“อภิสิทธิ์” ปาฐกถา 23 ปี กรุงเทพธุรกิจ รับ ศก.ไทยผูก ศก.โลก ยันมองทิศทางพัฒนาไกลไป 1 ปี วอนนักธุรกิจเตรียมรับการแข่งขันและโอกาสความก้าวหน้า ระบุ ปัญหาการเมืองยังรุนแรงจนลามกระทบ ศก.ยกตัวอย่างกรณีรถไฟไม่ขอฟันธงว่าใครผิด ลั่นไม่ยอมเสียสมาธิจากปัญหาการเมือง มุ่งหน้าบริหารประเทศ
วันนี้ (29 ต.ค. ) เมื่อเวลา 10.00 น.ณ ห้องคริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Tomorrow ประเทศไทย 2553 “คิดเพื่อประเทศไทยวันพรุ่ง” ในโอกาสครบรอบ 23 ปีของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า รัฐบาลตั้งใจจะกำหนดทิศทางของประเทศโดยมองไกลกว่า 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยผูกกับเศรษฐกิจของโลก จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือการแข่งขันที่จะมีขึ้น ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำมีเป้าหมายชัดเจนว่า อีก 6 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของอาเซียนจะเป็นประชาคม หรือเป็นตลาดเดียว จึงฝากถึงภาคธุรกิจเอกชนให้เตรียมพร้อมกับการแข่งขันและโอกาสที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยจะต้องพัฒนาฐานการผลิตเพื่อการแข่งขันในตลาด โดยรัฐบาลได้เตรียมตัวเพื่อการแข่งขันในอนาคตไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ประชาชนทุกคนในประเทศก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย และจากนี้รัฐบาลจะทำความเข้าใจให้ประชาชนพร้อมรับการเปลี่ยนจากนโนบายประชานิยมไปสู่รัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ประชาชนควรจะได้รับเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ภายใต้การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจที่คิดเพื่ออนาคต ต้องยอมรับว่าการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมืองก็ต้องมีการแก้ไขเช่นเดียวกัน แน่นอนว่า วันนี้ เรายังมีความทุกข์อยู่กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทางการเมืองในสังคมของเรา ซึ่งคำว่า “สามัคคี สมานฉันท์ และปรองดอง” ก็เป็นคำพูดที่ทุกคนต้องการจะเห็น แต่น้อยคนที่สามารถเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมได้ โดยสิ่งที่ยืนยันได้คือว่าสังคมเรามาถึงจุดที่ต้องยอมรับถึงความหลากหลาย เลิกฝันว่าจะให้ความหลากหลายนี้หมดไป ต้องคิดว่าจะอยู่กับความหลากหลายได้อย่างไร เพราะเรื่องกระบวนการการปรองดองสมานฉันท์ หรือการสร้างความสามัคคีไม่มียาวิเศษ หรืออะไรที่บอกว่ารัฐบาลหรือใครทำตรงนี้แล้วความปรองดองเกิดขึ้น แต่เราต้องทำให้สังคมผ่านกระบวนการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงนี้ โดยเข้าใจในที่สุดว่าการยอมรับกติกาคือสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราทำให้ทุกคนเคารพกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเราไม่สามารถสร้างความพอใจให้ทุกคนได้ แต่สามารถสร้างระบบที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ตลอดไป
“ช่วงนี้ต้องอดทน ช่วงนี้บางทีต้องฝืนใจบางคนบางกลุ่ม เพื่อให้สังคมใช้คำว่าบรรลุนิติภาวะ ในเรื่องของการจัดการกับความขัดแย้งและความหลากหลาย ซึ่งมันรุนแรงอย่างที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน ผมยืนยันทำตามแนวทางนี้ครับ เพราะผมรู้ว่าถ้าทำอะไรเพียงเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพอใจเฉพาะหน้า เพื่อลดปัญหาเฉพาะหน้า มีแต่จะทำให้สังคมในวันข้างหน้าผิดเพี้ยน มีความขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถทำตรงนี้ได้สำเร็จ ความเชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้น ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานทางด้านธุรกิจ หรือการบริหารเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้ยาก ผมยืนยันครับว่าปัญหาการเมืองเป็นปัญหาที่รัฐบาลมีหน้าที่แก้ไข แต่เราไม่ให้เรื่องการเมืองมาทำลายสมาธิในการเดินหน้าบริหารเศรษฐกิจ ทั้งที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการฟื้นจากวิกฤต หรือในแง่ของการวางแนวทางโครงสร้างต่างๆ การแก้ปัญหาทั้งการเมืองและเศรษฐกิจควบคู่ไปนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็เกิดขึ้นในทุกสังคม แต่เราก็ต้องวางน้ำหนักให้ถูก แล้วเดินหน้าทำงาน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและความอดทน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงรูปธรรมของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีของรถไฟ ว่า แนวคิดแนวการแก้ปัญหาของรัฐบาลมีประเด็นที่ว่ารถไฟจะต้องมีการปรับปรุงปฏิรูปใหม่ โดยทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสหภาพถึงเวลาที่ต้องยอมรับว่าต้องทำ และถ้าทำแล้วบอกว่าจะต้องตามใจฝ่ายบริหารหรือฝ่ายสหภาพก็จะทำให้ปฏิรูปไม่ได้ แต่ไม่ว่าใครจะมีความคิดว่าปฏิรูปในทิศทางใด ก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่เอาประชาชนเป็นตัวประกันแล้วสร้างความเดือดร้อน
“ผมไม่ขอบอกว่าฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายสหภาพใครเป็นฝ่ายผิด เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องมีกลไกตรวจสอบดำเนินการต่อไป แต่สิ่งที่ผมยืนยันก็คือว่าผมต้องทำทุกวิถีทางให้บริการประชาชนกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งผมเข้าใจว่าวันนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้ นั่นคือ อันดับแรก และต้องเป็นการทำโดยไม่ไปเสียหลักการ ว่าจะต้องไปยอมโอนอ่อนผ่อนตามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น เมื่อบริการเดินตามปกติซึ่งผมเข้าใจว่าเดินแล้วในวันนี้ ผมจะเชิญทุกฝ่ายมาคุยอีกทีว่า แต่ละฝ่ายมีข้อเรียกร้องอะไร ไม่ได้เป็นเรื่องเอาชนะคะคานกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ในหลายสิ่งที่คิดสิ่งทำที่ได้พูดนั้นมีข้อเท็จจริงที่ต้องย้ำ 2 ข้อ คือ ข้อแรก ทุกเรื่องที่คิดทำนี้มีคนค้านมีคนเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันรายได้เกษตรกร การแก้ปัญหาที่ทำกินแบบใหม่ หรือการพยายามที่จะให้กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่มีคนค้านแน่นอนทั้งจากความคิดเห็นที่แตกต่างที่จะต้องเสนอแข่งขันกันทางความคิดต่อไป และคนที่ต้องค้าน เพราะเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรง ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม
ฉะนั้น แรงคัดค้านต่างๆ นี้จึงอยากให้สังคมได้ไตร่ตรอง และตัดสินใจว่าจะเดินไปในทิศทางเหล่านี้หรือไม่ อย่าไปคิดว่าถ้ามีปัญหา มีการคัดค้าน แปลว่าไม่ควรทำ หรืออย่าไปคิดว่าจะต้องทำไม่ว่าจะมีคนคัดค้าน แต่ขอให้ดูความจำเป็นของเนื้อหาสาระของทิศทางหลัก และสิ่งที่จะต้องทำหรือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นสำหรับสังคมของเรื่องนั้นๆ ไม่ไปคิดว่าเป็นเรื่องปัญหาระหว่างคน เป็นปัญหาการเมือง หรือเป็นปัญหาวาระแอบแฝงเรื่องนั้นเรื่องนี้ และสุดท้ายทำให้ต้องเสียเวลาไปถกเถียงในเรื่องเหล่านั้น
“สิ่งที่รัฐบาลคิด หรือสิ่งที่รัฐบาล ทุกเรื่อง ย่อมมีคนคัดค้าน มีคนเสียประโยชน์ แต่รัฐบาลมีหน้าที่ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน และสิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมด จะไม่ประสบความสำเร็จ หากรัฐบาลทำคนเดียว ดังนั้น รัฐบาลต้องความเข้าใจและแสวงหาความร่วมมือ”
ข้อที่สอง งานทั้งหมดไม่มีทางสำเร็จถ้ารัฐบาลทำเพียงลำพัง ฉะนั้น การสร้างความยอมรับ การประสานงาน การสร้างความตื่นตัว และการขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจ และแสวงความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย โดยวางกติกา สร้างแรงจูงใจ กำหนดเป็นกฎกติกาที่จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้แนวทางวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้สำหรับประเทศไทยในวันพรุ่งนี้และในอนาคตเป็นจริง
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัลองค์กรนวัตกรรมยอดเยี่ยม Thailand's Most Innovative Companies 2009 แก่องค์กรที่ได้รับรางวัล