รัฐบาลเดินหน้าไทยเข็มแข็ง 2555 วาดฝัน ศก.ไทยฟื้นตัวทั้งประเทศภายใน 3 ปี พร้อมวางรากฐานที่แข็งแกร่งในระยะยาว โดยผ่านการลงทุนภาครัฐ 1.43 ล้านล้านบาท ภายใต้ 7 แผนการลงทุนหลัก คาดเกิดการจ้างงาน 1.5 ล้านอัตรา
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
วันนี้ (4 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ห้องแกนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รัฐบาลลงทุนกระตุ้นไทยก้าวหน้า โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นายจุรินร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตร ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมในงานครั้งนี้ด้วย
นายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งว่า จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผบกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ปลายปี 2551 ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะการเลิกจ้างงาน กระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงานในช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี และเรายังมีปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางการเมือง จนทำให้ต่างประเทศมองว่า ไทยยังเข้มแข็งเหมือนเดิมหรือไม่
นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาทำงาน เราให้ความสำคัญที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว และวางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง เพื่ออนาคตลูกหลานของประเทศ โดยเริ่มจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การกระตุ้นเศรษฐกิจ และแนวโน้มดีขึ้น และเชื่อว่า ใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นบวกอีกครั้ง รัฐบาลจะลงทุนในอนาคต ระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท และคิดเป็นการลงทุนร้อยละ 11 ของจีดีพี โดยเมื่อคิดเฉลี่ยแล้วจะมีการลงทุนร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน 1.5 ล้านหรืออาจจะมากกว่านั้นเมื่อครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้
ส่วนตัวเลขสาธารณะที่หลายคนเป็นห่วงจะอยู่ในสัดส่วนที่รัฐบาลจะสามรารถบริหาร จัดการ และไม่กระทบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเราคาดหมายว่าในปี 2555 จะมีตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประมาณ 58-59 เปอร์เซ็นต์ และจะค่อยๆ ลดลง จนถึงปี 2559 จะมีตัวเลขลดลงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สงกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะมีการดำเนินการทั้งในส่วนของภาคชนบท จัดหาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ถนนไร้ฝุ่น ปรุงปรุงโรงพยาบาล และภาคเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมถึงการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการลงทุนในระหว่างปี 2553 - 2555 ประกอบด้วย 7 แผนการลงทุนหลัก ได้แก่ 1.การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 24.5 ล้านไร่ เป็น 25.6 ล้านไร่ ลดจำนวนผู้ประสบอุทกภัยจาก 400,000 ราย เหลือ 40,000 ราย 2.การปรับปรุงบริการสาธารณะพื้นฐาน เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตและเพิ่มความสามารถทางธุรกิจด้วยการสร้างถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบทจากร้อยละ 83 เป็นร้อยละ 100 ทั่วประเทศเพื่อลดต้นทุนลอจิสติกส์ต่อจีดีพีจากร้อยละ 19 เหลือร้อยละ 15 3.การสร้างศักยภาพการท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 8.9 ล้านคน เป็น 10.7 ล้านคน 4.การสร้างรายได้ใหม่เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 20 ของจีดีพี
5.การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ลดจำนวนนักเรียนที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งหมด 160,000 คน ลดโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่มีอยู่ 2,900 แห่ง และลดสัดส่วนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ จาก 38 คนต่อเครื่อง เป็น 10 คนต่อเครื่อง 6.ปฏิรูปสาธารณสุข เพิ่มอัตราผู้ป่วยให้เข้าถึงบริการในระดับตำบลจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 60 เพิ่มเตียงผู้ป่วยทั่วประเทศจาก 60,000 เป็น 70,000 เตียง และ 7.สร้างอาชีพระดับชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ จาก 64,000 เป็น 120,000 บาทต่อปี
โดยด้านการเกษตรจะเป็นการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิการของพืชผลทางการเกษตร สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และลดจำนวนผู้ประสบอุทกภัยลงจาก 4 แสนคน ให้เหลือเพียง 4 หมื่นคน
ด้านคมนาคมขนส่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการจากปัจจุบันที่ต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 19% ของรายได้ประชาชาติ ให้เหลือ 16% ของรายได้ประชาชน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการของไทยเพิ่มขึ้น
ด้านการศึกษา เชื่อว่าเมื่อสิ้นสุดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในปี 2555 แล้วจะไม่เหลือนักเรียนในระดับที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1.6 แสนคน รวมทั้งจะต้องไม่เหลือโรงเรียนที่ระดับการเรียนการสอนต่ำกว่ามาตรฐาน จากปัจจุบันที่มีโรงเรียนในลักษณะนี้อยู่ราว 3 พันแห่ง รวมทั้งจะเพิ่มจำนวนของนักเรียนในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้นเป็น 20 คน/คอมพิวเตอร์ 1เครื่อง จากปัจจุบันที่ 38 คน/คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง
ด้านสาธารณสุขจะปรับปรุงระบบบริการสาธารสุขให้เป็นแบบเชิงรุก ให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ใกล้บ้านมากขึ้น โดยจะเพิ่มการรองรับผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลในระดับตำบลเป็น 60% จากปัจจุบันที่รองรับได้ 40% และเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยเป็น 70,000 เตียง จากปัจจุบันที่ 60,000 เตียง
ด้านท่องเที่ยว เป็นการวางมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลังจากเกิดปัญหาความไม่สงบทำให้เศรษฐกิจซบเซาลงมาก จึงตั้งเป้าว่าจะยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น 120,000 บาท/ปี จากปัจจุบันที่ 64,000 บาท/ปี
“วันนี้รัฐบาลพร้อมลงทุนและผลักดันโครงการต่างๆ ที่ผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบจากครม.แล้ว เมื่อพรก.การกู้เงินฯผ่าน รัฐบาลก็จะมีเงินทุนในการดำเนินการโครงการเหล่านี้แล้ว การเร่งรัดของเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความคืบหน้าจะสัมฤทธิ์ผลก็จะเป็นการชี้วัดความสำเร็จของแต่ละกระทรวง ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 2 แสนล้าน และจะทยอยอนุมัติ 1 แสนล้าน และเมื่อพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ....อีก 4 แสนล้านบาท ความสำเร็จนี้นอกจากผู้ทำนโยนบายแล้ว ในเรื่องนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนฝ่ายราชการ ยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินการไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด และเกิดความโปร่งใส” นายกฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรียังกล่าวเสริมอีกว่า รัฐบาลได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.tkk 2555.com อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลโครงการลงทุน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า แหล่งเงินทุนที่ใช้รองรับโครงการไทยเข้มแข็งมาจาก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ400,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท รวมถึงการกู้เงินภายในประเทศตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยรอบแรกคณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินลงทุนโครงการไทยเข้มแข็งวงเงิน 199,960 ล้านบาท ให้กับ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรรอบแรก 48,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบชลประทาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรร 45,389 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพครูให้ตรงกับความต้องการของโรงเรียน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรร 39,900 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการถนนไร้ฝุ่นปรับเป็นถนนลาดยางทั่วประเทศ การพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สำหรับระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรร 11,515 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลระดับจังหวัด จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ และปรับปรุงโรงพยาบาลระดับตำบล
ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ได้ส่งผลชัดเจนว่าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยไตรมาส 2/2552 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.3% เมื่อเทียบไตรมาส 1/2552 ขณะที่รัฐบาลได้เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ผ่านโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2555 โดยมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณากรอบวงเงินลงทุน จาก 1.56 ล้านล้านบาท เหลือ 1.43 ล้านล้านบาท โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากผลประโยชน์ที่ประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมที่จะได้รับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความพร้อมของโครงการลงทุน พบว่า ขณะนี้มีโครงการที่พร้อมลงทุนจำนวน 1.06 ล้านล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจ 2 แสนล้านบาท และรัฐบาลลงทุน 8 แสนล้านบาท โดยวงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาทแรก อยู่ในความรับผิดชอบหลัก ของ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นเม็ดเงิน 150,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 70%
“คลังสามารถจัดสรรเม็ดเงิน ส่วนแรก 2 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก.กู้เงินได้ฯ และครั้งต่อไปจะจัดสรรเงินอีก 1 แสนล้านบาท จากนั้นเมื่อ พ.ร.บ.กู้เงินฯ มีผลบังคับใช้ก็จะจัดสรรแหล่งเงินจากภายในประเทศอีก 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้คลังยังสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.หนี้สาธาณะฯ จัดสรรแหล่งเงินเพิ่มเติมเพื่อให้มีเม็ดเงินลงทุนครบ 1.43 ล้านล้านบาท”
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า เพื่อให้การเริ่มต้นโครงการมีการกำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงได้แบ่งเป็นการดำเนินการใน 3 ส่วน ส่วนแรก ให้หน่วยราชการเจ้าของโครงการรายงานความคืบหน้าโครงการการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบ GF-MIS ของกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณจะดำเนินการอนุมัติเงินงวดงานและเม็ดเงิน และรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการติดตามประเมินผลการใช้เงิน เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรค ก่อนนำมารายงานให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังเปิดตัวเว็บไซต์ไทยเข้มแข็ง 2555 www.tkk2555.com เพื่อให้ประชาชน ภาคเอกชน ติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง โดยสามารถดูถึงความโปร่งใสในการประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการจะเริ่มสร้างได้เมื่อใด เสร็จเมื่อใด มีความคืบหน้าถึงไหนแล้ว คาดว่าอีก 1 เดือนข้างหน้าเมื่อโครงการต่างๆ เริ่มเดินหน้าก่อสร้างแล้วจะมีข้อมูลให้ประชาชนติดตามชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรเงินออกสู่ระบบ