“ตวง” ย้ำกรรมการสมานฉันท์ฯ หมดอายุ แม้ไม่ลาออกก็จบ เผยไม่ได้มีหน้าที่ยกร่างฯ ยันจุดยืนวุฒิสมาชิกต้องรักษาสถานะตัวเองเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน ขณะที่ “เจิมศักดิ์” และกลุ่ม 40 ส.ว.ก็ถอนตัวไม่ร่วมยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฟาก “ส.ว.สุรชัย” แนะตั้งกรรมการร่างมาอีกชุดเน้นให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
วันนี้ (28 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกระแสข่าวว่าจะลาออกจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่า ความจริงแล้วคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้หมดอายุไปแล้ว แม้ไม่ต้องลาออกก็จบแล้ว แต่เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวมาถามว่า หากมีการตั้งเป็นกรรมการสมานฉันท์ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะทำอย่างไร ในฐานะประธานอนุกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็บอกว่าตนก็ต้องออกจากอนุกรรมการที่ตั้งมา เพราะภารกิจของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่ได้มีหน้าที่ยกร่างเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราทำหน้าที่ของเราก็คือ เมื่อได้ไปศึกษาแล้ววันนี้คนที่จะตัดสินใจทางการเมืองก็คือรัฐบาลไม่ใช่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
นอกจากนี้ ตนเห็นว่าวุฒิสภาควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับบุคคลอื่นได้เข้ามาทำหน้าที่ได้เช่นกัน หากจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา บุคคลภายนอกก็ควรจะมีโอกาสได้เข้ามาทำหน้าที่ และ ส.ส.เองก็ทำหน้าที่นี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวุฒิสภา
“คู่ของความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายวุฒิสภาไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร เพราะวุฒิฯ ต้องกลับมารักษาสถานะของตัวเอง และรักษาระยะห่างเพื่อความเป็นธรรมและเป็นที่พึ่งให้ประชาชน ซึ่งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต้องตกลงให้ได้ว่าจะแก้ด้วยวิธีใด และขอยืนยันว่า วันนี้ต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม” นายตวงกล่าว
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตคณะกรรมการสมานฉันท์จากสัดส่วนนักวิชาการ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หมดวาระ แต่มีการเสนอให้ต่ออายุเพื่อทำหน้าที่ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ยืนยันว่าไม่สามารถเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะแนวทางดังกล่าวไม่ทำให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์ แต่เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง เชื่อว่าหากรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขบ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวายแน่นอน พร้อมเตือนไปยังวิป 3 ฝ่ายให้อ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ให้ละเอียด เพราะอาจเข้าข่ายมีความผิดจนถูกถอดถอนได้
ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา อดีตคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ขอดูกรอบอำนาจของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก่อน หากยังเป็นชุดเดิมซึ่งไม่มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคงไม่ขอร่วมด้วย ทางที่ดีควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างอีก 1 ชุด โดยนำผู้เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเข้ามายกร่างฯ น่าจะเหมาะสมกว่า