xs
xsm
sm
md
lg

หนุนใช้ กม.มั่นคงฯ คุมเสื้อแดง “กรณ์” มั่นใจเป็นบวกเรียกความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์” เชื่อการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เฉพาะเขตดุสิต ในวันที่ 26 ส.ค. และวันที่ 30 ส.ค.ส่งผลในเชิงบวก ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ปัญหาม็อบเสื้อแดงจะไม่บานปลาย หากไม่มีมาตรการนี้ ความเชื่อมั่นก็จะไม่มี พร้อมแสดงความเป็นห่วงผลกระทบราคาน้ำมันมากกว่า

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยระบุถึงการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อดูแลสถานการณ์บ้านเมือง ตนเองมองว่า จะส่งผลบวกทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าปัญหาม็อบเสื้อแดงจะไม่บานปลาย เพราะเป็นการประกาศเฉพาะพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์เท่านั้น ไม่ใช่การประกาศทั่วเขตกรุงเทพฯ

รมว.คลัง กล่าวเสริมว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อดูแลสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2552 นี้ จะเป็นมาตรการที่ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า สถานการณ์การชุมนุมจะไม่เกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงหรือบานปลายเหมือนที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งจึงเป็นที่มาที่ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว

“ผมกลับมองในทางกลับกันว่า การออกกฎหมายครั้งนี้จะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนให้เชื่อได้ว่าปัญหาการเมืองจะไม่บานปลาย เพราะหากไม่มีมาตรการนี้ออกมาความเชื่อมั่นก็จะไม่มี”

โดยวันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เฉพาะในพื้นที่เขตดุสิต ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 1 สิงหาคม 2552 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรง โดยที่ไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายมาบังคับใช้ ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว

นายกรณ์ ยอมรับว่า รัฐบาลเป็นห่วงในขณะนี้คือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เพราะการที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นส่งผลในแง่ลบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ เนื่องจากไทยต้องนำเข้าน้ำมันถึง 90% ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามเร่งขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น