รมว.บัวแก้ว ลงพื้นตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร พร้อมให้กำลังใจทหารที่ปฏิบัติหน้าที่และพบปะ ปชช. ไม่หวั่นม็อบพันธมิตรฯ นัดรวมตัว 19 ก.ย. เชื่อ จนท.คุมสถานการณ์ได้ ยันไม่มีความขัดแย้งกับพันธมิตรฯ เผยเชิญแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนมาทำความเข้าใจพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงกับการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ย้ำยึดกรอบเจรจาแก้ปัญหากับเพื่อนบ้านโดยสันติ ด้าน “มาร์ค” ให้คำมั่นจะรักษาผลประโยชน์อธิปไตยของไทย ลั่น ไม่ยอมเสียดินแดน ย้ำแนวทางแก้ไขปัญหาต้องการให้คืนสภาพพื้นที่เป็นแบบเดิมระหว่าง ปชช.ชาวไทยกับกัมพูชา
วันนี้ (13 ก.ย.) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวก่อนออกเดินทางลงพื้นที่เขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนตรวจเยี่ยมความสงบเรียบร้อย และให้กำลังใจนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทับซ้อน พร้อมยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้เชิญแกนนำหลายคนมาชี้แจงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของตนแล้ว
ส่วนกรณีที่พันธมิตรฯ ประกาศจะนัดชุมนุมรวมตัวกันที่เขาพระวิหารในวันที่ 19 กันยายนนี้ ก็เป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในพื้นที่จะดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลยึดหลักกรอบการเจรจาในการแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศโดยมุ่งให้เกิดความสันติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ได้ยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว โดย นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้น ได้แจ้งยกเลิกไปยังกัมพูชา และทางกัมพูชาได้แจ้งว่า ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ดังนั้นถือว่า ไทย-กัมพูชา ไม่ได้มีสนธิสัญญาระหว่างกันในเรื่องนี้ จึงอยากให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในทางที่ถูกต้อง
นายกรัฐมนตรียืนยันด้วยว่า จะไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่มีผลต่ออธิปไตยของไทยอย่างเด็ดขาด โดยจะดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ให้มีการเสียดินแดน แต่สิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือความไม่เข้าใจ เกิดการสู้รบและนำไปสู่ความสูญเสียระหว่างกัน สำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจจะเน้นการเจรจาอย่างสันติวิธี ไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเอง ก็มีความเข้าใจในกรอบการแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาพพื้นที่บริเวณโดยรอบเขาพระวิหาร ที่มีลักษณะเป็นชุมชน ตลาด และการก่อสร้างถนน ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีประชาชนทั้งชาวไทยและกัมพูชาเข้าไปอาศัยอยู่ ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียด ทหารเข้าตรึงกำลัง เกิดเหตุปะทะกัน นำไปสู่การสูญเสีย ดังนั้น สิ่งที่เป็นแนวทางชัดเจนในการแก้ไขปัญหาคือ ต้องการให้คืนสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นแบบเดิมระหว่างประชาชนชาวไทยกับกัมพูชา