xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟตกรางที่หัวหิน ใครต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นอุบัติเหตุทางรถไฟครั้งร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง สำหรับเหตุการณ์รถไฟสายตรัง-กรุงเทพ ตกรางที่สถานีบ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อตีห้าของวานนี้ ทำให้มีคนตาย 7 คน บาดเจ็บกว่า 40 ราย และรถไฟสายใต้ทั้งรถโดยสาย และรถสินค้าทั้งหมด 27 ขบวนวิ่งไม่ได้

น่าสงสารผู้โดยสารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่คงนึกว่า เลือกการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ขอให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพก็พอใจแล้ว แต่กลายเป็นต้องมา “ ถึงที่” แทน

ถ้าไม่มีคนตาย และเหตุไม่ได้เกิดที่หัวหิน อันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง รถไฟตกรางเที่ยวนี้ อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากขนาดนี้ เพราะรถไฟตกราง และอุบัติเหตุทางรถไฟอื่นๆ เกิดขึ้นบ่อยมาก จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกชาชิน

ก่อนหน้าที่รถไฟจะตกรางที่หัวหิน เพียงวันเดียว เกิดเหตุรถไฟขนปูนซิเมนต์ ตกรางที่ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ย้อนหลังกลับไป เดือนกรกฎาคมปีนี้ รถไฟสายน้ำตกไทรโยค ตกรางเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเพิ่งตกมาหยกๆ เมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้น

ปลายเดือนพฤษภาคม รถไฟสายยะลา – กรุงเทพ ตกรางที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

เดือนมีนาคม รถไฟสายสุไหงโกลก – กรุงเทพ ตกรางที่สถานีบ้านควนมีด อำเภอ จะนะ จังหวัดสงขลา

ทั้งหมดนี้ไม่มีคนตาย มีคนเจ็บบ้างไม่มากนัก

นอกจากนี้แล้ว ที่เกิดขึ้นบ่อยคือ อุบัติเหตุรถไฟวิ่งชนรถ หรือคน ที่จุดตัดกับถนน

วันที่ 14 มกราคม ปีนี้ รถไฟพุ่งชนรถนักเรียน ที่แยกหนองแสง ในเขตเทศบาลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีเด็กนักเรียนตาย 8 คน พ่อแม่ ญาติของผู้ตาย ตัดสินใจฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย วันที่ 23 กรกาคม 2552 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ตัดสินให้ การรถไฟฯ จ่ายค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 14 ล้านบาทกว่า

ช่วงไหนว่างเว้นจากอุบัติเหตุ ก็จะมีเรื่อง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย หยุดเดินรถกะทันหัน ให้ผู้โดยสารได้ตื่นเต้นกันเล่นๆ

อุบัติเหตุการรถไฟฯแต่ละครั้ง ผู้บริหารการรถไฟฯอ้างว่า เป็นเพราะ ทางคดเคี้ยว ขึ้นเขา ฝนตกทำให้ดินทรุด รางชำรุด ไม้หมอนเก่า เครื่องกั้นรถที่จุดจัดเสีย ไม่มีเงินซ่อม ฯลฯ สารพัดจะอ้าง

ฝ่ายสหภาพฯ ก็มักจะอ้างว่า ผู้บริหารไม่มีประสิทธิภาพ เอาแต่โกงกิน พนักงานไม่พอ ต้องทำงาน 7 วัน ไม่ได้หยุด จึงเกิดความเครียด อุปกรณ์เก่า ชำรุด ขอเงินซื้อใหม่ฯลฯ สารพันจะยกขึ้นมา

ไม่เคยโทษตัวเองเลย ว่าบกพร่องอย่างไรบ้าง ไม่เคยมีผู้ว่าการรถไฟฯ คนไหนแสดงความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่ละครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ด้วย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก็ไม่เคยปรากฏว่า มีการลงดทาผู้รับผิชดอบหรือไม่ อย่างไร และมีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกหรือไม่

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่า การการรถไฟแห่งประเทศไทย บอกว่า ได้ตั้งประเด็น สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ 2 ประเด็น คือ อาจเกิดจากระบบอุปกรณ์อาณัติสัญญาณ หรือ ตัวบุคคล นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายใน 5 วัน หากพบว่า เกิดความผิดพลาดจากตัวบุคคลจะมีโทษถึงขั้นไล่ออก

ส่วนสหภาพฯ โทษนโยบายของรัฐบาลที่มีการลดพนักงานตามมติ ครม.28 กรกฎาคม 2541 เป็นเหตุให้เกิดการขาดอัตราพนักงานจำนวนมากและพนักงานต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ทำให้พนักงานต้องตรากตรำในการปฏิบัติหน้าทีและเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ของรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นรถจักรและล้อเลื่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ

อุบัติเหตุ ของรถไฟ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ในหลายๆประเทศ ก็มีรถไฟตกราง รถไฟชนกัน บางประเทศมีคนตายเป็นร้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จนคนทำใจได้ว่าว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างการรถไฟของประเทศไทย แม้ความเสียหาญจะน้อยบ้าง มากบ้าง แสดงว่า มันไม่น่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุอันเป็นเหตุสุดวิสัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพขององค์กร ผู้บริหาร และพนักงาน และความไม่ใส่ใจต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง

ที่สำคัญคือ ความไม่รับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทุกยุคทุกสมัย ที่ไม่สนใจจะปรับปรุงกิจกาการรถไฟให้ดีขึ้น ทั้งๆที่เป็นระบบการคมนาคมขนส่ง ที่เป็นหัวใจของระบบลอจิสติกส์ กลับไปให้ความสำคัญกับ การจัดซื้อ จัดจ้าง ในระบบคมนาคมอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำมากกว่า อย่างเช่น การตัดถนน ไร้ฝุ่น เช่ารถเมล์เอ็นจีวี เป็นต้น

การรถไฟฯ ก่อตั้งมา 113 ปี มีแต่เสื่อมลงๆทุกที จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความล้าสมัย และด้อยประสิทธิ ภาพ ต้องโทษนักการเมือง ผู้บริหาร และพนักงาน ว่า ล้วนแต่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อ ความเสื่อมขององค์กรนี้ด้วยกันทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น