xs
xsm
sm
md
lg

พิตส์เบิร์ก ซัมมิท จุดเปลี่ยนของการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือ ที่เรียกกันว่า จี 20 ที่เมืองพิตสเบิร์ก สหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา

หนึ่งในข้อสรุปของการประชุม คือ ยกสถานะ "จี 20" ขึ้นแทนที่ "จี 8" ในการเป็นผู้นำของโลกในการหารือและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจโลก และให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย บราซิล และเม็กซิโก รวมถึงภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกา มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก

ถ้าข้อสรุปนี้ ได้รับการผลักดันให้เป็นจริง ไม่ใช่เป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูในแถลงการณ์ นี่ก็คือ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของดุลกำลังของระบอบเศรษฐกิจโลก ที่อำนาจจะเคลื่อนย้ายจากโลกตะวันตกไปสู่โลกตะวันออกมากขึ้น


เศรษฐกิจโลก ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ที่เราเห็นว่า มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น นั้น แท้จริงแล้ว ไม่มี “ เจ้าภาพ” หรือ องค์กรที่ทำหน้าที่เป็น รัฐบาลโลก ในการกำหนดกติกา และทิศทาง รวมทั้งการแก้ไขวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น
ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “ ตลาด” เป็นผู้ชี้นำว่า จะไปทางไหน โดยมี “ ราคา” หรือ “ กำไรสูงสุด” เป็นเข็มทิศชี้ทาง ซึ่งในที่สุดแล้ว พิสูจน์ว่า กลับพาหลงทาง เข้ารกเข้าพง หาทางออกไม่เจอ จากการที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปีที่แล้ว จนรัฐบาลสหรัฐฯและรัฐบาลของประเทศในยุโรป ต้องเข้ามาช่วยเหลือ อุ้มสถาบันการเงินในประเทศ

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางของทุนนิยมโลกครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ที่รัฐบาลของประเทศใหญ่ๆทั่วโลก ต้องหันมาร่วมมือกัน แก้ไขสถานการณ์ โดยทุกประเทศต่างใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของตน

กลุ่ม จี 20 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1999 หลังวิกฤติการณ์การเงินเอเชีย ปี 1997 แต่เดิมนั้น ไม่มีบทบาทสำคัญเท่าไร เป็นเวทีของการปรึกษาหารือกันอย่างหลวมๆ ของ บรรดารัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลาง ของชาติ สมาชิก 20 ชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย อาฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยมีตัวแทนของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และองค์การค้าโลก เข้าร่วมประชุมด้วย

การประชุมสุดยอดระดับผู้นำเพิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ภายหลังเกิดวิกฤติการณ์ การเงินในสหรัฐ และหลังจากนั้น มีการประชุมครั้งต่อมาที่ลอนดอน ซึ่งเรียกว่า ลอนดอนซัมมิต เพื่อหามาตรการร่วมกันในการป้องกันไม่ให้ระบบทุนนิยมล่มสลาย และครั้งล่าสุดคือ ที่พิตสเบิร์ก

จากการเป็นเพียงเวที หารือของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าแบงก์ชาติ กลุ่ม จี 20 ต้องกระโดเข้ามาเป็น “ เจ้าภาพ” ในการแก้ไขวิกฤติการณ์เสียเอง เพราะระบบเดิม ที่ใช้การกระชุมกลุ่ม จี 8 เป็นเวที โดยมีไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก เป็นกลไกนั้น ล้าสมัยไปเสียแล้ว

กลุ่ม จี 8 ประกอบดัวยชาติอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 7 ชาติคือ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา กับอีก 1 ชาติ คือรัสเซีย นัดประชุมสุดยอดกันปีละครั้ง เพื่อหารือกันถึงภาวะเศรษฐกิจโลก

โลก ในศตวรรษที่ 20 เป็นโลก ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ซับซ้อนขึ้น แต่ยังเป็นโลกใบเดิมที่ คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ถ้าเกิดสิ่งนี้แล้ว อะไรจะตามมา ควรจะป้องกันอย่างไร แต่โลกเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่อาจคาดได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น เป็นโลกใบใหม่ที่ทำให้ จี 8 เป็นสถาบันที่ล้าสมัย

ที่สำคัญคือ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่า จะเป็นวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย วิกฤติการณ์ในลาตินอเมริกา และในรัสเซีย ระบบทุนนิยมโลก ในนามของกลุ่ม จี 8 สามารถอธิบาย และสั่งสอนว่า ทำไมจึงเกิดขึ้น และควรจะแก้ไขอย่างไร แต่เมื่อตัวเองเจอเข้ากับวิกฤติการณ์ครั้งล่าสุดบ้าง จึงได้รู้ว่า ทฤษฎีและความเชื่อของตนนั้น ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ส่วนไอเอ็มเอฟนั้น ก็เป็นมรดกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นความพยายามร่วมกัน ในการฟื้นฟู ยุโรป ที่ได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับจากสงคราม และป้องกันไม่ให้โลกตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอนาคตอีก ไอเอ็มเอฟ มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่วาระที่ซ่อนเร้นคือ อุดมการณ์เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ซึงที่สุดแล้ว คือ รากเหง้าของวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดนั่นเอง

จีน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย บราซิล ต้องการมีบทบาทมากขึ้น ในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก วิกฤติครั้งล่าสุด จีน เป็นหัวรถจักรที่ฉุดไม่ให้เศรษฐกิจโลกทรุดหนักลงไปกว่านี้ ด้วยมาตรการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศขนานใหญ่

บทบาทของจีน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการช่วยกันกอบกู้วิกฤติการณ์หนนี้ และบทบาทที่มากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก ประกอบกับ การยอมรับของชาติตะวันตกเองว่า ลัทธิทุนนิยม ที่เน้นบทบาทของตลาดเสรี เป็นต้นตอของปัญหาเสียเอง ทำให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ชาติตะวันตกในนามของกลุ่ม จี 8 ต้องเฉลี่ยอำนาจในการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ไปให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจากเอเชีย และลาตินอเมริกา ในนามกลุ่ม จี 20 มากขึ้น

แต่เรื่องนี้ ก็ยังเป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรม กลไกของการควบคุมเศรษฐกิจโลกร่วมกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จะมีหน้าตาอย่างไร ยังไม่ชัดเจน หนึ่งในเป้าหมายของการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ คือ การปฏิรูปไอเอ็มเอฟ ซึ่งที่ผ่านมา สิทธิในการออกเสียง เป็นไปตาม จำนวนเงินที่บริจาค ยุโรป มีเสียงมากที่สุด 40 % สหรัฐอเมริกา มี 17 %

ตามกฎไอเอ็มเอฟ เรื่องสำคัญๆ ต้องได้รับคะแนนเสียงเกิน 85% ถ้าเรื่องใด สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยเพียงประเทศเดียว เรื่องนั้นจะตกไปทันที สหรัฐฯกับจีน เคยเสนอให้ยุโรป ลดสิทธิในการออกเสียงของตนลงมาสัก 5-7 % เพื่อนำเสียงนั้นไปแบ่งให้กับ ประเทศเกิดใหม่ แต่ยุโรปยังมีท่าทีอิดออดอยู่

ดังนั้น การจัดดุลอำนาจ ของการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ จึงเพิ่งจะเริ่มต้น และหนทางข้างหน้าที่จะต้องไปให้ถึง ยังอยู่อีกยาวไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น