นายกฯ อภิสิทธิ์ กล่าวสุนทรพจน์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ย้ำหลังรัฐประหารไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังพ้นจุดต่ำสุด ระบุแม้คนในชาติเห็นต่างกัน ไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวของประชาธิปไตย ยืนยันเร่งฟื้นความสัมพันธ์ในชาติ พร้อมตอบคำถามเรื่องปัญหาเขาพระวิหาร ย้ำสองประเทศเร่งเจรจาเพื่อถอนกำลังทหาร ทั้งเปิดเผยพระอาการประชวรต่อคนไทยในสหรัฐ ระบุทรงพระอาการดีขึ้น ย้ำ "ทักษิณ"ต้องรับโทษตามกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย
วันนี้ (22 ก.ย.) เมื่อเวลา 17.30 น ตามเวลาท้องถิ่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง ว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยที่ทั่วโลกควรจะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนตรงกันภายใน ปลายปีนี้ ตามกรอบที่สหประชาชาติกำหนดไว้ และในสัปดาห์หน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งทุกประเทศได้เห็นพ้องกันว่าควรมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ก่อนที่จะมีการ ประชุม ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะต้องมีการกระตุ้นเพื่อสร้างความตื่นตัวในการรณรงค์ เพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งภาครัฐจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีต้องการเห็นกลไกความช่วยเหลือของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อ ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างชัดเจน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับกลุ่มนักลงทุนจากประเทศสหรัฐ อเมริกา ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยร่วมมือกันจัดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงการลงทุนใน 3 ปีข้างหน้าผ่านโครงการไทยเข้มแข็งว่า จะมีเงินลงทุนประมาณ 4 หมื่น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงสร้างพื้นฐานทั้งการคมนาคมขนส่ง และการเกษตร
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ มีประธานาธิบดีของสหรัฐ สำเร็จการศึกษาจากที่นี้ถึง 3 คน รวมถึงนายบารัค โอบามา ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีระบุว่า แม้ตนเองจะจบการศึกษาจากอังกฤษ แต่ไม่ได้ละเลยความสนใจต่อสหรัฐอเมริกา และเชื่อว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีนักเรียนไทยกว่า 9 พันคนศึกษาอยู่ในสหรัฐ และมีนักศึกษาจำนวน 57 คน ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
สำหรับสาระสำคัญของสุนทรพจน์ ประเทศไทยภายหลังวิกฤต : การสร้างสังคมประชาธิปไตยใหม่ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเช่นเดียวกับที่พูดในเวทีนักลงทุน ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญ 2 วิกฤต คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่เป็นปัจจัยภายนอก และวิกฤตการเมืองของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจมาแล้ว สำหรับปัญหาทางการเมืองนั้นนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหาในช่วง 9 เดือนในการบริหารงานว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองมีความก้าวหน้า ไปมาก แม้จะมีผู้ชุมนุมก็เป็นไปตามกรอบประชาธิปไตย รัฐบาลเคารพสิทธิ ภายใต้หลักการว่าการใช้สิทธิต้องมีความรับผิดชอบต่อหลักนิติรัฐ และไม่กระทบกับสิทธิผู้อื่น
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ย้ำปัจจัยสำคัญในการก้าวสร้างสังคมประชาธิปไตยใหม่ ได้แก่ การเน้นความต้องการของประชาชน เน้นความสมานฉันท์ มีธรรมาภิบาล เป็นสังคมแบบเปิด การรวมกลุ่มระดับภูมิภาค และ นโยบายเศรษฐกิจที่ช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งได้ตอบคำถามถึงสถานการณ์ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ว่ารัฐบาลพยายามอย่างที่สุดเพื่อนำสถานการณ์สู่ภาวะปกติ เน้นเรื่องการให้ความเป็นธรรม อย่างกรณีคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส
นอกจากนี้นักศึกษากัมพูชาที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ซักถามปัญหาไทยและกัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า แนวคิดของสองประเทศมีความต่างกัน และควรยึดข้อตกลงในปี 2543 การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ได้มีการพูดจาทำความเข้าใจกันและพยายามถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบปะกับชุมชนคนไทย ที่โรงแรมเฮมลีย์ และได้บอกกล่าวอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจากแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 3 ทรงมีพระอาการดี ขึ้นตามลำดับ ขอให้คนไทยในสหรัฐ ไม่ต้องกังวล ซึ่งประชาชนในประเทศได้ลงนามถวายพระพร แสดงความจงรักภักดีให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหายประชวรโดยเร็ว ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังพูดถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ไทย สำหรับด้านเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่ ซึ่งทราบดีตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ แต่ยืนยันว่าจะไม่ทำให้ปัญหาการเมืองต้องมีผลกระทบต่อแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของประเทศ สำหรับเรื่องการชุมนุมรัฐบาลไม่ปิดกั้น หากทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และขณะนี้รัฐบาลพยายามหาทางออกด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องมีการทำประชามติและได้รับการยอมรับจากประชาชน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายใดเป็นกรณีพิเศษเศษกับเรื่องนี้ แต่เห็นว่าเป็นคนไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฏหมาย ส่วนเรื่องการต่อรองที่ไม่ต้องรับโทษ รัฐบาลไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ต้องการให้นักการเมืองอยู่เหนือกฏหมาย แต่ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง