xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศาลปกครองระงับ 76 โครงการที่ระยอง ใครผิด ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขอติง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ศาลปกครองมีคำสั่ง ให้ ระงับการดำเนินโครงการ 76 โครงการ ในจังหวัดระยองไว้เป็นการชั่วคราว ต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวม 7 แนวทาง

6 แนวทางแรกนั้น มีเหตุผล แต่แนวทางที่ 7 ที่ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ จำนวน 100,000 ล้านบาท นั้น เป็นการฉวยโอกาส ลักไก่ เอาซึ่งๆหน้า เชื่อว่า คณะกรรมการ กกร. คงไม่ได้จริงจังกับข้อเสนอข้อนี้สักเท่าไรนัก น่าจะเป็นการเสนอเผื่อฟลุก เท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่สะท้อนนิสัยเห็นแก่ได้ ของพ่อค้า มีโอกาสเป็นไม่ได้ ต้องฉวยไว้ก่อน

76 โครงการที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับไว้ก่อนนั้น ล้วนแต่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษี รวมกันเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งออกมา ก็ยังไม่มีโครงการไหนหยุดดำเนินการ และคำสั่งศาลปกครองนี้ ยังไม่สิ้นสุด เพราะศาลปกครองสูงสุดได้รับคำร้องอุทธรณ์ ให้กลับคำสั่งศาลปกครองกลางไว้พิจารณาแล้ว คดีจึงยังไม่สิ้นสุด กกร. จะรีบแบมือขอเงินไปทำไม

กรณีที่ศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการที่ระยองนี้ ทั้งผู้ลงทุน และประชาชนที่ยื่นคัดค้านโครงการ ไม่มีใครผิด เพราะต่างฝ่ายต่างดำเนินการไปตามบทบาทหน้าที่ และสิทธิของตัวเอง

การลงทุน ของภาคเอกชนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอื่นๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกนั้น ต้องยอมรับว่า มีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมาได้ ในช่วง20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของทั้ง 76 โครงการ ซึ่งมีทั้งการลงทุนใหม่ และการลงทุนเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการปิโตรเคมี ที่ต้องตั้งอยู่ทีมาบตาพุด และนิคมฯอื่นๆที่ใกล้เคียง ก็เพราะว่า ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบคือ แก๊สธรรมชาติ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ทางรถไฟ ท่าเรือ รองรับอยู่แล้ว

แต่สิทธิของชุมชน ที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ เพราะอีกด้านหนึงของการพัฒนาอุตสาหกรรมคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มลพิษที่กระทบต่อชุมชน ซึ่งไม่อาจวัดเป็นตัวเลขได้ แต่มีค่าสูงยิ่ง เพราะเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต

ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะร้องขอความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้วางกติกาเอาไว้ ใน มาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า

“ การดำ เนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

มาตรา 67 วรรค 2 นี้ คือกติกาของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาลงทุนของนักลงทุนโครงการใหญ่ๆ ไม่แพ้ปัจจัยในเรื่องสิทธิ ประโยชน์การลงทุนเลยทีเดียว เพราะมาตรานี้ได้กำหนดกรอบกว้างๆ ว่าการดำ เนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนแรก ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA)

ขั้นตอนที่สอง ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

ขั้นตอนที่สาม ต้องให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบการพิจารณาก่อนมีการดำเนินโครงการ

ปัจจุบันมีเพียง การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และจัดรับฟังความคิดเห็นตามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เท่านั้น

ส่วนองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่กำหนดทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินโครงการนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งแต่อย่างใด มีเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ยกร่างกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2551

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เคยเสนอปัญหาความไม่ชัดเจนของการดำเนินการตาม มาตรา 67 วรรค 2 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนตาม มาตรา 67 วรรคสอง

ขณะที่ ภาคประชาชนก็เรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในทันทีตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และได้ร่วมกันยกร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67

ทั้งข้อเสนอของ สภาอุตสาหกรรม และข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลเลย แต่การลงทุนของภาคเอกชนนั้นรอไม่ได้ หลายๆโครงการจึงลงมือก่อสร้าง เพราะถือว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจแล้ว ทำให้ภาคประชาชนต้องพึ่งศาลปกครองให้สั่งระงับการดำเนินโครงการไว้ชั่วคราว

คนผิดในเรื่องนี้คือ รัฐบาล ที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ให้มีกติกาที่ชัดเจนที่ทั้งฝ่ายนักลงทุน และภาคประชาชนจะได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ นายอภิสิทธิ์ ต้องรับไปเต็มๆอยู่แล้ว ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง แต่ไม่เห็นออกมาแสดงความคิดเห็นเลย โยนภาระทั้งหมดไปให้นายอภิสิทธิ์ คือ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ถ้านักการเมืองทั้งหลายทั้ง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและ ส.ว. จะใส่ใจกับการดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชน สักครึ่งหนึ่งของความกระตือรือร้น ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง กรณีที่เกิดขึ้นกับการลงทุน 76 โครงการที่มาบตาพุดก็คงจะไม่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น