xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ชงเองกินเอง ประชาชนไม่เกี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าพวกนักการเมือง ส.ส. และ ส.ว. จะให้ความสนใจกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ได้สักครึ่งหนึ่งของความกระตืนรือร้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความเดือดร้อนของประชาชนในหลายๆเรื่อง ก็จะบรรเทาเบาบางลง

อย่างเช่น มาตรา 67 ที่คุ้มครองสิทธิของชุมชน ไม่ให้ถูกละเมิดจากโครงการลงทุน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ กำหนดให้มี “องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือ ทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบ รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แลสุขภาพของประชาชนในชุมชน ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ”

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว ยังไม่มีการตั้งองค์การอิสระตามมาตรา 67 ขึ้นมา และไม่เห็นมีนักการเมืองคนไหนให้ความสนใจ ปล่อยให้ประชาชนแก้ไขปัญหากันเอง ด้วยการชุมนุม ประท้วง อย่างที่เกิดกับโครงการลงทุนที่มาบตาพุดเมื่อเร็วๆ นี้

ภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงทุน ก็ต้องได้รับความเสียหายไปด้วย จากโครงการที่ต้องชะลอออกไป เพราะไม่มีใครที่จะมีบอกว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ต้องทำแค่ไหน

ถ้านักการเมือง เป็นตัวแทนดูแลทุกข์สุข ของประชาชนอย่างที่ชอบท่องกัน ก็จะต้องไปดูว่า ทำไมจึงยังไม่มีองคืการอิสระตามที่มาตรา 67 กำหนดไว้ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ มีปัญหาตรงไหน เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะนี่คือ สิทธิของชุมชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้

เรื่องแบบนี้ไม่ทำ เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม ทำแล้วไม่ได้อะไร แต่พอเป็นเรื่องส่วนตัว ขมีขมัน จะเอาให้ได้เร็วๆ กันขึ้นมาทันที

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนแต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองทั้งสิ้น ที่พอจะยกเว้นได้อยู่บ้าง ว่า เป็นเรื่องของประเทศชาติ ก็เห็นจะมีแต่ มาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชขอบของรัฐสภา

อีก 5 ประเด็นที่เหลือ เป็นเรื่องของตัวเองล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค(มาตรา 237), ที่มาของ ส.ส.(มาตรา 93-98), ที่มาของ ส.ว.(มาตรา 111-121), การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.(มาตรา 265) และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว.(มาตรา 266)

ประเด็นสุดท้ายนี่ อย่านึกว่า เป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ เพราะที่แท้แล้ว เป็นการเข้าไปแทรกแซงข้าราชการ ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญบับนี้ห้ามไว้

ทั้ง 5-6 ประเด็นนี้ ท่านนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ และคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ตอบได้ไหมว่า มันแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติได้อย่างไร ตรงไหนบ้างที่จะสร้างความสามัคคีขึ้นมาได้ ไม่มีเลย มีแต่เรื่องที่จะทำให้ ส.ส.ชนะเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้เงินซื้อเสียงมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว, ส.ว.พ้นจากตำแหน่งแล้วไปลงสมัคร ส.ส.ได้เลย ไม่ต้องเว้นวรรคไป 2 ปี,ซื้อเสียงแล้วถูกจับได้ก็ไม่โดนยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคไม่โดนตัดสิทธิทางการเมือง, เป็น ส.ส.แล้วยังเป็นเลขานุการรัฐมนตรี คอยจัดคิวพ่อค้าเข้าพบรัฐมนตรีได้ และใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายข้าราชการได้

มันจึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองชงเอง กินเอง โดยห้ามประชาชนเข้ามายุ่งเกี่ยว

อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ผ่านการลงประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ จึงเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของ ส.ส. และ ส.ว.

ถึงแม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนิ จะมีที่มาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2550 แต่อย่าปฏิเสธว่า การยึดอำนาจครั้งนั้น อาจไม่มช่วิธีที่ถูกตามทฤษฎีการเมือง แต่ประชาชนจำนวนมาก เห็นด้วย สนับสนุน รัฐธรรมนูญบับนี้จึงมีความชอบธรรม

ถ้าอยากจะแก้ ก็ต้องถามประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เชื่อเถิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 6 ประเด็นนี้ จะไม่ทีทางเกิดขึ้นได้ ภายใน 1- 2 ปีนี้หรอก
กำลังโหลดความคิดเห็น