“ผ่าประเด็นร้อน”
หลังจากที่ประชาชนคนไทยผู้รักชาติ หวงแหนอธิปไตย ไม่ยอมนิ่งดูดายกับการที่ไทยต้องเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรเนื้อที่เกือบ 3 พันไร่ รอบปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชา ถึงกับลงทุน ลงแรงเสี่ยงอันตรายทุกรูปแบบเข้าไปในพื้นที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้สร้างแรงกระเพื่อมพอสมควร อย่างน้อยก็ทำให้ทุกฝ่ายได้หันกลับมาให้มาสนใจกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังอีกครั้ง
อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำให้เรื่องเงียบหรือยอมปล่อยให้นักการเมืองและผู้มีอำนาจ “งุบงิบ” ฮั้วผลประโยชน์กันอีกต่อไปแล้ว
และอย่างน้อยการยกขบวนไปทวงพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนมาก็ไม่ได้สูญเปล่า ขณะเดียวกันจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไปเป็นระยะ อย่างน้อยก็จะทำให้คนไทยที่ไม่รู้ข้อมูล หรือสื่อทุเรศบางกลุ่มที่จงใจบิดเบือนจะได้รู้สึกละอายบ้างว่าสิ่งที่ตัวเองเหยียดหยามคนไทยที่เสียสละเหล่านั้นจะได้สำนึกกันบ้าง
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องจับตาก็คือการแสดงท่าทีล่าสุดของ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะเดินทางไปเจรจากับ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในเร็วๆ นี้ กำหนดการคร่าวๆ ก็น่าจะเป็นหลังจากที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนก็คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ มีหน้าที่โดยตรงหรือไม่ที่จะต้องเดินทางไปเจรจาปัญหาข้อพิพาทกับทางผู้นำกัมพูชา จะเดินทางไปในฐานะรองนายกฯด้านความมั่นคงหรือ ก็ไม่น่าจะใช่
เพราะหากบอกว่าจะไปเจรจาเรื่องปัญหาเขตแดนก็มี คณะกรรมการเจรจาเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว หรือหากเป็นปัญหาระหว่างประเทศก็น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ส่วนระดับผู้นำก็ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้านี้ สุเทพ เคยเดินทางไปพบปะกับ ฮุนเซน เป็นการส่วนตัวที่บ้านพักมาแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ในครั้งนั้นได้สร้างความกังขาให้กับสังคมที่ติดตามข้อมูลว่ามีวาระ “ซ่อนเร้น” อะไรหรือไม่
เพราะจากข้อมูลที่มีรายงานเป็นการเจรจาที่ผ่านการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร โดยที่สถานทูตไทยในกัมพูชา และกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้รับรู้ ทำให้หลายคนยังกังขาจนถึงบัดนี้ว่าทำไมถึงข้ามหน้าข้ามตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถูกจับตาว่าเป็นความพยายามลดบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่นานได้ถูกกลุ่มเสื้อแดงปลุกกระแสความไม่พอใจจากฝ่ายกัมพูชาต่อท่าทีของ กษิต ภิรมย์ ในยุคแรกๆ
ถัดมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม สุเทพ ก็เดินทางไปในฐานะส่วนตัวไปหารือกับ ฮุนเซนอีกรอบ และก็มีเพียงแค่ได้ถ่ายภาพการทำพิธีเปิดถนนสาย 67 ที่จังหวัดเสียมราฐร่วมกับผู้นำกัมพูชาเท่านั้น
ผลการพูดคุยอื่นๆที่ออกมาหลังจากเดินทางกลับมาก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และก็ไม่ได้แถลงอะไรให้ทราบมากนัก
การที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะเดินทางไปกัมพูชาเพื่อเจรจากับฮุนเซนอีกรอบในเร็วๆ นี้ก็ถือว่าน่าจับตาไม่น้อย เพราะเป็นการเดินทางไปเยือนในช่วงที่มีความตึงเครียดเรื่องเขตแดนทุกที แม้ว่าอาจเป็นเรื่องดีที่จะทำให้มีการปรับความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย แต่อีกมุมหนึ่งมันก็มีเรื่องที่ชวนสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมากกว่าพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่
ขณะเดียวกัน ล่าสุดเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) สุเทพได้เปิดเผยออกมาเองว่า ฝ่ายไทยได้มีการอนุมัติให้บริษัทต่างชาติเข้าไปสำรวจหาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยหลายบริษัทเช่นเดียวกับทางฝั่งกัมพูชาที่ได้อนุมัติในลักษณะเดียวกัน และอ้างว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว
ประเด็นนี้ต่างหากที่น่าสงสัย เพราะมีโอกาสเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทับซ้อนที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาล “นอมินี” ทั้ง สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตามลำดับ
เคยมีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่กัมพูชาต้องการรุกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยเข้ามา มีเหตุผลเชื่อมโยงหลายอย่าง เช่น เมื่อสามารถขยับเขตแดนเข้ามาในประเทศไทยได้แล้วก็ย่อมมีผลต่อเส้นเขตแดนตั้งแต่บนบกลงทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงพื้นที่ของไทยอีกมากมาย
ที่สำคัญก็คือ มีผลต่อพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล
ดังนั้น การเดินทางไปกัมพูชาของ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะต้องมีความชัดเจนว่าเดินทางไปในฐานะอะไร เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย หรือไปในฐานะส่วนตัว เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความสงสัยว่าพอมีปัญหาชายแดนทีไร คนที่จะต้องไปเจรจาก็ต้องเป็นรองนายกฯด้านความมั่นคงคนนี้ทุกครั้งไป
แต่อีกมุมหนึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกตั้งข้อสงสัยว่าไปเจรจาเพื่อ “เคลียร์” พื้นที่ทับซ้อนหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกันแน่!!