xs
xsm
sm
md
lg

จะชุมนุมต้องขออนุญาตก่อน ใช้สมองส่วนไหนคิด !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ผ่าประเด็นร้อน"

ถือว่าเป็นความโชคดีอยู่บ้างที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งเบรก ร่างพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ ที่เสนอโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังเคยมีความพยายามเสนอเข้ามาตั้งแต่ปี 2550 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็ถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตีตกไป เนื่องจากเห็นว่า เป็นกฎหมายที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งที่สภาในยุคนั้นถูกกล่าวหาว่ามาจากมดลูกเผด็จการด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังมีสติรู้จัก แยกแยะว่าสิ่งไหนควรไม่ควร รู้ว่าสิ่งไหนมันผิดธรรมชาติ

การที่นายกฯอภิสิทธิ์ ส่งร่างกฎหมายให้กฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขและยกร่างใหม่ เพื่อรอจังหวะเสนอเข้ามาใหม่ ก่อนส่งต่อเข้าสภาเห็นชอบก็จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าในที่สุดแล้ว คนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ยอมรับในเรื่องสิทธิของประชาชน หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างเข้าใจกันหรือไม่

รวมไปถึงต้องวัดใจพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่าจะมีท่าทีอย่างไรด้วย

หากพิจารณาในสาระของมาตรา 5 ที่กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานในท้องที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมทั้งแนบรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ ของผู้จัดให้มีการชุมนุม พร้อมทั้งต้องบอกวัตถุประสงค์ในการชุมนุมฯ ระบุวิธีการชุมนุมฯ กำหนดสถานที่ วัน เวลา และระยะเวลาที่จะจัดให้มีการชุมนุมฯและต้องบอกจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยประมาณ

นอกจากนี้ มาตรา 8 ที่มีสองวรรค ยังเขียนครอบมาตรา 7 อีกชั้นว่า หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้เลิกการชุมนุมตามมาตรา 7 ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมได้ตามความจำเป็น แก่พฤติการณ์

หากพิจารณารายละเอียดในมาตราสำคัญดังกล่าวก็อย่าได้แปลกใจที่เป็นร่างที่เสนอมาโดยตำรวจ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ต้องใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ขัดขืนอยู่ตลอดเวลา

คนพวกนี้ไม่เคยเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้าน

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งคนที่ถืออาวุธพวกนี้ “ส่วนใหญ่” ขี้ขลาดไม่เคยกล้ารับผิดชอบกับความผิด หรือความผิดพลาดที่ตัวเองก่อขึ้นมา มักจะโยนความผิดไปให้คนอื่นหรือฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา

วิธีคิดแบบนี้ หรือการขออนุญาตการชุมนุม แม้จะมีอยู่ในบางประเทศ แต่ก็มักจะเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการแทบทั้งนั้น

คนพวกนี้ไม่เข้าใจว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและได้กำหนดและรับรองโดยรัฐธรรมนูญแล้ว

ขณะที่การก่อจลาจล ก่อความวุ่นวายมีความผิดตามกฎหมายต้องถูกดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา

การที่ตำรวจอ้างว่าทำให้ยากต่อการควบคุม และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีเสี่ยงคุกตะราง ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะการควบคุมฝูงชน มันมีขั้นตอนเป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว จากเบาไปหาหนัก แต่หากจะหมายความให้คุ้มครองพฤติกรรมป่าเถื่อน เจตนาฆ่าประชาชน เหมือนกับกรณีเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ชาวบ้านที่ชุมนุมโดยสงบ ตั้งแต่เช้ายันดึก แล้วมาบิดเบือนแก้ตัวว่า ตัวเอง ไม่ได้ทำเกิดกว่าเหตุ ขัดขืนต่อคำสั่งชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

พฤติกรรมแบบนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่น่าสนใจก็คือจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นการเสนอกฎหมายดังกล่าวของตำรวจในครั้งนี้เป็นการเสนอร่างเดิมที่เคยถูกตีตกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ เป็นการจับโกหกของ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เป็นคนชี้แจงร่างกฎหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และย้ำว่าเป็นร่างที่แก้ไขใหม่แล้ว

แม้ว่านี่เป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อยไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรมากนัก แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่านายตำรวจคนนี้มีทัศนคติกับการใช้สิทธิของประชาชนในแง่ลบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่อยุติธรรม และสามานย์

ขณะเดียวกันหากพิจารณาโดยธรรมชาติของการชุมนุมครั้งใดก็ตามที่มาด้วยใจ มาด้วยอุดมการณ์ หรือคับแค้นกับอำนาจรัฐก็จะหลั่งไหลออกมาโดยไม่มีใครสามารถยับยั้งหรือสกัดกั้นได้ ต่อให้มีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดเพียงใดก็ตามก็ใช้ไม่ได้ผล

แต่การที่ตำรวจเสนอร่างกฎหมายควบคุมการชุมนุมของประชาชนนอกจากเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการฝืนธรรมชาติ และไม่เข้าใจสภาพความเป็นไปของสังคม และได้เห็นถึงความ “มักง่าย” ที่คิดแต่จะใช้อำนาจเป็นเครื่องมือในการควบคุมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น