xs
xsm
sm
md
lg

เปิดลึก 3 ทางเลือกศาลฎีกาฯ รับมือ “คดีหวยบนดิน” รั่ว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน โดย แสงตะวัน


หลังจาก วิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา อดรนทนไม่ไหวต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีกล้ายางพาราเพื่อ “ตามล่าหาความจริง” ให้กับสังคมที่เกิดความคลางแคลงใจว่า

ศาลฎีการั่วเป็นรู หรือไม่ หลังจากมติคำพิพากษา 8:1 ยกฟ้องเนวินออกมาตรงเผงกับข่าวลือที่กระพือออกมาก่อนหน้า

ประธานศาลฎีกา วิรัช ลิ้มวิชัย เคยเป็นอดีตมือสอบสวนชี้มูลความผิด “บิ๊กศาล” ในคดีพยายามติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ให้ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ท่านจึงนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้โดยเฉพาะในยุคที่ท่านวิรัชยังเป็นผู้บริหารระดับบนสุดของศาลยุติธรรม

จึงตัดสินใจใช้อำนาจ เลือกผู้พิพากษาระดับ “รองประธานศาลฎีกา” มาเป็นประธานสอบสวน องค์คณะคดีกล้ายางพาราฯ 9 คน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา

ผลพวงของคดีกล้ายางกระฉ่อน ทำให้หลายฝ่ายจับตามอง “คดีหวยบนดิน” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษาในเวลา 14.00 น.วันนี้ (30 กันยายน)

คดีหวยบนดินถือเป็นสำนวนคดีที่สองที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควักงบประมาณแผ่นดินจ้าง สิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความอาวุโสแห่งสภาทนายความมาเป็นโจทก์ฟ้อง นช.(พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับอดีตคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวม 47 คนเป็นจำเลย

หลังที่ ชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เด้งเชือก ไม่ยอมทำหน้าที่ทนายแผ่นดินฟ้องให้ ป.ป.ช.

หลังจากคดีกล้ายางพาราซึ่ง ป.ป.ช.จ้าง เจษฎา อนุจารี ทนายความจากสภาทนายความต้องพ่ายให้กับเนวินและพวก 44 คนไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน ทำให้คดีหวยบนดินที่มีลักษณะการฟ้อง “ยกเข่ง” เหมือนกัน

มีโอกาสพ่ายไม่น้อยในสายตาผู้ชม

ถึงคนส่วนใหญ่จะมองอย่างนั้น แต่... “จำเลย” คงไม่คิดเช่นนั้นเพราะนั่นคือ “ความประมาท” ตอนนี้จึงมีข่าวเล็ดลอดว่า จำเลยบางคนจะป่วยเป็นโรคเลื่อนซ้ำรอยคดีกล้ายางพารา

อดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ยังป่วยที่สันหลังไม่หาย และ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผู้อำนวยการสำนักงานกองสลากฯ ก็หายหน้าไปจากวงการตำรวจไทยนานเท่าคนหน้าเหลี่ยม ทั้งอดิศัยและ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ เป็นจำเลยในคดีนี้...!!

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในการนัดฟังคำพิพากษาคดีครั้งแรก หากจำเลยไม่มาศาลๆ ต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป 30 วันและออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา การเล่นเกมเลื่อนโดยจำเลยไม่มาศาลน่าจะต้องเกิด งานนี้ต้องมีการลอกเลียนคดีกล้ายางพาราเพราะก็เห็นกันแล้วว่าทำแล้วได้ผล ...

ได้ ‘ผล’ ของคำพิพากษาคดีกล้ายางพาราซึ่งมีมติ 8:1 เป็นเครื่องยืนยัน

ทว่า ... ปัญหาการเล่นเล่ห์อาศัยช่องกฎหมายทำให้ศาลต้องลงมติแต่อ่านคำพิพากษาไม่ได้ ภาระจึงตก

อยู่กับองค์คณะคดีหวยบนดินว่า เมื่อรู้เท่าทันเหลี่ยมนักการเมืองแล้วจะลบเหลี่ยมนั้นอย่างไร เพราะมีคนหวังผลให้องค์คณะคดีหวยบนดินประชุมลงมติเผื่อคะแนนจะไหลออกมาตามรอยรั่วของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ

เรื่องนี้มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง

1. องค์คณะผู้พิพากษา‘ไม่ลงมติ’คำพิพากษา และให้เลื่อนไปอีก 30 วัน

2.องค์คณะผู้พิพากษา ‘ลงมติ’ คำพิพากษา และให้เลื่อนไปอีก 30 วัน


การตัดสินใจไม่ว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่งถือเป็นเรื่องที่มีเงื่อนไขกดดันองค์คณะฯ เพราะหากเลือกทางที่หนึ่งคือ “ไม่ลงมติคำพิพากษา” และให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปอีก 30 วันเพราะจำเลยไม่มาศาล ปัญหาจะเกิดกับองค์คณะคดีหวยบนดินทันที

ปัญหานั้นก็คือ องค์คณะเดิมจะไม่ได้ลงมติคำพิพากษาเพราะภายในวันที่ 1 ตุลาคมจะมีผู้พิพากษาในองค์คณะคดีหวยบนดินโยกย้ายออกจากศาลฎีกา ตามกฎหมายผู้พิพากษาท่านนั้นจะไม่สามารถอยู่เป็นองค์คณะในแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาได้อีก

เช่นในกรณีนายสบโชค สุขารมณ์ เจ้าของสำนวนคดี ต้องเลื่อนขึ้นไปนั่งประธานศาลฎีกา โดยธรรมเนียมปฏิบัติจะไม่มานั่งพิจารณาคดี หากไม่มีการลงมติก็ต้องเลือกผู้พิพากษาคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทน ซึ่งประธานศาลฎีกาจะต้องมีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกซ่อมผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่มาเป็นองค์คณะแทนคนที่ย้ายออกไป

เมื่อเป็นเช่นนั้นนอกจากจะทำให้คดีใช้เวลายาวออกไปอีก เพราะต้องให้เวลารอผู้พิพากษาที่มาใหม่พิจารณาสำนวนแล้ว ยังไม่ค่อยเป็นธรรมตามหลักการพิจารณาคดีเท่าไร เพราะจะกลายเป็นเข้าตำรา

“คนทำคดีมาแต่ต้นไม่ได้พิพากษา คนพิพากษาไม่ได้ทำคดีมาแต่ต้น”

แต่ใช่ว่าคนมาใหม่จะพิพากษาไม่ได้ หรือพิพากษาไม่ดี เพราะปกติแล้วผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนล้วนมีความรู้กฎหมาย และต่างมีประสบการณ์ในการตัดสินคดีในอาชีพผู้พิพากษามาอย่างยาวนานเพียงอ่านข้อเท็จจริง ตรวจพยานหลักฐานก็สามารถพิพากษาได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะให้องค์คณะหวยบนดิน 9 คนปัจจุบันที่ไต่สวนมาตั้งแต่แรกได้ร่วมกันตัดสินคดีหวยบนดินก่อนที่หลายคนจะโยกย้ายไป ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เพราะองค์คณะเลือกกำหนดวันพิพากษาในวันที่ 30 กันยายนซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีราชการ

ดังนั้น โอกาสที่องค์คณะจะเลือก “ลงมติ” โดยไม่สนกระแสหรือเสียงวิพากษ์จำเลยเจ้าเล่ห์หาทางเจาะคำพิพากษาหวยบนดินอีกคดีก็มีสูง และนั่นเท่ากับองค์คณะฯ เลือกยึดแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายปกติที่กำหนดว่า ศาลจะต้องทำคำพิพากษาให้เสร็จก่อนนัดอ่านคำพิพากษา


การเลือกแนวทางลงมติตามปกติ องค์คณะฯ อาจต้องเจอแรงเสียดทานทางการเมืองสองขั้ว รวมถึงต้องเผชิญการร้องเรียนให้ตรวจสอบอะไรต่ออะไรแทบไม่ต่างจากคดีกล้ายางพารา ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางที่จำเลยอื่นๆ จะเอาเยี่ยงอย่าง ท้าทายและทำให้ศาลแปดเปื้อนถ้าศาลไม่คิดทางออกจากเกมนี้ด้วยการออกดุลพินิจวินิจฉัยแนววิธีพิจารณาคดีใหม่

แบบดัดหลัง ดัดสันดานจำเลยเจ้าเล่ห์ให้เข็ดหลาบ

ลำพังจำเลยหนีตั้งหลัก ยังพอเข้าใจได้ แต่การที่จำเลยจงใจหนีไม่มาฟังคำพิพากษาเพื่อรอให้ศาลลงมติเพื่อเจาะผลที่ลงมติแล้ว มันทำลายระบบความน่าเชื่อถือของคำพิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ที่ผ่านการตัดสินของศาลยุติธรรมอย่างไม่น่าให้อภัย

ดังนั้น ไม่ว่าเช้าวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นเวลาแห่งการประชุมเพื่อลงมติคดีหวยบนดินต้องติดตามดูว่า นายสบโชค สุขารมณ์ รองประธานศาลฎีกาและว่าที่ประธานศาลฎีกาในฐานะเจ้าของสำนวนคดีหวยบนดินจะพาองค์คณะฯ เดินไปทางใด

เพราะนั่นเท่ากับท่านได้เลือกอนาคตคดีอาญา การกระทำผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังเหลือค้างอยู่ในมืออัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ซึ่งรอเดินเข้าสู่สายพานศาลฎีกาฯ อีกหลายคดี


หากจำเลย 47 คนหัก นช.ทักษิณ ชินวัตร ออกหนึ่ง (บวกกับคนที่จัดไว้ไม่ให้มาศาลเพื่อเป็นเหตุขอเลื่อนฟังคำพิพากษา) ชักแถวมาฟังคำพิพากษากันโดยพร้อมเพรียงในวันที่ 30 กันยายน เหมือนเมื่อครั้งจำเลยคดีกล้ายางพารายกกันมาแน่นศาลฎีกาฯ ก็สันนิษฐานได้เลยว่าทุกอย่างจะเดินตามรอยเดียวกับคดีกล้ายางพารา

ต่างเพียงแค่โอกาสของจำเลยคดีหวยบนดินคงไม่เหมือนกับโอกาสของจำเลยคดีกล้ายางพารา

เพราะศาลมีบทเรียนแล้ว

ขณะเดียวกัน ในข้อเท็จจริงของคดีหวยบนดินจะผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมายอะไรและอย่างไรก็มีเนื้อหาแห่งคดีคนละอย่างกับข้อเท็จจริงคดีกล้ายางพารา ผลของคำพิพากษาจึงย่อมไม่เหมือนกันโดยสภาพ

สรุปสุดท้ายน่าติดตามทางออกที่สามซึ่งขึ้นอยู่ว่า “องค์คณะหวยบนดิน” จะกล้าแหกธรรมเนียม โดยเมื่อลงมติในวันนั้นแล้วหักดิบอ่านคำพิพากษาทันทีแม้จะมีจำเลยไม่มาศาลก็ตาม เพราะถือว่าได้กำชับให้มาฟังคำพิพากษาแล้วในนัดสุดท้าย แต่แนวทางนี้ก็เกิดขึ้นได้ยากเพราะศาลอาจถูกโต้แย้งทำผิดกฎหมาย และน้อยนักที่ผู้พิพากษาจะกล้าออกจากกรอบ ซึ่งมีโอกาสตายน้ำตื้นได้

การรับมือ “นักการเมือง” หวยบนดินในวันที่ 30 กันยายนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์คดีที่มีคนพูดถึงมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น