xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯมั่นใจปัญหาไทย-เขมร แค่ทวิภาคีไม่ต้องหารือที่ประชุมอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายกฯ ปิดทาง “ฮุนเซน” ยกข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา หารือเวทีอาเซียน ยันแค่ปัญหาทวิภาคี ไม่ต้องนำขึ้นหารือ ชี้ “กษิต” เข้าใจผิด ประเด็นกฎบัตรอาเซียน ย้ำรัฐบาลไม่ยอมให้ไทยเสียสิทธิ์-เสียดินแดน ยึดแนวทางไม่กระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ทางกัมพูชาจะนำเรื่องพื้นที่ข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา หารือในเวทีอาเซียนครั้งนี้ด้วย ว่า คงไม่มี เข้าใจว่า น่าจะเป็นการเข้าใจผิดจากการให้สัมภาษณ์ของ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ประเด็นคือ ในกฎบัตรอาเซียนจะต้องมีการจัดตั้งกลไกยุติข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงว่า เวลาอาเซียนตกลงอะไรกันไป เช่น สมัยก่อนตกลงเรื่องเขตการค้าเสรี ปรากฏว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถทำตามพันธสัญญาได้ ก่อนหน้านี้ จะไม่มีกลไกที่เป็นข้อยุติว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ตามกฎบัตรใหม่ต้องมีกลไกเช่นนี้ เป็นกลไกที่ทำขึ้นมาเพื่อดูแลว่าสิ่งที่เป็นข้อตกลงอาเซียนสามารถดำเนินการไปได้ คงไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาทวิภาคีสองฝ่ายระหว่างไทย-กัมพูชา

เมื่อถามว่า รัฐบาลยืนยันว่า ปัญหาข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นปัญหาทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถูกต้อง และรัฐบาลจะเดินแก้ไขปัญหาในกรอบนี้ และยืนยันว่า ทำอย่างนี้ได้ และที่ตนคุยกับสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชาก็ยืนยันแก้ในกรอบนี้ เมื่อถามว่า โอกาสที่สมเด็จฮุนเซน จะเดินทางมาร่วมประชุมอาเซียนจะคุยกันระหว่าง 2 ประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า ปกติเวลาประชุมในลักษณะนี้จะต้องมีการพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการหรือจะเป็นทางการก็แล้วแต่ ทั้งนี้ จะยืนยันเหมือนเดิมว่าเราต้องแก้ปัญหานี้โดย 1.สันติวิธี 2.ปัญหานี้เป็นทวิภาคี 3.มีข้อตกลง มีกลไกที่ดำเนินการอยู่แล้ว และ 4.อย่างให้เรื่องนี้มากระทบกับภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่จริงในรอบปีนี้ตนพบมาน่าจะสามสี่ครั้งยืนยันอย่างนี้มาทุกครั้ง

เมื่อถามว่า กรอบบันทึกการเจรจายังไม่ผ่านรัฐสภาจะมีปัญหาทำให้เกิดชะงักในแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันต้องว่าไปตามกระบวนการ ทุกประเทศจะต้องเคารพกระบวนการภายในของกันและกัน เมื่อรัฐธรรมนูญของเราบอกว่ากรอบการเจรจาต้องผ่านรัฐสภาก็ต้องทำตามนั้น เขาต้องเข้าใจ เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการว่ากรอบนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียดินแดนโดยมีกฎหมายรองรับ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเมื่อเสนอเข้าสู่สภาจะรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกและเท่าที่จำไม่ผิดทางกระทรวงการต่างประเทศไม่ขัดข้องหากทางสภาฯอยากตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ฉะนั้น คิดว่า ยังห่างไกลมากที่จะไปบอกว่าเราจะไปเสียอะไรทั้งสิ้น เพราะอันนี้เป็นเพียงกรอบการเจรจาและแนวของรัฐบาลในการเจรจาชัดเจนว่าไม่ต้องการเสียสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า มีการอ้างถึงข้อตกลงที่เคยทำเมื่อปี 2543 ว่า มีการอ้างแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนไร่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ ในข้อตกลงนั้นจะยึดข้อแรกคือสนธิสัญญา ส่วนแผนที่ต้องเป็นแผนที่ที่สืบเนื่องมาจากสนธิสัญญานั้น หากเข้าไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลโลกเมื่อปี 2505 อย่างละเอียดจะทราบว่ามีข้อโต้แย้งกันอยู่ตอดเวลาว่าแผนที่ฉบับใดบ้างที่เป็นแผนที่ที่ถือว่าเป็นงานที่คณะกรรมการมาดำเนินการตามสนธิสัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น