xs
xsm
sm
md
lg

รธน.แก้ได้ แต่ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ผ่าประเด็นร้อน"

วิกฤตทางการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม โดยเฉพาะจากคนเสื้อแดงของ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาถือว่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยเหตุที่ว่า “ฟ้าฝน” ไม่เป็นใจ ชาวบ้านเริ่มรู้เห็นธาตุแท้ทั้งลูกพี่และลูกน้อง หลังจากมีการแฉโพยกันเองออกมาเรื่อยๆ ทำนองคนนั้นได้เท่านี้ คนนี้ทำไมได้เท่านั้น

ขณะที่หัวโจกใหญ่ หลังจากที่ปล่อยให้พล่ามออกมาทุกวัน มันก็เหมือนกับการได้ขับถ่ายของเสียออกมาให้สังคมได้เห็นเรื่อยๆ เหมือนกับคนเราถ้าไม่พูดบางครั้งจะไม่รู้ความต้องการภายใน แต่เมื่อไหร่ที่ยิ่งพูดมากแบบวันละ 3-4 เวลา ก็ยิ่งเห็นความจริงบางอย่างที่ซ่อนอยู่ข้างในมากขึ้น

และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีคนมาร่วมชุมนุมน้อยเกินคาด และเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขอย่างอื่นแล้วก็น่าจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จะเหลือแต่พวกฮาร์ดคอร์ที่ฝังหัวอยู่แต่ ทักษิณ อย่างเดียว ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้ ก็ต้องปล่อยไป

แต่ก็อย่าประมาท เพราะสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จำนวนคนไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ต้องระวังก่อเหตุความรุนแรงเพื่อยั่วยุผสมโรงให้วุ่นวาย ประเภทน้ำผึ้งหยดเดียวก็ยังมีโอกาสเสมอ

สรุปโดยภาพรวมแล้วถือว่าความกังวลจากคนเสื้อแดง จากเดิมที่เป็นเรื่องหลักก็จะลดน้ำหนักลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รับลูกโดย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มตัวหลังกลับจากปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐในสัปดาห์หน้า

หากพิจารณาจากท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็พอสรุปได้ว่าน่าจะใช้ 2 แนวทางคือ ตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาพิจารณา 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯดังนี้

1 มาตรา 237 การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตเลือกตั้ง

2 มาตรา 93-98 ที่มาของ ส.ส.

3 มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว.

4 มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

5 มาตรา 265 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.

และ 6 มาตรา 266 การแทรกแซงข้าราชการประจำ


โดยการตั้ง ส.ส.ร.3 ดังกล่าวอาจมีการพิจารณาคัดเลือกจาก อดีต ส.ส.ร.ปี 40 ส.ส.ร.ปี 50 ส.ว.และ ส.ส.หรืออาจรวมไปถึงนักวิชาการภายนอกเข้าไปด้วยตามสัดส่วน หลังจากพิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องมาให้ประชาชนลงประชามติทีละประเด็น ถ้าประเด็นไหนไม่ผ่านก็ให้ตกไป

อย่างไรก็ดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และแม้ว่าหากพิจารณาโดยผิวเผินค่อนข้างจะประนีประนอมและผ่อนปรน แต่สังคมก็รู้ทันอีกว่านี่เป็นเกมซื้อเวลาของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เพราะสามารถโยนไปให้รัฐสภาและ ส.ส.ร.3 พิจารณา ก็ยื้อไปได้อีกพักใหญ่

ที่สำคัญปล่อยให้สังคมมัวแต่ถกเถียงกันในเรื่องประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนไม่ต้องมาวอแวกับรัฐบาลมากนัก

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือสังคมจะคิดเห็นอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะว่าไปแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งใช้บังคับมาแค่ 2 ปี ใช้สำหรับการเลือกตั้งมาแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ที่สำคัญยังไม่พบปัญหาติดขัดกับการบริหารราชการแผ่นดิน จะมีก็เพียงพวกนักการเมืองขี้ฉ้อ รัฐบาลขี้ฉ้อเท่านั้นที่โอดโอย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีข้อบังคับและบทลงโทษอย่างรุนแรง

ขณะที่ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ได้เห็นการตรวจสอบมากขึ้น ที่เห็นกันชัดๆก็คือกรณีมติคณะรัฐมนตรีรับรองแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชายอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านรัฐสภา ศาลปกครองสั่งระงับ และศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นโมฆะ และล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังจะชี้มูลความผิดรัฐบาลชุดของ สมัคร สุนทรเวช

หรือกรณียุบพรรค รู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่ามีข้อห้ามว่าห้ามโกงเลือกตั้งและมีบทลงโทษรุนแรงก็ยังฝืนทำ เมื่อถูกจับได้ก็โวยวาย จะแก้ไขกฎหมายไม่ให้เอาผิดเสียอีก

ความเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้สังคมที่รู้เท่าทัน รับไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์นักการเมือง “ขี้โกง” ล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับชาวบ้านตรงไหน

แม้ว่าหากพิจารณาตามความเป็นจริงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีนับร้อยมาตราก็ย่อมมีบ้างที่อาจไม่เหมาะสม หรือพิจารณาแก้ไขได้ แต่ประเด็นที่สังคมข้องใจก็คือทำไมต้องแก้ไขกันในเวลานี้

อย่างไรก็ดีหากจำเป็นต้องแก้ไขจริงๆก็ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทุกขึ้นตอน ส่วนนักการเมืองหากจะมีก็ต้องให้มาร่วมวงเหลือน้อยที่สุด เพราะตามเหตุผลแล้วคนที่ออกกฎหมายก็ไม่สมควรที่จะใช้กฎหมายเอง

ที่สำคัญหากพิจารณาโดยไม่เห็นหัวชาวบ้าน คิดว่าตามไม่ทันก็ให้ระวังจะเกิดวิกฤตรอบใหม่ที่รุนแรงกว่าเก่า !!
กำลังโหลดความคิดเห็น