xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”กอดประชามติ-ความ “เขี้ยว”ไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
"ผ่าประเด็นร้อน"

ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤตในบ้านเมืองได้อีกครั้งหนึ่งหากไม่สามารถบริหารจัดการ และไม่ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม

ขณะเดียวกันหากนักการเมืองยังคงดึงดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แสวงหาอำนาจแล้วละก็ ขอให้เชื่อได้เลยว่าจะเกิดความวุ่นวายตามมาแน่นอน และคราวนี้จะซ้ำเติมวิกฤตบ้านเมืองให้หนักหนาสาหัสไปกว่าเดิมหลายเท่า

แต่ถ้าหากเกิดขึ้นก็ต้องโทษนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวทั้งหลาย ที่มองไม่เห็นหัวชาวบ้าน คิดอยู่อย่างเดียวว่าเมื่อตัวเองพบอุปสรรคในการเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจการเมืองแล้ว จากกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ก็ตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขหรือล้มกระดานเท่านั้น

ไม่ได้มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งปัญหาทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงล้วนเกิดจากนักการเมือง “ขี้ฉ้อ” เหล่านี้ทั้งสิ้น

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือผลจากคำพิพากษาคดีทุจริตหลายคดี รวมไปถึงการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ทยอยออกมาทำให้นักการเมือง และข้าราชการระดับสูงต้องได้รับโทษ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็ล้วนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งสิ้น

ขนาดที่เรียกว่าเป็น “ยาแรง” แล้วยังเอาไม่อยู่ เพราะนักการเมืองของไทยส่วนใหญ่ไม่เคยสำนึกผิด ขนาดมีหลักฐานปรากฏอยู่ตรงหน้ากลับปฏิเสธหน้าตาเฉย แถมพาลไปโทษรัฐธรรมนูญเสียอีก

ส่วนใหญ่ที่นักการเมืองพวกนี้ชอบนำมาอ้างก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาจากมดลูกเผด็จการ แล้วสรุปเอาเองง่ายๆว่า เมื่อที่มาเป็นเผด็จการ เนื้อหาก็ต้องเป็นเผด็จการด้วย หรือบางครั้งไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นต้องฉีกทิ้งลูกเดียว

ที่ผ่านมาคนที่เสียประโยชน์พวกนี้พยายามกดดันให้มีการแก้ไขเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่มีความสำเร็จ

อย่างไรก็ดีเมื่อหันมาพิจารณาประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มีดังนี้

(1) มาตรา 237 การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตเลือกตั้ง

(2) มาตรา 93-98 ที่มาของ ส.ส.

(3) มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว.

(4) มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

(5) มาตรา 265 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.

และ (6) มาตรา 266 การแทรกแซงข้าราชการประจำ

ก็ลองตรองดูก็แล้วกันว่าทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ส.ส. ส.ว.และรัฐบาลทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ซึ่งทุกประเด็นกลับได้รับชื่นชมจากนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียอีกด้วย

อย่างไรก็ดีเมื่อหันมาพิจารณาท่าทีจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยืนยันชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติทั้ง 6 ประเด็นก่อนการแก้ไข หรือรวมไปถึงหลังจากแก้ไขเสร็จแล้ว

ท่าทีข้างต้นถือว่าน่าติดตาม เพราะเป็นข้อเสนอที่ดูแล้วแข็งขันมากขึ้นเรื่อยๆ และนับวันก็มีหลายฝ่ายให้การสนับสนุน ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติก่อนการประกาศใช้ถึง 14.7 ล้านเสียง แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดจากเผด็จการก็ตาม แต่กระบวนการในการยกร่างก็ผ่านการทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางทุกขั้นตอน

อีกทั้งหากบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็นำใส่ไว้จนครบและปิดจุดอ่อนเอาไว้ด้วย

ดังนั้นเมื่อที่มาของรัฐธรรมมาจากประชาชน เมื่อจะแก้ไขก็ต้องกลับไปถามประชาชนเสียก่อนว่าจะเอาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องสำคัญ คอขาดบาดตายจะให้พวกนักการเมืองกระจอกๆในสภาเพียงไม่กี่คนมาสุมหัวกันแก้ไขกันเองคงไม่ได้

ขณะเดียวกันหากมองในมุมการเมืองถือว่าเกมนี้ของนายกฯอภิสิทธิ์ ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะได้ใช้ประชาชนเป็นหลังพิง เมื่อผลออกมาอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น สยบความวุ่นวายที่จะตามมา เพราะถือว่าได้รับฉันทานุมัติมาแล้ว

ขณะที่ฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาป่วน เพราะที่ผ่านมาก็มักจะอ้างประชาชนไม่ใช่หรือ ก็นี่ไงไปถามประชาชนแล้ว

และที่สำคัญสามารถใช้วิธียื้อเวลารัฐบาลได้อย่างชอบธรรม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี

นี่แหละถึงเรียกได้ว่าความ “เขี้ยว” ทางการเมืองของ อภิสิทธิ์ ที่ไม่ธรรมดา แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคำตอบในตัวเองเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นคงไม่ไต่ระดับในพรรคประชาธิปัตย์มาได้ถึงขณะนี้หรอก !!

กำลังโหลดความคิดเห็น