นายกฯ อภิสิทธิ์ เปิดจอให้สัมภาษณ์สื่อทางไกลถึงทำเนียบรัฐบาล ระบุพยายามหาวิธีทำความเข้าใจให้ต่างชาติเชื่อมั่นในประชาธิปไตยไทย ยันรัฐบาลเร่งสร้างความสมานฉันท์ เผยเจรจาเขตการค้าสหรัฐฯ ยังไม่คืบ ชี้ติดปัญหา เร่งดันการค้ารอบโดฮาแทนหวังเจรจาผลทั้งโลก
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาเพื่อให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 23.00 น. โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ และนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้แทนหอการค้าไทย และนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ รักษาการโฆษกรัฐบาล ร่วมการแถลงข่าวด้วย ซึ่งมีนายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกฯ ทำหน้าที่เป็นพิธีกร นอกจากนี้ ในตึกนารีสโมสร ยังมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เข้าร่วมรับฟังด้วย
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอถือโอกาสพูดถึงภารกิจวันนี้ เริ่มต้นในช่วงเช้าตนมีโอกาสออกสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์นิว โดยได้ให้สัมภาษณ์ถึงวัตถุประสงค์ของการมาเยือนและตอบคำถามถึงการเมืองไทย ช่วงสายได้เข้าร่วมประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติในเรื่องการเปลี่ยนของภูมิอากาศ โดยเริ่มต้นเข้าร่วมพิธีเปิดโต๊ะ ซึ่งมีจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเข้าร่วมถ้อยแถลงในเรื่องนี้ จากนั้นเข้าประชุมในกลุ่มเล็ก และเข้าร่วมงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้พบปะกับนักลงทุนหลายรายได้มีกิจการในประเทศไทย และมีความคิดหรือแผนการขยายการลงทุนต่อไป จากนั้นเดินทางไปบรรยายกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เรื่องอนาคตของการเมืองไทย หรือประชาธิปไตยไทยหลังจากวิกฤติ และจากนั้นได้หารือกับผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการจัดการสัมมนา ซึ่งดูลู่ทางที่จะเดินทางมาจัดการสัมมนาในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และพบกับชุมชนพี่น้องประชาชนคนไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาจากหลายรัฐและนิวยอร์ก
นายวัชระได้สอบถามถึงภารกิจที่นายกฯ ได้ปฏิบัติในช่วงที่ได้พบกับผู้นำประเทศต่างๆ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้พบกับนายกฯ ญี่ปุ่น และประธานาธิบดีจีน พูดคุยกันสั้นๆ ซึ่งเข้ามาก่อนเวลาและเข้าพักห้องรับรองร่วมกัน ส่วนประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นไม่ได้พูดคุยกัน ส่วนหัวข้อที่คุยกันนั้นกับนายกฯ ญี่ปุ่น ตนได้แสดงความยินดี และบังเอิญว่าพรรคการเมืองของญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน สำหรับจีนได้ขอบคุณถึงการเดินทางเยือนจีนที่ได้รับการสนับสนุนด้วยดี และหลังการเดินทางกลับมามีความคืบหน้าด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และได้ย้ำคำเชิญในขณะที่จะมาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่หัวหินในเดือนตุลาคม กับทั้ง 2 ท่าน
นายวัชระสอบถามถึงการท่องเที่ยว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากเดินทางกลับจากจีน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากมีเหตุการณ์ และเรื่องไข้หวัด ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร นอกจากนี้ ตนยังได้พบกับนายกฯ ออสเตรเลีย หลังจากที่พบกันที่การประชุมจี 20 ที่อังกฤษ และการเดินทางมาร่วมประชุมอาเซียนที่ท่านกลับลำเครื่องบินกลางอากาศก็ได้พบกับท่าน ท่านไม่ได้ติดใจอะไร ทักทายกันปกติ
“วันนี้ประเทศใหญ่ๆ ค่อนข้างยืนยันหนักแน่นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บางประเทศให้ตัวเลขมีกรอบเวลา มีความเปลี่ยนแปลงที่หนักแน่นยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีประเทศเล็กๆ ที่เป็นหมู่เกาะแสดงความกังวลว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาทัน และพูดได้เลยว่าประเทศเหล่านี้จะจมน้ำได้เลยในหลายปีข้างหน้า หากภาวะโลกร้อนยังเดินหน้าอย่างนี้ ก็มีความกังวลของทุกฝ่ายที่เหลืออยู่นำไปสู่การตกลงเจรจาที่กรุงโคเปนเฮเกน ที่ประเทศเดนมาร์ก สั้นลงทุกที ถือเป็นภาระอย่างหนึ่งของไทย เพราะในสัปดาห์หน้าเราเจ้าภาพในการประชุมเจรจาในเรื่องนี้ก่อนที่จะประชุมที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน และที่กรุงโคเปนเฮเกนต่อไป” นายกฯ กล่าว
นายวัชระได้สอบถามถึงการให้สัมภาษณ์กับฟอกซ์นิวส์ที่ได้ให้ความสนใจอะไรบ้างกับนายกฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่จริงผู้สัมภาษณ์ค่อนข้างสนใจประวัติของตน เพราะตนศึกษาต่างประเทศแล้วเหตุใดถึงให้ความสนใจทำงานการเมือง แต่ในส่วนของการสัมภาษณ์ก็มีการพูดคุยเรื่องการมาเข้าร่วมประชุมฯ และการเมืองไทย สัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง การเมืองไทยได้สอบถามว่า ปัญหาความขัดแย้งมีท่าทีอย่างไร ท่าทีของรัฐบาลมีท่าทีอย่างไร พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯมีท่าทีเป็นอย่างไร
นายวัชระถามว่า นายกฯ ให้สัมภาษณ์ตอบคำถามของฟอกซ์ว่า “นี่คือประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวา” นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถูกต้องครับ ยืนยันว่าเราจะควบคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ตนคิดว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาเข้าใจดี ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ที่มีการชุมนุมเรียกร้องเคลื่อนไหว แต่ทุกอย่างถ้าเคลื่อนไหวในกรอบของรัฐธรรมนูญ กรอบกฎหมาย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย
ส่วนความประสบความสำเร็จในการพบนักลงทุนสหรัฐฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งสองส่วนต้องยอมรับว่าคนเหล่านี้มีความประทับใจประเทศไทยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หลายคนมีประสบการณ์ มีความสัมพันธ์ เคยเข้ามาจัดกิจกรรมในประเทศไทยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก มาสอบถามแนวนโยบายรัฐบาล นักลงทุนให้การสนับสนุนนโยบายไทยเข้มแข็ง เพราะเห็นว่าจะเป็นการขยายโอกาส การแข่งขัน และเอื้อให้ธุรกิจของเขาต้นทุนต่ำลง และขยายสาขาด้านการเกษตร และสาขาบริการ สำหรับนักลงทุนมีประเด็นที่ตกค้าง เรื่องการจัดเก็บภาษี ซึ่งตนได้อธิบายว่ามีกระบวนการคลี่คลายปัญหาอย่างไร แต่การที่จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวน่าจะทำให้ความสับสนตรงนี้ลดลงในอนาคตด้วย ส่วนผู้ประกอบการการจัดกิจการนิทรรศการก็มาดูลู่ทาง การบริหารจัดการเป็นอย่างไร สำนักงานศูนย์ประชุม ศส.ปน. เข้ามาจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งให้ความมั่นใจในแง่ความสะดวกสบายต่างๆ ในการทำธุรกิจนี้ และมั่นใจว่า ใน 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการฟื้นตัวขึ้น
นายวัชระได้สอบถามถึงการพบปะกับประชาชนชาวไทยในสหรัฐฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในห้องจุได้ 300 แต่มีผู้ผิดหวังบ้าง เพราะห้องเต็มก็ได้พูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง ปัญหาที่ได้รับความสนใจ เช่น ปัญหาภาคใต้ และได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทของคนไทยในต่างแดนด้วย โดยเรื่องแรกต้องยอมรับว่า คนที่อยู่ที่นี่มีทั้งคนที่ถูกกฎหมายและคนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อยากจะบอกว่า ทำอย่างไรให้เราอยู่ในระบบ เพราะอาจจะกระทบกับชื่อเสียงของคนไทยในภาพรวม อยากให้ช่วยเป็นหูเป็นตา และช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างอยู่ในระบบเรียบร้อยถือเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนที่สองเน้นย้ำเหมือนทุกครั้งที่ตนพบกับคนไทยในต่างแดนว่า เขาคือหน้าตาของประเทศ ฉะนั้นอะไรที่ทำอยู่จะส่งผลมาถึงประเทศไทย ขอย้ำว่าจริงๆ แล้วคนที่อยู่ที่นี่ส่วนใหญ่มีศักยภาพ ฉะนั้นหากมีโอกาสที่เยี่ยมเยือนเมืองไทย สามารถสนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทยได้อยากให้ทำ ส่วนที่สามตั้งข้อสังเกตว่า ชุมชนชาติต่างๆ ที่มาอยู่ในสหรัฐฯ มักจะมีการรวมตัวกันค่อนข้างเข้มแข็งถือเป็นวิธีการที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มและสามารถมีบทบาทเคลื่อนไหวในทางการเมือง และทางอื่นๆ ได้ด้วย ฉะนั้นของฝากเอาไว้ถ้าการรวมตัวของชุมชนไทยเข้มแข็งถือเป็นพลังสำคัญอย่างแน่นอน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนไทยที่นี่ให้กำลังใจเยอะ และส่วนใหญ่อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และอยากเห็นการมีรัฐบาลที่มีความมั่นคงระดับหนึ่ง สามารถทำให้ประเทศของเราฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจได้ ไม่อยากเห็นคนไทยทะเลาะกัน อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ทั้งนี้ การไปกล่าวสุนทรพจน์ของตนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีผู้ฟังหลากหลายทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักธุรกิจ เนื้อหาหลัก เน้นเรื่องการเมืองเพราะเรื่องเศรษฐกิจถือว่ามีโอกาสอธิบายในหลายเวทีแล้ว ส่วนเรื่องการเมืองพยายามจะมองในภาพระยะยาวมากขึ้น มากกว่าที่จะให้ทุกคนมาจมอยู่กับเรื่องปัญหาเฉพาะหน้าและได้พูดถึงความตั้งใจของรัฐบาลว่าการเมืองหลังวิกฤติที่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้น น่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เช่น ต้องเป็นการเมืองที่ตอบสนองต่อความต่อการของประชาชน เป็นการเมืองที่ยึดถือธรรมาภิบาล เข้าใจบริบทของสังคมไทยในสังคมโลก และบทบาทการรวมตัวในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับวันพรุ่งนี้จะเปิดประชุมใหญ่ของสหประชาชาติจากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กพบกับผู้บริหารและไปกดสัญญาณปิดการซื้อขาย และหารือกับสภาธุรกิจสหรัฐอาเซียนฯ จากนั้นจะให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของที่นี่ ส่วนในช่วงกลางวันเลขาธิการสหประชาชาติจะเป็นเจ้าภาพ และในช่วงเย็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย บารัค โอบามา จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง
ด้าน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ กล่าวต่อชุมชนชาวไทย ในการให้ความมั่นใจถึงเสถียรภาพของรัฐบาลต่อสังคมไทยและความมุ่งมั่นที่รัฐบาลพยายามจะนำมาซึ่งความปรองดองแห่งชาติและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผนไทยเข้มแข็งรวมทั้งข้อข้องใจของเขาที่มีต่อเหตุการณ์ชายแดน เรื่องต่างๆเหล่านี้ได้มีการชี้แจง ทั้งนี้ เราได้รับฟังข้อเสนอแนะและคำถามเรื่องการส่งเสริมการศึกษาในไทย ประเพณีวัฒนธรรม และการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับลูกหลานคนไทย อเมริกันในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ปรับปรุงการปฏิรูประบบราชการ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสะท้อนความห่วงใยของคนไทยที่อยู่ในสหรัฐฯ และความรักใคร่ซึ่งประสงค์ให้สังคมไทย เป็นสังคมที่มีความคืบหน้าและมีศักดิ์ศรี ส่วนการกล่าวที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หนักไปเรื่องการเมืองเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาอเมริกัน ติดตามความเป็นไปของสังคมไทยอย่างใกล้ชิดทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งนายกฯ ได้ชี้แจงให้เป็นที่กระจ่าง เชื่อว่าข้อข้องใจเหล่านี้ได้รับการตอบสนองจากการชี้แจงของนายกฯ อย่างชัดเจน
ด้าน นายชาญชัยกล่าวว่า ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม เราได้เชิญซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ มาพบกับนายกฯ เพื่อหารือร่วมกัน บรรยากาศเป็นไปด้วยดี โดยส่วนใหญ่รวม 11 บริษัทที่จะไปลงทุนในไทย เช่น ดาร์มเคมีคอล, ฟอร์ด, จีเอ็ม, ไครสเลอร์, การ์เดียน, อเมริกันเอ็กซ์เพรส เอ็กเซลล์, ซีเกต, ไทรอัมป์ เป็นต้น ขณะที่ผู้แทนการค้าไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทต่างๆ ที่จะลงทุนในไทยส่วนใหญ่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว ซึ่งคุ้นเคยกับระบบกฎหมายไทย คำถามส่วนใหญ่ที่สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการจัดเก็บภาษี ทั้งด้านศุลกากร และสรรพากรและเราได้ชี้แจงไปว่าจะมีการตั้งคณะมาทบทวนให้มีความชัดเจนโปร่งใสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัทเหล่านี้มีความยินดีที่ได้พบนายกฯเหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า เราให้ความสำคัญกับการลงทุนในไทย ทางบริษัท ฟอร์ด, จีเอ็ม, ไครสเลอร์ ยืนยันจะมาลงทุนเพิ่มในไทย รวมทั้งบริษัท โคคา-โคลา ที่จะมาลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์