xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐหวั่นเสียงชงแก้ รธน.ไม่ถึง 311 วอนวุฒิฯ ช่วยหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล
รัฐบาลเดินเกมแก้ รธน.“มาร์ค” ส่งหนังสือถึง ปธ.ชัย ตั้งคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขีดเส้นส่งกลับที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย 22 ตุลา นี้ ไล่ “เพื่อไทย” ไปหาข้อยุติให้ตกผลึกจะเอายังไง อ้างคำพูด “วิทยา” เคยบอก “ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่แก้จะรอให้สีเขียวมาแก้หรือยังไง” ซัด “แม้ว” เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองดัน รธน.40 กลับมาใช้ พร้อมรับหวั่นเสียงรัฐบาลเสนอแก้ รธน.ไม่ถึง 311 เสียง วอนวุฒิร่วม ฝ่ายค้านทบทวนท่าที

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ แถลงข่าว

วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุม ว่า วิปรัฐบาลได้มีการหยิบยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างวิป 3 ฝ่ายพิจารณา และรับทราบการพิจารณาร่วมกันของวิป 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 8 ตุลา ที่ผ่านมา และเห็นว่า การดำเนินการหารือตลอดมาเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับประเทศและประชาชนในการมีส่วนร่วมคลี่คลายสถานการณ์ สร้างความสมานฉันท์ ดังนั้น วิปรัฐบาลยังยืนยันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อให้มีคำสั่งให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายของทั้ง 2 สภายกร่างเรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งหมด 9 ท่าน ได้ดำเนินการร่างเค้าโครงกฎหมายรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ตลอดจนการจัดทำเหตุผลประกอบขอแก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และคาดว่า จะนำร่างเค้าโครงใน 6 ประเด็นจะนำเสนอต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายได้ในวันที่ 22 ตุลา นี้

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า เรื่องของกระบวนการมีส่วนของประชาชนในการทำประชามติจากการหารือยืนยันว่า วิปรัฐบาลเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะกระบวนการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าการดำเนินการจัดทำประชามติจะเป็นการแสวงหาการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน อย่างน้อยสุดมีจุดสำคัญ คือ การจัดทำประชามติจะทำให้ได้ข้อยุติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าต่อไป และการทำประชามติจะครอบคลุมไปยังพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้แสดงความคิดโดยผ่านองค์กรอิสระคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.และการจัดทำประชามติเป็นการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐจะต้องให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้ฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน และกำหนดเงื่อนไขเวลาไว้ชัดเจนตามพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามตินั้น ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ถึง 120 วัน

“เมื่อทุกฝ่ายยอมรับเป้าหมายที่ตรงกัน ก็คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะใช้เวลาในการทบทวนแนวความคิดให้ตกผลึกเพื่อให้ความเห็นพ้องต้องกันเดินหน้าไปได้ ถึงแม้ความเป็นจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เรียกร้องในที่ชุมนุมว่า ให้เรียกร้องเอารัฐธรรมนูญปี 40 ขึ้นมา แต่คิดว่าพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกระบวนการรับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง และการกลับไปเรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 พรรคเพื่อไทยต้องตระหนักว่า การดำเนินการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 40 ได้เคยดำเนินการมาแล้ว ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงถึง 377 เสียง ได้เคยดำเนินการมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้ายังดึงดันให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนให้ยกเลิกมาตรา 237 และมาตรา 309 เท่ากับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ เพื่อต้องการที่จะปกป้องประโยชน์ตนเอง และให้ตนเองพ้นผิด พรรคเพื่อไทยก็จะต้องกลับไปทบทวนเอง ผมจำคำพูดนายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปพรรคฝ่ายค้านได้ที่พูดว่า ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดำเนินการ แล้วจะรอให้สีเขียวมาแก้หรืออย่างไร และคิดว่านายวิทยาคงไม่ทิ้งจุดยืนที่เคยกล่าวไว้” นายชินวรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างที่รอเพื่อไทยตัดสินกระบวนการเดินหน้าต่อไป ไม่มีการชะลอใช่หรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า กระบวนการในขณะนี้เป็นเพียงการดำเนินการไปตามมติเมื่อวันที่ 8 ตุลาฯ เป็นเรื่องของคณะกรรมการยกร่างฯต้องดำเนินการต่อไป และยังไม่ได้มีการตั้งสมมุติฐานว่า หากเพื่อไทยไม่เอาด้วยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คงต้องรอให้ได้ข้อยุติก่อน เมื่อถามต่อว่า ในเมื่อพรรคเพื่อไทยก็ไม่เอา พันธมิตรฯก็ไม่เอาจะนำไปสู่ความสามานฉันท์ฯได้อย่างไร นายชินวรณ์กล่าวว่า รอดูกระบวนการทำประชามติก่อน เพราะจะได้คำตอบจากทุกฝ่าย และวิปรัฐบาลยังไม่ได้มีการหารือว่าต้องชะลอไปก่อน รัฐธรรมนูญปี 2527 ใช้เวลาถึง 11 ปี อันนี้ก็ยังมีความหวังอยู่ แต่ทั้งนี้ตนยอมรับว่าเสียงสนับสนุนในการเสนอญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมี 311 เสียง แต่รัฐบาลมีเสียงเพียง 245 เสียง ซึ่งจำเป็นต้องได้เสียงจากฝ่ายค้าน และวุฒิสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น