xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯเห็นชอบรับร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พร้อมผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ หวิดวุ่น เกือบตกลงกันไม่ได้ในการตั้งกรรมาธิการ ก่อนเห็นชอบรับร่างไว้พิจารณามติ 92 ต่อ 0 พร้อมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบประชามติ ที่ กมธ.ร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว

วันนี้ (28 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่...) พ.ศ.....โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานในการประชุม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดย ส.ว.อภิปรายแสดงความเป็นห่วงการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุ การกำหนดเกณฑ์รับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการกำหนดให้สิทธิผู้สูงอายุได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมาย อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในอนาคต รัฐบาลจึงควรทำสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยให้มีการแยกคัดเลือกผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นหรือความเดือดร้อนจริงๆ นอกเหนือจากการสำรวจเฉพาะจำนวนผู้สูงอายุ จากนั้นควรให้มีการจัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อน มีความจำเป็น โดยรัฐบาลควรยึดหลักการในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับความช่วยเหลือมากกว่าเบี้ยยังชีพ 500 บาท โดยเกลี่ยวงเงินให้เกิดความเหมาะสม ระหว่างผู้ชราที่มีความจำเป็น และผู้ชราที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงิน

ด้าน นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่ที่การขาดความชัดเจนในการกำหนดให้สิทธิของผู้สูงอายุเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาให้สิทธิผู้สูงอายุควรให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มีอำนาจพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ส.ว.อภิปรายแสดงความเห็นพอสมควร ที่ประชุมลงมติเห็นชอบรับร่าง พ.ร.บ.ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 92 ต่อ 0 เสียง โดยหลังจากลงมติ นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เสนอให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ข้อที่ 83 วรรคสอง ที่กำหนดให้การพิจารณาร่างกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตราขึ้น ให้ตั้งกรรมาธิการที่มีสัดส่วนจากเอกชนหรือบุคคลที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นจำนวน 1 ใน 3 เป็นกรรมาธิการพิจารณา โดยมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ดี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา คัดค้านว่า หากงดใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 83 ที่ประชุมอาจเสี่ยงที่จะดำเนินการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา โดยหลังจากที่ประชุมได้อภิปรายถกเถียงกันพอสมควร นายวิทยา ได้ขอถอนญัตติ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณา กำหนดแปรญัตติ 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากนั้น ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว โดยหลังจาก นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ ชี้แจงหลักการของกฎหมายแล้ว มี ส.ว.อภิปรายเพียงเล็กน้อย เช่น นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเกรงว่า มาตรา 36 ที่บัญญัติถึงการคัดค้านการออกเสียง จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถคัดค้านการออกเสียงได้ แต่ในมาตรานี้ไม่ได้กำหนดว่า ผู้มีสิทธิจำนวนเท่าใดมีสิทธิคัดค้านได้ และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการคัดค้าน จึงเกรงว่า หากนำไปใช้จะมีปัญหาการคัดค้านผลการประชามติจำนวนมาก คณะกรรมาธิการจึงต้องทำให้เรื่องนี้ชัดเจน

ด้าน นายวิรัตน์ ชี้แจงว่า มาตรานี้มีการหารือในชั้นคณะกรรมาธิการแล้ว โดยกรรมาธิการเห็นว่า ไม่ควรกำหนดจำนวนผู้ร้อง เพราะเกรงว่า จะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน อย่างไรก็ดี ได้กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการร้องคัดค้านไว้แล้ว อีกทั้งหากมีการร้องคัดค้านเป็นเท็จย่อมผิดกฎหมาย จึงเชื่อว่า คงไม่มีใครร้องคัดค้านพร่ำเพรื่อแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมมติเห็นชอบร่างกฎหมายตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันเสนอ ด้วยคะแนนเสียง 89 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 เสียง ถือว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 302 ที่ต้องมีจำนวนสมาชิกเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก ทั้งนี้ขั้นตอนหลังจากนี้ วุฒิสภาจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาวินิจฉัยไม่เกิน 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 141 บัญญัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น