“ชาญชัย” เสี้ยม ปัญหามาบตาพุดเกิดจาก “กลุ่มการเมือง-นักประท้วงมืออาชีพ” ขณะที่ “กรณ์” สู้ไม่ยอมถอย เดินหน้าหาทางออกร่าง พ.ร.บ.และระเบียบสำนักนายกฯ รอบสอง อ้างเพื่อหาจุดสมดุลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมคู่ไปกับการขับเคลื่อน ศก.
วันนี้ (13 ต.ค.) แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า ในระหว่างการพิจารณาเรื่อง “ร่างระเบียบสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... (กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง)
ทั้งนี้ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้รายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้คัดค้านการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่มีนัยและหวังผลทางการเมือง 2.กลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ และ 3.กลุ่มนักประท้วงมืออาชีพ โดยประเมินว่าเฉพาะกลุ่มที่ 3 นี้มีเงินเพื่อมาประท้วงโดยเฉพาะ
โดยรายงานข่าวแจ้งว่า มติที่ประชุม ครม.ในร่างระเบียบสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ... ทั้งนี้ เป็นร่างระเบียบที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอ ครม.ไปก่อนหน้านี้
สำหรับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า เรื่องนี้มิได้มีสาระสำคัญในการวางระเบียบปฏิบัติเฉพาะกับส่วนราชการเท่านั้น แต่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับภาคเอกชนและคณะกรรมการชำนาญการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการขัดกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แล้ว ยังเป็นการกำหนดให้องค์กรอิสระใช้อำนาจรัฐ ซึ่งไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายในพระราชบัญญัติ ดังนั้น การตราระเบียบดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามาตรา 11(8) แห่ง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงไม่อาจกระทำได้ เพราะเป็นอำนาจที่ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บัญญัติไว้
ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ว่า ร่างพ.ร.บ.และระเบียบสำนักนายกฯ จะมีบทเฉพาะกาลคุ้มครองโรงงานหรือกิจการที่ได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่ โดยระหว่างที่รอการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในขั้นตอนของสภาต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงต้องออกระเบียบควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 หากอุตสาหกรรมรายใดปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแล้วก็จะสามารถกลับมาดำเนินการต่อไปได้
“ยอมรับว่าการที่เอ็นจีโอจะฟ้องร้องอุตสาหกรรมในนิคมฯ ทั่วประเทศ หากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการได้ แต่รัฐบาลก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายกรณ์ กล่าว