xs
xsm
sm
md
lg

เคาะข่าวริมโขง : แฉ บันทึกประชุม สมช.มัดตัว “นพเหล่” ประเคนพระวิหารให้ “ฮุนเซน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคาะข่าวริมโขง : แฉบันทึกประชุม สมช. สมัย "สมัคร" นั่งเก้าอี้นายกฯ แสดงชัด "นพเหล่" ปันใจให้ "ฮุนเซน" อ้อนคนในปิดข่าวเขมรฮุบ "พระวิหาร" แต่ลับหลังสมรู้ร่วมคิด "ฮุนเซน" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก อีกทั้ง ไม่หนำใจ คิดตีกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “เคาะข่าวริมโขง” 

รายการ “เคาะข่าวริมโขง” ออกอากาศทาง “อีสานทีวี” ช่วงเวลา 18.30-20.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม มี น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก นายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยวันนี้มีการเชิญ นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตผู้นำแรงงานและนักการเมืองอาวุโส และ นายอมรเทพ อมรรัตนานนท์ พิธีกรรายการสภาท่าพระอาทิตย์ สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี มาร่วมพูดคุยและวิเคราะห์ถึงประเด็นข่าวที่น่าสนใจ ได้แก่ กรณีความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ หลังจากประสบอุบัติเหตุรถยนต์พุ่งประสานงากับรถปิกอัพ

รวมทั้ง กรณีบันทึกการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2551 ที่ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ได้แสดงท่าทีโอนเอียงมีใจช่วย สมเด็จฯ ฮุนเซน ในการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดก นอกจากนี้ ยังมีส่วนทำให้กัมพูชาได้เปรียบไทยในการยึดครองพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบประสาทเขาพระวิหารด้วย สำหรับกรณีสุดท้าย คือ กำหนดวันชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่นัดรวมพลหลายระลอกในเดือนนี้

เริ่มเปิดรายการ น.ส.อัญชะลี ต่อสายสัมภาษณ์สดถึงกรณี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนได้รับบาดเจ็บ ว่า ขณะนี้ตนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ โดยแพทย์ให้เฝ้าดูอาการเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากมีอาการซี่โครงร้าว ข้อเท้าซ้น และฟกช้ำเล็กน้อย แต่คาดว่าจะเดินทางไปร่วมอ่านบทกวีในงานรำลึกเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือดของพันธมิตรฯ ได้แน่นอน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณพี่น้องทุกคนที่ฝากความห่วงใยและอวยพรให้หายเจ็บ

จากนั้น น.ส.อัญชะลี กล่าวเปิดประเด็น บันทึกการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2551 ซึ่ง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ได้มีจิตใจโอนเอียงช่วย สมเด็จฯฮุนเซน และกัมพูชา ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยกรณีนี้ นายชัชวาลย์ กล่าวเสริมว่า ในการประชุมครั้งนั้น นายนพดล ได้เสนอต่อที่ประชุมคำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งมีการยกเรื่องความละเอียดอ่อนขึ้นมาบังหน้า พร้อมทั้งขอร้องฝ่ายทหารไม่ให้แพร่งพรายข้อมูลใดๆ ต่อสื่อมวลชน เนื่องจากต้องการเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เพราะหากเปิดเผยไป จะทำให้กระทบความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

นายชัชวาลย์ กล่าวว่า นายนพดล ชี้แจงในที่ประชุม ทำนองว่า สมเด็จฯฮุนเซน จะใช้เรื่องขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เรียกคะแนนเสียงให้ตัวเองให้ช่วงการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ไปกระทบความสัมพันธ์และส่งผลทางการเมือง พร้อมทั้งโจมตีบทความ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ที่ระบุว่า นอกจากไทยจะเสียประสาทเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชาแล้ว อาจจะต้องเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ให้แก่กัมพูชาด้วย โดยนายนพดล ออกมาตอบโต้ว่า การเขียนบทความดังกล่าวเผยแผ่ ทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความสับสนด้านข้อมูล และยืนยันว่า ไทยไม่ได้เสียดินแดนใดๆ ให้กัมพูชา ด้าน นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ก็ไม่ได้ทวงติงใดๆ พร้อมทั้งมีส่วนรู้เห็น กระทำตามคำขอสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่เคยเอ่ยปากให้ไทยช่วยอนุเคราะห์ เพื่อกระทำการอะไรบ้างอย่าง โดยตอนหลังถึงมาเปิดเผยว่า สิ่งที่กัมพูชาต้องการต่อไปนอกจากปราสาทเขาพระวิหาร ก็คือ พื้นที่ 4.6 ตร.กม.นั่นเอง

“นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก ว่า นายนพดล กับ นายสมัคร จะไปช่วยเหลือ สมเด็จฯฮุนเซน มากมายขนาดนี้ แล้วยิ่งเรื่องดังกล่าวลุกลามมาใหญ่โต ไล่ตั้งแต่ไทยเสียปราสาทเขาพระวิหาร ตอนนี้ก็กำลังจะเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ให้กัมพูชา แม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลจากนายสมัคร มาเป็นนายอภิสิทธิ์แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมทำอะไรให้เด็ดขาด โดยเฉพาะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่วันนี้ดูจะเข้าอกเข้าใจ สมเด็จฯฮุนเซน เป็นอย่างดี โดยบอกให้คนไทยไม่ต้องวิตกกังวล ไทยไม่ได้เสียดินแดน ส่วนทางฝ่ายทหารก็นิ่งเฉย อ้างว่ารัฐบาลไม่ได้สั่งการ” นายชัชวาลย์ กล่าว

นายอมร กล่าวต่อว่า ตนรู้สึกเสียดายที่คนไทยแทนที่จะรักและหวงแหนแผ่นดินของตัวเอง แต่กลับนิ่งเฉย โดยเรื่องนี้ต้องโทษรัฐบาลและท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ ที่ปล่อยให้ สมเด็จฯฮุนเซน ได้ใจ ออกมาตอบโต้อยู่ฝ่ายเดียว โดยที่รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงจุดยืนใดๆ เป็นฝ่ายตั้งรับ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ตนถือว่าในเมื่อไม่กล้าจัดการอะไร ก็เพราะว่าเรื่องนี้ เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์เชิงธุรกิจในกัมพูชา ที่มีนักการเมืองไทยแบ่งเค้กกันอยู่

นายเทิดภูมิ กล่าวเสริมว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม.ขณะนี้ คนไทยไม่สามารถเข้าไปเหยียบได้ ทั้งรัฐบาลบอกว่าไม่ได้เสียให้กัมพูชา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น ก็คือ คณะกรรมการตัดสินเขตแดนทั้ง 7 ชาติ ตอนนี้มีท่าทีโอนเอียงไปทางกัมพูชามากกว่าไทย ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ไม่ใช้วิธีการเมืองและการทหาร ใช้แต่การเจรจาทางการทูต ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเสียพื้นที่ดังกล่าวให้แก่กัมพูชา แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจมากที่สุด คือ การที่มีคนไทยรักชาติออกไปร่วมแสดงเจตนารมณ์เรียกร้องให้มีการผลักดันชาวกัมพูชาที่รุกล้ำอธิปไตยของไทย คนกลุ่มนี้ ดันถูกมองว่าเป็นพวกคลั่งชาติ ทั้งที่ถ้าเรียกจริงๆ ต้องเรียกว่า รักชาติ เพราะผิดตรงไหนที่คนไทยจะไปรักษาแผ่นดินบ้านเกิดตนเอง การกระทำดังกล่าวไม่ได้เรียกร้องให้เกิดสงครามหรือความรุนแรง เป็นการทวงถามความยุติธรรม

นายชัชวาลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายสุเทพ จะชอบเบี่ยงเบนประเด็นให้คนไปสนใจเรื่องผลประโยชน์บ่อน้ำมัน มากกว่าการเสียปราสาทเขาพระวิหาร หรือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ซึ่งตนอยากถามแทนคนไทย ว่า หากมีการเจรจากับกัมพูชาเรื่องผลประโยชน์บ่อน้ำมัน คนไทยได้อะไรบ้างจากการเจรจาดังกล่าว เพราะถ้าหากมีขุดเจาะทำธุรกิจ ก็ผูกขาดให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้สัมปทาน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่า ตอนนี้ไม่ได้เป็นองค์กรของคนไทยโดยสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นความสำคัญของประเด็นที่นายสุเทพชอบพูด เนื่องจากยังไงคนไทยก็ต้องจ่ายเงินแพงเพื่อซื้อน้ำมันอยู่ดี

ช่วงต่อมา น.ส.อัญชะลี กล่าวปิดท้าย กรณีการนัดชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า จะนัดชุมนุมกัน 2 ระลอก คือ วันที่ 11 ตุลาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ที่จะครบรอบ 60 วันของการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยทางแกนนำคนเสื้อแดงประกาศว่า การชุมนุมจะยึดเยื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ต้องมีการประเมินต่อไป

นอกจากนี้ น.ส.อัญชะลี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้เวลาว่างในการโพสต์ข้อความผ่านทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์ โดยให้ความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ในทำนองว่า เชื่อว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นครั้งนี้ จะทำให้บ้านเมืองดียิ่งขึ้น แต่ถ้าหากไม่เดินหน้าแก้ไข บ้านเมืองก็จะพบเจออยู่แต่วังวนปัญหาเดิม

อนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น มีดังนี้ มาตรา 190 ว่าด้วยเรื่องการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา, มาตรา 237 ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค, มาตรา 93-98 ว่าด้วยเรื่องที่มา ส.ส., มาตรา 111-121 ว่าด้วยเรื่องที่มา ส.ว., มาตรา 265 ว่าด้วยเรื่องดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.และมาตรา 266 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว.โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ว่า ผลประโยชน์หลังจากที่มีการแก้ไขจะตกอยู่ที่บรรดานักการเมืองมากกว่าจะอยู่ประชาชน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการแก้เอื้อประโยชน์นักการเมือง ไม่ใช่ทำเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากให้แก่ประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น