“มาร์ค” เตรียมแจงญี่ปุ่นกรณีมาบตาพุด รวมถึงเรื่องการชักจูงนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น เข้ามาร่วมลงทุนในไทย พร้อมติดตามโครงการแลกเปลี่ยนนักการเมือง 2 ประเทศ หลังญี่ปุ่นเสนอโครงการมา
วันนี้ (3 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำลุ่มนำโขง กับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย.นี้ ว่า นายกรัฐมนตรีจะออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 22.00 น.โดยเที่ยวบินพิเศษของกองทัพอากาศ แอร์บัส 319 เที่ยวบินที่ RTAF 201 และเดินทางถึงกรุงโตเกียว ในเวลา 06.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น
นายปณิธานกล่าวต่อว่า กรอบการเจรจาที่นายกรัฐมนตรีจะนำไปหารือนั้น จะมีเรื่องการรายงานสถานภาพของการเมืองไทยให้ทางญี่ปุ่นทราบ รวมถึงขอบคุณที่ญี่ปุ่นเสนอให้มีการตั้งกลุ่มมิตรภาพที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นของนักการเมือง 2 ประเทศ ที่ขณะนี้ทางไทยจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยมี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ประสานงาน เพราะเรื่องดังกล่าวนั้นทางญี่ปุ่นเองเป็นผู้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักการเมืองของ 2 ประเทศ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคก็จะมีการพูดถึงเรื่องอาเซียน เพราะไทยเป็นประธานอาเซียน โดยไทยจะรายงานเรื่องการจัดทำแผนต่างๆ ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของอาเซียน ที่ทางญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้น ทางญี่ปุ่นอาจจะมีการถามเรื่องใหม่ๆ อย่างเช่น เรื่องการรวมกลุ่ม EAC (East Asia Community) ที่ออสเตรเลียเสนอมานั้น ก็จะมีการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองนั้นท่านมีแนวคิด ว่าควรจะเป็นการร่วมมือแบบเปิด การร่วมมือที่ควรจะเดินไปด้วยกันประสานสอดคล้องกันได้ โดยที่ไม่ขัดแย้งกัน โดยในรายละเอียดจะมีการศึกษา
นายปณิธานกล่าวว่า ทางไทยอาจจะมีการสอบถามเกี่ยวกับนโยบายใหม่ หรือภราดรภาพ ของญี่ปุ่นที่ผลักดันให้มีการสมดุล คือ หลังจากเกิดวิกฤตขึ้นกับหลายประเทศแล้ว ทุกคนพูดถึงเรื่องรูปแบบของพัฒนา ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างก็เสนอ ตรงนี้ทางไทยจะสอบถามว่า เรื่องที่ญี่ปุ่นเสนอนั้นเป็นรูปแบบ แบบไหน แต่เท่าที่ฟังดู เหมือนเป็นการพัฒนาแบบพอเพียง ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นพยายามที่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดการบริหารน้ำ บริการทรัพยากรในลุ่มน้ำโขง อย่างไรก็ตาม ประเทศอาจจะมีการเสนอเรื่องความเป็นหนึ่งในศูนย์กลางในเรื่อง การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและทักษะต่างๆ ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม) โดยใช้สถาบันการศึกษาของไทยที่เข้มแข็งช่วยประสาน และตรงนี้ต้องฟังทางญี่ปุ่นว่าจะตอบรับมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
นายปณิธานกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีจะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการมาบตาพุด โดยจะบอกว่า ทางไทยนั้นได้เดินหน้าแก้ไขปัญหา ในเรื่องของการวางแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 รวมถึงเรื่องการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเข้ามาช่วยดูใน 76 โครงการด้วย รวมถึงเรื่องการชักจูงนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในไทยอีก