นายกฯ ยอมรับรู้สึกกังวล หวั่นมีการยั่วยุพยายามก่อเหตุรุนแรง ยืนยันการบังคับใช้ กม.มั่นคง ไม่ใช่ต้องการกำจัดสิทธิ แต่เพื่อป้องกันเหตุเผชิญหน้า ไม่เชื่อลมปาก “ณัฐวุฒิ” มือที่สามจ้องป่วน ระบุต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปเยี่ยมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ว่า มีการกำหนดโครงสร้างต่างๆ เรียบร้อยแล้ว พอมีเวลาก็ไปเยี่ยม นโยบายหลักๆจะเป็นเรื่องที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้รับบทบาทสำคัญที่จะต้องดูแล โดยเฉพาะเรื่องปัญหาภาคใต้ และเรื่องยาเสพติด และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นัดหมายไว้นานแล้ว ส่วนในเรื่องการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ก็มีการประชุมไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.
เมื่อถามว่า เวลานี้ข่าวอะไรที่ออกมาเหมือนกับว่าสะท้อนภาพ ว่า อาจจะเกิดความรุนแรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นความห่วงใย ที่ผ่านมา ได้ย้ำเสมอว่า เวลาที่มีการชุมนุมใหญ่ ข้อกังวลมีความเสี่ยง แต่ได้กำชับให้ทุกฝ่ายต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยึดแนวทางที่หลีกเหลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงหรือการปะทะกัน เป็นความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ที่จะให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย
เมื่อถามว่า แกนนำคนเสื้อแดงอย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมากล่าวว่า หากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นคนเสื้อแดงไม่เกี่ยวนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ตนได้เน้นย้ำว่า เรื่องที่พูดไปไม่ว่า จะเป็นเรื่องกฎหมายความมั่นคง เป็นไปเพื่อที่จะให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ได้เป็นการไปพยายามกำจัดสิทธิ์ ส่วนที่บอกว่ายังมีความพยายามที่จะไปปลุกปั่นยุยง ยังมีอยู่นั้น ตนก็พยายามที่จะให้ข้อมูล อยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในการประชุมสภาฯร่วมรัฐบาลมีการยืนยันชัดเจน ถึงจุดยืนในการทำงานทางด้านการเมืองและข้อขัดข้องใจ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เสนอทางออกที่ชัดเจนเบื้องต้น ดูว่าทุกฝ่ายก็ยอมรับว่าน่าจะเป็นกระบวนการที่ดี
เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถตอบโจทย์คนเสื้อแดงได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนคิดว่า คงไม่สามารถไปตอบโจทย์ทุกคนได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากเห็นว่า น่าจะต้องมีการแก้ไข ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นในเรื่องสัญลักษณ์ด้วยตรงนี้ เป็นเรื่องที่ทำและทำเมื่อเป็นประโยชนต่อส่วนรวม
“อย่างที่ผมบอกมาตลอดว่า กลุ่มคนบางกลุ่มทำอะไรคงยาก เพราะอาจจะมีเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งอาจจะไม่สามารถได้รับการตอบสนองได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำเช่นการตั้ง ส.ส.ร.นั้น นายกฯกล่าวว่าไม่ได้พูดเรื่องส.ส.ร. เมื่อคืน(17ก.ย.) ก็มีการพูดกันชัดเจนแล้ว บอกว่า เมื่อตนกลับมาจากสหรัฐฯจะมาดูในเรื่องของ การที่จะเดินหน้า และจะยกร่างโดยใคร เพียงแต่ขอหลักเอาไว้ว่าการเสนอร่างแก้ไขต้องเป็นเรืองที่ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน โดยยึดเอา 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ และที่สำคัญที่สุดคือ การแก้ไขใดๆที่จะมีผลบังคับได้ ขอให้ผ่านกระบวนการของประชามติ หรือการยอมรับจากประชาชน สาวนเรื่องที่วิปรัฐบาลเสนอว่า จะมีการตั้ง ส.ส.ร.จาก 4 ฝ่าย จะเข้ามาเป็นองค์ประกอบนั้น นายกฯกล่าวว่า ตรงนั้นก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ก่อนที่ตนจะได้คุยกันอีกรอบหนึ่ง