xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ชี้หากนำ รธน.ปี 40 กลับมาใช้ อาจสะเทือน คตส.-ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ นัยโกวิท
“ประพันธ์” การันตี รธน.ปี 50 ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงเพราะผ่านการทำประชามติระบุหากจะนำ รธน.ปี 40 กลับมาใช้อาจส่งผลให้คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมีปัญหาถูกตีความ ถึงการทำหน้าที่ คตส.-ป.ป.ช.แต่ไม่ลบล้างมลทินคดีที่ตัดสินไปแล้ว

วันนี้ (12 ต.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ในฐานะอดีตคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่เอา 6 ประเด็น แต่ให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า การนำรัฐธรรมนูญ ปี 40 กลับมาได้ ต้องผ่านกระบวนการของการแก้รัฐธรรมนูญตามขั้นตอน ไม่ใช่อยู่ๆจะนำกลับมาได้ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง และผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณากัน อย่างไรก็ตามอยากให้พิจารณาให้ดีว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีปัญหาจริงๆ ตรงไหน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งจะบังคับใช้มาได้เพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญ 50 ก็ผ่านการทำประชามติของประชาชน ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยทางอ้อมของ ส.ส.และส.ว.ที่เป็นเพียงตัวแทนประชาชน ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า การนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ จะไม่มีผลในทางกฎหมายต่อคดี ที่มีผลทางกฎหมายไปแล้ว

เมื่อถามว่า การนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 กลับมาใช้ จะเป็นช่องทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้คดี โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ใช้แล้วหรือไม่ นายประพันธ์กล่าวว่า อยู่ที่การตีความ ถ้านำรัฐธรรมนูญ ปี 40 มาใช้ ในส่วนสิ่งที่ทำไปแล้วก็คงไม่มีผลกระทบ เช่น การตัดสินคดี แต่เรื่องที่จะเกิดต่อไป อยู่ที่การตีความ เช่น การสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่กระบวนการยังไม่จบและอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมีผลต่อไปหรือไม่ เพราะว่ากระบวนการของ คตส.สืบทอดไปที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรงนี้อยู่ที่การตีความตามกฎหมาย แต่อะไรที่ทำจบแล้วคงไม่มีผล

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากเสนอขอแก้ไขและถามถึงข้อสังเกตในอำนาจ กกต.ว่ามากเกินไปนั้น ตนมองว่าถ้าหากจะให้ กกต.มีบทบาทในด้านพิเศษเรื่องความรู้ประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งมีประโยชน์ แต่หากจะให้ตั้งศาลเลือกตั้งให้ชัดเจนเพื่อพิจารณาถึงกรอบอำนาจหน้าที่การพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งก็คิดว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนหน้าที่และอำนาจ กกต.หากแก้ก็ควรทำให้ กกต.มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ถ้ามีการทุจริตเลือกตั้งจะทำอย่างไร หากมีศาลเลือกตั้ง ทาง กกต.ในส่วนสืบสวนสอบสวนทาง กกต.ก็จำเป็นต้องมีอำนาจตรงนี้ เพราะหากมีศาลเลือกตั้งไว้ตรงนี้ศาลก็ยังไม่สามารถลงไปสืบสวนสอบสวนได้ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องลดอำนาจ กกต. หากให้ศาลพิจารณาแล้วดีขึ้นก็ทำได้”

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าหาฏทำหลังเข้าสภาผ่านวาระ 1 อาจขัดรัฐธรรมนูญนั้น ตรงนี้ยังเป็นข้อกฎหมายอยู่ เพราะตามที่ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้น ก็กำหนดให้เป็นเรื่องของรัฐบาลจะพิจารณาว่าประเด็นใดกระทบต่อความมั่นคงของชาติในภาพรวมก็อาจปรึกษาสภาได้ ส่วนจะต้องทำประชามติหลังผ่านสภาวาระ 1 แล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เข้าใจว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงมองอย่างนั้น ซึ่งตนยังไม่ทราบรายละเอียด

นายสุทธิพลกล่าวด้วยว่า หากจะสอบถามถึงประเด็นว่าจะใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ก็สามารถสอบถามได้ แต่ทำแล้วจะมีประโยชน์หรือไม่นั้น ซึ่งการทำประชามติตรงนี้มีความต้องรอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็มีคนไม่เห็นด้วยจึงน่าจะนำเอาประเด็นขัดข้องของแต่ละฉบับไปปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ

“ประชามติมี 2 กรณี คือ ข้อยุติ หรือข้อเสนอแนะปรึกษา ซึ่งขึ้นอยู่ที่นายกฯ จะสอบถามในแบบใด และตามกฎหมายรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอประเด็นในการสอบถามในประชามติ หน้าที่ กกต.แค่จัดออกเสียงประชามติเท่านั้น” นายสุทธิพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น