“น้องเดียว” ยังใสซื่อ มองโลกในแง่ดี “จิ๋ว” ลงใต้ เพื่อติดตามผลงานฝ่ายค้าน แค่กระซิบเตือนเบาๆ อย่าไปสร้างวีรกรรมเหมือนครั้งที่ไปเขมรอีก ไม่เช่นนั้นยุ่งแน่ ชี้หากลงพื้นที่แล้วมีการบิดเบือนข้อมูล ต้องชี้แจงประชาชน เผย รบ.ล่องใต้ครั้งที่ผ่านมา นักธุรกิจเอกชนเสนอโครงการเพียบ นายกฯ รับมาพิจารณา ไม่มีความหนักใจอะไร
วันนี้ (2 พ.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ว่า ถ้า พล.อ.ชวลิต ลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อช่วยกันเสนอแนะเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าลงไปแล้วมีผลกลับมาเหมือนครั้งที่ไปกัมพูชาก็จะยุ่ง ตนคิดว่าสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านก็ทำงานในด้านการเสนอความคิดที่ดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่ พล.อ.ชวลิต เดินทางลงพื้นที่ต้องรอดูด้วยว่าจะลงไปทำอะไร
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่า พล.อ.ชวลิต ไปใต้แล้วจะลงไปให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับชาวบ้าน แล้วอาจจะเกิดปัญหา นายสาทิตย์กล่าวว่า ตนกลับมองว่าการลงไปพื้นที่ของ พล.อ.ชวลิต เป็นเรื่องการลงไปติดตามผลงานในฐานะที่เป็นตัวแทนของฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ส่วนการให้ข้อมูลต่างๆ ถ้าเกิดมีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแน่นอนย่อมเกิดผลกระทบ โดยก็ต้องชี้แจง แต่คิดว่าอยู่ที่ความรับผิดชอบของคนที่ลงไปด้วย ดังนั้น ตนจึงไม่ห่วง กลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ
“หลายคนก็กังวล เพราะ พล.อ.ชวลิต บางทีท่านพูดไปแล้ว บางทีตีความได้หลายนัยยะ นั่นคือประเด็น แต่คงอยู่กับทีมงานท่านที่ตัดสินใจจะทำอย่างไร เพราะท่านไปในฐานะที่เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย” นายสาทิตย์กล่าว
นายสาทิตย์ยังได้กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา ที่ผ่านมาของรัฐบาลว่า เป็นการไปรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อเสนอดีๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้มีความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องกฎหมาย ศอ.บต. กับแผนงานงบประมาณในการบริหารงานจังหวัดภาคใต้ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็รับฟังทั้งหมด โดยไม่มีความหนักใจ
นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า กับข้อเสนอของทุกภาคส่วนที่ลงไปพบนั้น เป็นเรื่องทีทางรัฐบาลสนใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนของนักลงุทน มีประเด็นเรื่องผู้ประกอบการที่ขอเรื่อง ซอฟท์โลน (กองทุนพยุงค่าเงิน) โดยนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจไปแล้ว ว่าเรื่องซอฟท์โลนนั้นติดขัดปัญหาอะไร และควรมีทางแก้อย่างไร
เมื่อถามว่า ในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจของนักลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ทางรัฐบาล ก็มีคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว จะช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นายสาทิตย์กล่าวว่า ตรงนี้ทางเอกชนเอง ก็มีการประสานกับคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องที่ร้องเรียนผ่านมาทางนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งหลังจากนี้ ต้องมีการหารือกัน เพราะบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับกฏหมาย ดังนั้น บางเรื่องนายกรัฐมนตรี ก็รับและเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่