ล้าน

นายจตุพรกล่าวว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสุเทพและพวกยืนยันว่าเงิน 385 ล้านเศษเป็นหนี้ของผู้บริหารพรรคชาติไทย โดยหนี้ปี 2538 ระบุว่า นายราเกซต้องส่งดอกเบี้ยเงินกู้ สัญญาทั้ง 3 รายการ แต่ภายหลังจากที่นายราเกซหนีออกนอกประเทศหนี้ค้างชำระมาตลอด และมีคนในพรรคชาติไทยโทรศัพท์ไปบอกให้นายราเกซให้มาชำระดอกเบี้ยเงินกู้ สุดท้ายจึงกลายเป็นหนี้เน่า ทำไมนายสุเทพไม่นำพยานหลักฐานเข้าสู่กระบวนการการยุติธรรม และจับกุมนายบรรหาร และเคยบอกว่าหากเป็น รมว.มหาดไทย จะจับนายบรรหารภายใน 2 เดือนแล้วทำไมพอนายสุเทพเป็นรองนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ดำเนินการ และเมื่อเข้ามาเป็น รมต.ก็ไปกระทำผิดเสียเอง โดยเสกหนี้ให้หายวับภายใน 3 ปี 3 เดือน ทั้งที่มีรายได้คิดแล้วแค่ 3 ล้านกว่าบาท

นายสุเทพชี้แจงว่า ตนรับผิดชอบในคำอภิปรายที่บันทึกไว้ เอกสารหลักฐานที่บันทึกไว้ก็ได้ส่งไปให้ประธานสภาฯ แล้ว ตำรวจก็มาขอหลักฐานและคำอภิปรายตามขั้นตอนแล้ว ส่วนมีการอภิปรายที่พาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ว่าการอภิปรายของตนทำให้รัฐบาลนายบรรหารล้ม และรัฐบาล พล.อ.ชวลิตขึ้นมาแล้วต้องล้มเพราะพรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธีพิเศษนั้นไม่ถูกต้อง เพราะรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ล้มเพราะไปลดค่าเงินบาท และถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วท่านก็ลาออกเสียเอง และพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเอกสารหลักฐานที่ไม่นำจับกุมนายบรรหาร เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ และหากนายราเกซซักทอดใคร เจ้าหน้าที่ก็สามารถตั้งต้นคดีใหม่ได้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ




กำลังโหลดความคิดเห็น