xs
xsm
sm
md
lg

คนตุลาฯ เปิดภูมิหลัง แตกหักนักศึกษา-นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนเดือนตุลาฯ ย้อนรำลึก 36 ปีประวัติศาสตร์ 14 ต.ค. 2516 หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศปฏิวัติตัวเอง เหตุรับไม่ได้ที่สภาในขณะนั้น ท้วงติงการทำงานของรัฐบาล พร้อมกับโล๊ะรัฐธรรมนูญที่เพิ่งใช้มาได้เพียงสองปี ทำให้เสรีภาพของประชาชนถูกปิดกั้น จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวของบรรดานิสิต นักศึกษาและกลุ่มองค์กรอิสระต่างๆ



*http://www.managerradio.com/radio/DetailRadio.asp?program_no=1036&mmsID=1036/1036-0376.wma+&program_ID=26986" CLASS="innerlink" TARGET="_blank"> คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”

 
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 14 ตุลาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายธัญญา ชุนชฎาธาร กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และนายชัยวัฒน์ สุรวิชัย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองภาคประชาชนพร้อมด้วย นายเทอดภูมิ ใจดี อดีตผู้นำแรงงานและนักการเมืองอาวุโส มาร่วม ย้อนรำลึก 36 ปีประวัติศาสตร์ 14 ต.ค. 2516

นายธัญญา กล่าวถึงบรรยากาศที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ต.ค. ว่า ช่วงปี 2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตอนนั้นตนรู้สึกเบิกบานใจเพราะเห็นว่า บ้านเมืองเริ่มเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังติดที่จำกัดด้านเสรีภาพ ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้ ทำให้เกิดการเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองในกลุ่มนักศึกษา โดยแรกเริ่มเดิมทีมีเพียง 4-5 คน ต่อมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ตนได้เชิญนักการเมืองหลายคนเข้ามาพูดคุยด้วย จากนั้นคณะ ครู อาจารย์ ก็เริ่มแวะเวียนเข้ามาเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดพูดคุยกัน ทำให้เริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน ถึงขั้นทำหนังสือและเชื่อมสัมพันธ์กับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เข้ามาร่วมแสดงออกทางประชาธิปไตยพร้อมกับออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตย หลังจากนั้นต่อมาอีกสองปี จอมพลถนอม ประกาศปฏิวัติตัวเอง สั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งตอนนั้นมีนักศึกษาไปสัมมนาที่เชียงใหม่ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่นายตำรวจได้ส่งลูกน้องไปล้อมเตรียมจะจับ แต่เผอิญว่าวันนั้นมีนักข่าวต่างชาติอยู่จำนวนมาก ทำให้ตำรวจไม่กล้าจับ ตั้งแต่นั้นมาทำให้เกิดแนวคิด ว่า ต้องมีประชาธิปไตย

นายธัญญา กล่าวถึงแนวทางในการต่อสู้ ว่า เรามีการเคลื่อนไหวด้วยการประสานงานระหว่างศูนย์นิสิตกับกลุ่มอิสระ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนนักศึกษารามคำแหงถูกคัดชื่อออก เนื่องจากขุดคุ้ยการเมือง โดยมี นายธีรยุทธ บุญมี เลขาศูนย์นิสิตนักศึกษาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเคลื่อนไหว โดยในวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 มีนักศึกษาออกมาร่วมชุมนุม กดดันรัฐบาลหลายแสนคน ทำให้ ม.รามคำแหงต้องรับนักศึกษากลับเข้าเหมือนเดิม ซึ่งในวันนั้น นายธีรยุทธ ได้ประกาศสลายตัวเนื่องจากเงื่อนไขการชุมนุมจบแล้ว แต่ประชาชนจำนวนมากเห็นว่าสาเหตุเกิดจาก ไม่มีรัฐธรรมนูญ จึงต้องการรัฐธรรมนูญ นายธีรยุทธ จึงให้สัญญาต่อประชาชนว่าจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญคืนมาภายใน 6 เดือน ทุกคนจึงยอมสลายตัว

ทั้งนี้ต่อมานายธีรยุทธ พ้นจากตำแหน่งแลขา ตนก็จัดตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญขึ้น ประเดิมรวบรวมรายชื่อได้ประมาณ 100 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งอาจารย์ นักการเมือง นักศึกษาและสื่อมวลชน ในนี้มี พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร ซึ่งเป็นน้องชายของ จอมพลถนอม กิตติขจร มาร่วมลงรายชื่อด้วย จากนั้นเราได้ออกแถลงข่าววันที่ 5 ต.ค.2516 แล้ววันที่ 6 ก็ไปเดินแจกใบปลิวและถูกจับในวันนั้นจำนวน 13 คน พอเราถูกจับทำให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ เริ่มเคลื่อนไหวประท้วง โดยในตอนนั้นถูกปิดกั้นไม่ได้มีการประสานกันกับคนที่เคลื่อนไหวข้างนอกเลย ทำได้เพียงติดตามอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าช่วงนั้นสื่อมวลชน ตื่นตัวสูงมากและยืนหยัดเคียงข้างนักศึกษา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหัวเรือใหญ่ของสื่อมวลชน เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างในไทยรัฐตอนนั้นมี นายอุทรณ์ พลกุล เป็นหัวเรือใหญ่แม้กระทั่งนายกำพล วัชรพล ก็เป็นบรรพบุรุษของไทยรัฐ ที่มีจิตวิญญาณในการทำสื่อ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่รุ่นต่อๆมาช่วงหลังไม่รู้เป็นเพราะอะไรอาจจะเพียนจากเดิมไปบ้าง

นายธัญญา กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 12 ต.ค. 2516 กลุ่มนิสิตและองค์กรอิสระได้ประชุมยื่นคำขาดหากรัฐบาลไม่ปล่อยตัว 13 กบฏ พร้อมกับให้คำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จะเคลื่อนขบวนออกจาธรรมศาสตร์ ทำให้รัฐบาลตื่นตัว สร้างฉากให้มีคนมาประกันตัวพวกตน อย่างไรก็ตามเงื่อนไขการประกันตัวทางด้านนิสิตและพวกตนไม่รับ เพราะยังได้ชื่อว่าเป็นกบฏ ที่ได้รับจากการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงของ พ.ต.อ. ศิริ สุจริตกุล โดยยื่นคำขาดว่าจะต้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น

นายธัญญา กล่าวถึงกล่าวถึงวีรชนบางคนใน14 ต.ค. ได้เปลี่ยนมารับใช้ระบอบทุนสามานย์ ว่า จากเดิมเผด็จการทหาร มักก้าวเข้ามาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เค้าโครงการเมืองใหญ่ยังเป็นแบบ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอยู่ จะมีการเลือกตั้งตลอดไม่ว่าใครจะยึดอำนาจหรือรัฐประหารมักอยู่ได้ไม่นาน โดยการเลือกทุกครั้งตั้งได้มีกลุ่มทุนที่เริ่มพัฒนา เริ่มเข้ามีมีบทบาทในทางการเมือง หากินกับผลประโยชน์แบบแบ่งเปอร์เซ็นต์ ต่อมาได้เปลี่ยนอำนาจจากปากกระบอกปืนมาสู่ปากกระบอกเงิน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นทุนแบบผู้รับเหมาเล็กๆ หลังสุดได้มารวมศูนย์ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้อำนาจแทรกแซงหาผลประโยชน์เชิงนโยบาย รวมถึงการเรียกทรัพย์ก้อนใหญ่ ทั้งนี้เพื่อนตนไปรัฐมนตรีก็ถูกเรียกเงินก้อนใหญ่ อย่างไรก็ตามก็มีบ้างที่บางคนมีความรู้ความสามารถและเป็นที่รู้จักของประชาชน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเสียเงิน แต่จะได้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี จนกลายไปเป็นระบอบทุนสามานย์

ตรงนี้บางทีพรรคพวกเราที่เคยร่วมอุดมการณ์ 14 อาจจะมองไม่เห็น มองแต่ด้านดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ มากเกินไปว่า จะสามารถพัฒนาสังคมไทยให้เป็นไปในแนวทางที่ดีได้ แต่ก็มีบางคนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ทั้งเงินทอง ตำแหน่ง อาจทำให้เลื่อนลอยเปลี่ยนจุดยืนไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า ในใจลึกๆ คนเหล่านี้ยังรักความเป็นธรรมในสังคมอยู่ หากภายหน้าสังคมคลี่คลายขยายตัวขึ้น เขาอาจจะเข้าใจอะไรมากขึ้น แล้วหันมาร่วมมือกับพี่น้องประชาชนอีกครั้ง ซึ่งตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนก็ยังยินดีต้อนรับเขา

นายชัยวัฒน์ กล่าวปูพื้นก่อนเกิดเกตุการณ์ 14 ต.ค. ว่า เมื่อพ.ศ. 2500 มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ กว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกก็ปาเข้าไป พ.ศ. 2511 จนนำไปสู่การเลือกตั้ง ต่อมาวันที่ 17 พ.ย.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ปฏิวัติตัวเอง เนื่องจากรับไม่ได้ที่มีประชาธิปไตย แล้วทำให้ประชาชนวิภาควิจารณ์ จุดนี้เองทำให้นักศึกษาจากหลายส่วนตื่นตัว ทางนิสิต ม.จุฬาฯ ก็ออกมาต่อต้านผู้บริหารคอร์รัปชัน ด้านม.ธรรมศาสตร์ ก็ต่อต้านเรื่องกฎหมายโบว์ดำ ขึ้นค่าโดยสารโดยไม่เป็นธรรม ส่วน ม.รามฯ ต่อต้านในเรื่องทุ่งใหญ่ ที่ทหารตำรวจสมัยนั้นใช้เฮลิคอปเตอร์ พาดาราไปยิงสัตย์ป่าในทุ่งใหญ่ แล้วนักศึกษาได้ออกหนังสือมาล้อเรียน ทำให้บางฝ่ายไม่พอใจปลดนักศึกษาเหล่านั้น จนเป็นเหตุให้นักศึกษาทั่วสารทิศออกมาเคลื่อนไหว พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลมอบรัฐธรรมนูญคืน ภายใน 6 เดือน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่าจากวันที่ 14 ต.ค. ถึงวันนี้ประชาธิปไตยยังไปไม่ถึงฝั่ง สะท้อนให้เห็นถึงช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 และ6 ต.ค.2519 เรามีแต่ความบริสุทธิ์ใจ ความปรารถนาดี แต่เรายังขาดประสบการณ์ ในสมัยนั้นมีการศึกษาเรียนรู้เฉพาะด้านของนักทฤษฏี อย่าง นายจรัญ ดิษฐาพิชัย หรือกลุ่มนพ.เหวงโตจิราการ ที่บอกว่าเผด็จการมีสองรูปแบบ คือ เผด็จการทหาร กับเผด็จการรัฐสภา แต่เผด็จการที่เราเห็นชัดเจนคือเผด็จการทหาร ซึ่งได้ต่อสู้ขับไล่ไปเมื่อ 6 ต.ค. แต่เขาก็ย้อนกลับมา ดูได้จากที่พันธมิตรฯเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล สองครั้งในปี49 จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 7 ต.ค.2551 ส่อให้เห็นว่าในยุคของพ.ต.ท.ทักษิณ มีบรรดากลุ่มทุนรายใหญ่ที่เคยอยู่ข้างนอกกลับเข้ามา โดยใช้เงินซื้อนักการเมือง เพื่อยืมมือปกป้องธุรกิจของตัวเองบ้าง หวังถอนเงินคืนจากผลประโยชน์ที่ได้จากนักการเมืองบ้าง เพราะเราได้บทเรียนว่า พรรคการเมืองจากกลุ่มทุนเป็นตัวอันตราย ทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ตนอยากถาม นายจรัญ ดิษฐาพิชัย หรือกนพ.เหวงโตจิราการ ว่า ทำไมไม่ต่อต้านเผด็จการรัฐสภา ทุนสามานย์ ลืมอุดมการณ์ของตัวเองไปแล้วหรือว่าเป็นการพูดด้านเดียว ที่ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามเมื่อเรารู้ต้นตอปัญหาแล้ว ต้องแก้ไขให้ถูกวิธี การที่มีฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นอันเดียวกัน ขัดกับหลักอธิปไตย ซึ่งต้องมีการถ่วงดุลกัน เมื่อมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมันก็ตรวจสอบกันไม่ได้

“เจตนารมณ์ของคนเดือนตุลาคม ไม่ต้องการให้มีการเมืองแบบเผด็จการ ไม่ต้องการให้มีการคอร์รัปชันหรือการผูกขาดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ ประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายเทอดภูมิ กล่าวถึงภูมิหลังก่อนเกิดการรวมพลังเคลื่อนไหว ว่า เราได้มีบรรยากาศประชาธิปไตยในระยะสั้นๆ เพียง 2 ปี จอมพลถนอม ก็ปฏิวัติตัวเอง ทำให้เสรีภาพของประชาชนถูกปิดกั้น ตรงนี้เมื่อหันมองประเทศเพื่อนบ้านในตอนนั้นเขามีการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องเสรีภาพกัน แต่ประเทศไทยยังไม่มี ทำให้ตนในฐานะที่เป็นคนขยายงานด้านกรรมกร คิดว่าน่าจะเป็นพลังหนึ่งที่จะนำการต่อสู้ได้ จึงได้รวบรวมกลุ่มทำหนังสือไปให้องค์กรการแรงงานระหว่างประเทศ ที่เคยทำอนุสัญญาไว้ ทำให้รัฐบาลอ่อนข้อ อนุญาตให้จัดตั้งสมาคมลูกจ้าง จากนั้นตนได้ไปดึงนักศึกษามาอบรมปลุกจิตสำนึกในการต่อสู้ โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะตนเห็นว่าในหลายๆประเทศที่ด้อยพัฒนา ขบวนการยุติธรรมมักเริ่มจากนักศึกษา อย่างไรก็ดีถ้านักศึกษาไม่มีฐานมวลชนที่จะพิงขึ้นมา ก็มักจะไปไม่รอด ด้วยเหตุนี้ทำให้ตน ต้องอาสาเข้ามาประสานงานกับนักศึกษา

นายเทอดภูมิ กล่าวต่อว่าตนเป็นผู้เข้าร่วมโดยตรงในเหตุการณ์ทั้ง 14 ต.ค.2516 พฤษภาทมิฬ และชุมนุมพันธมิตรฯ 193 วัน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตอนนั้นการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาถือว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องขับไล่เผด็จการทหารออกไป ข้อเรียกร้องตอนนั้นแค่ต้องการให้ปล่อยตัว 13 กบฏ และเรียกร้องให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะทั่วโลกเขามีหมดแล้ว ประเทศไทยจะปกครองโดยเผด็จการทหารอยู่ไม่ได้ ส่วนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ถือเป็นการตื่นตัวและเสียสละ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประชาชน ตากแดด ตากฝน โดนระเบิดก็ไม่หนี เพราะเขาเห็นถึงความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ
ธัญญา ชุนชฎาธาร
นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย
นายเทอดภูมิ ใจดี
นายเติมศักดิ์ จารุปราณ
กำลังโหลดความคิดเห็น