หลายคนคงลืมภาพของ"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ในบทบาทนักพูดที่สร้างชื่อให้กับตัวเขาไปแล้ว หลังจากเขาตัดสินใจก้าวสู่สนามการเมืองและอาสาเป็นแนวหน้าปกป้องระบอบทักษิณ เช่นเดียวกับชาวสิชลที่เคยชื่นชมในตัวความสามารถของเด็กสิชลคนนี้ ลองย้อนดูวิถีที่เปลี่ยนไปของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ตอนที่ 2 ของรายงาน “3 เกลอหัวขวด สู้แล้วรวย”
อ.สิชล บ้านเกิด"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ"
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ เต้น ชื่อเล่นที่คนใกล้ชิดคุ้นเคย มีพรสวรรค์ด้านการพูดที่ฉายแววมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ซึ่งหลายคนยังจดจำ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”ตัวแทนนักเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่คว้าแชมป์ รายการโต้คารมมัธยมศึกษาของ “กรรณิกา ธรรมเกสร” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการที่ “ณัฐวุฒิ” สามารถเฉือนเอาชนะคู่แข่งฝีปากกล้าในรอบชิง อย่าง สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์ หรือ เสนาลิง ตัวแทนโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้อย่างน่าประทับใจ
การคว้าชัยในการแข่งขันโต้วาทีครั้งนั้น นอกจากสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวสิชล บ้านเกิดของณัฐวุฒิใช่น้อย
อ. สาโรจน์ น้อยทับทิม อาจารย์ ร.ร.เบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช
“เคยพุดอยู่เสมอว่า คนเราเวลาถึงวัยๆ หนึ่ง ที่เขาเรียกว่า adult หรือวัยผู้ใหญ่ การเป็นผู้ใหญ่นี่ เขาย่อมมีความคิดของเขาเอง เขาย่อมมีอุดมการณ์ หรือจะมีอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นแนวคิดของเขา ทีนี้สิ่งที่เขาตัดสินใจทำนี่ เราก็ไปหยั่งไม่รู้หรอกว่า เขาตัดสินใจไปเพราะอะไร อุดมการณ์หรือว่า อะไรพาไป คำว่าอะไรพาไปเนี่ย เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้นะ เราก็ไม่สามารถพิพากษาได้” อ. สาโรจน์ น้อยทับทิม อาจารย์ ร.ร.เบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช กล่าว
ศิรพัฒน์ ชีวาณิชย์ ชาว อ.สิชล
“โต้วาที เราก็ชื่นชมว่า ดูเด็กบ้านเราดี แต่ออกไปขัดความประสงค์ของคน คือเขาไม่รู้บ้างเหรอว่าคนส่วนมากน่ะ ชื่นชมเขาด้านไหน ระยะนี้นะ ระยะก่อนเขามีแต่ชื่นชมว่าเป็นเด็กเก่ง พูดเก่ง แต่ตอนเนี้ย พี่ว่าเขาน่าเซอร์เวย์บ้างนะ ถามคนเขาบ้างว่า มึงชอบกูไหม” ศิรพัฒน์ ชีวาณิชย์ ชาว อ.สิชล กล่าวถึงณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตทางการเมืองของณัฐวุฒิ เริ่มต้นตั้งแต่วัย 16 ปี เริ่มจากการช่วยน้าชายปราศรัยหาเสียงจนได้รับเลือกเป็น ส.จ.นครศรีธรรมราช และเริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างจริงจังในช่วงอายุ 25 ปี หรือเมื่อปี 2544 เมื่อเข้าซบพรรคชาติพัฒนา และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราช จากคำชักชวนของน้าชาย แต่ต้องพ่ายให้กับคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้เงินที่เก็บหอมรอมริบไว้หมดลง จนต้องถอยไปตั้งหลักยึดอาชีพนักพูด สะสมเงินนำเพื่อกลับมาใช้เล่นการเมืองอีกครั้ง
หลังจากตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินได้ประมาณ 5 ปี ณัฐวุฒิก็สบโอกาสกลับเข้าสู่วังวนของการเมืองอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย ในทีมปราศรัยล่วงหน้าของ ทักษิณ ชินวัตร ก่อนจะได้รับโอกาสเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. 2 เมษายน 2549 จนได้รับเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นผลการเลือกตั้งก็โมฆะ และเพียงไม่กี่เดือนก็เกิดการทำรัฐประหารขึ้นโดย คมช.
อานิสงส์จากทำรัฐประหาร กลับส่งผลณัฐวุฒิ ได้รับแต่งตั้งเป็นทีมโฆษกพรรคไทยรักไทย และร่วมก่อตั้งบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี พ่วงตำแหน่งใหญ่ ผู้อำนวยการสถานี และเมื่อมีการก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปก.ขึ้น ก็รับหน้าเสื่อเป็นหนึ่งในแกนนำ
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในบทบาทแกนนำคนเสื้อแดง
ณัฐวุฒิ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้งในระบบสัดส่วนพรรคพลังประชาชน พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนใต้ส่วนใหญ่จะไม่ลงคะแนนให้เด็กใต้ผู้ฝักใฝ่ในระบอบทักษิณคนนี้ แต่ด้วยผลงานระดับหัวหมู่ทะลวงฟัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีก ที่พรรคพลังประชาชน จะผลักดัน “ณัฐวุฒิ”เป็นกระบอกเสียงในฐานะรองโฆษกรัฐบาล สมัยสมัคร สุนทรเวช และขยับขึ้นขั้นโฆษกรัฐบาลสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
แต่ดูเหมือนบทบาทและผลงานที่โดดเด่นของณัฐวุฒิ คงไม่พ้นแกนนำคนเสื้อแดง กระทั่งผลของงานปรากฏเมื่อถูกควบคุมตัวดำเนินคดีหลังนำคนเสื้อแดงออกถนนก่อการจลาจลกลางเมืองเมื่อกลางเดือนเมษายน
ประทีป ศรีทอง ชาว อ.สิชล
“เขาทำในสิ่งที่ดีๆ เราก็ยอมรับได้ ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ดี ชาวอำเภอสิชลก็ บางทีก็ดูไม่ได้ รับไม่ได้ เราเพื่อนๆ กัน รับไม่ได้ เราก็ดูๆ เขาก็ ไม่รู้เขาทำอะไรของเขา เรารู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของเขา แต่เราเป็นชาวบ้าน แต่ดูสิ่งที่เขากระทำ บางทีดูไม่ได้” ประทีป ศรีทอง ชาว อ.สิชล กล่าว
“เสียดายคนสิชล เพราะคนสิชลไม่น่า อำเภอเดียว แต่ทำให้ทั้งประเทศเสียหาย แล้วทำอะไร ที่พูดอะไรออกไปนะ คือ ไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่เขาทำเลย แล้วสิ่งที่ถูกต้องอะ อย่างยื่นฎีกาเนี่ย ทำไมไม่ทำตามขั้นตอน มีความรู้จริงไหมที่เขาเรียนจบมา แค่นั้นน่ะ เพราะว่า ไม่น่าจะเรียนหนังสือมาได้ปริญญานะ ปริญญาโทเสียดาย เสียดายปริญญา” ศิรพัฒน์ ชีวาณิชย์ ชาว อ.สิชล กล่าว
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นชาวสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่ชาย 1 คน แต่พ่อแม่ได้แยกทางกันตั้งแต่ยังเล็ก โดยพ่อไปมีครอบครัวใหม่ ในขณะที่ณัฐวุฒิ สมรสกับสิริสกุล ใสยเกื้อ และมีบุตรชาย 1 คน ชื่อเด็กชาย “นปก” ซึ่งมาจากชื่อย่อของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ที่เขาภาคภูมิใจ
ด้านประวัติการศึกษาจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ มัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปริญญาตรีนิเทศศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต การจัดการภาครัฐและเอกชน
ณัฐวุฒิ เริ่มต้นอาชีพนักพูด โดยเป็นนักอบรมการพูดกับ บริษัท อดัมกรุ๊ปของ อภิชาติ ดำดี และหลายคนรู้จักเขามากขึ้น จากบทบาทตัวเอกในรายการสภาโจ๊ก ภายใต้เงาเสียงของไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในบทบาท ส.ส.ฝ่ายแค้นใน"สภาโจ๊ก"
ณัฐวุฒิ เข้าเรียนปริญญาโทที่นิด้า ระหว่างร่วมงานกับสภาโจ๊ก เพื่อหวังได้ความรู้เพิ่มเติม ด้วยความเป็นนักกิจกรรม นักพูดฝีปากกล้า และมักอาสาเป็นโฆษกกิจกรรมต่างๆ ของสถาบัน ทำให้เพื่อนร่วมสถาบันรู้จักเขาในด้านนี้มากกว่าด้านวิชาการ
แต่สิ่งที่สร้างความตกใจและผิดหวังให้กับอาจารย์ผู้สอน และเพื่อนเรียนในระดับปริญญาโท คงเป็นการที่ณัฐวุฒิเข้าร่วมกับคนเสื้อแดงในฐานะแกนนำ และยังหาญกล้าเปิดประเด็น “อมาตยาธิปไตย” ถึงขั้นทางสถาบันต้องทบทวนว่า ควรเพิ่มเติมจุดยืนแบบใดให้กับนักศึกษาในอนาคต เพราะที่ผ่านมา “นิด้า” ผลิตผู้นำออกมาหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มใด สีใด ก็ไม่เคยมีความพฤติกรรมเช่นนี้
รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า
“ถ้าในแง่ความคิดเห็นทางการเมืองนี่ เราก็ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกนี่ ในมุมมองของคนที่เป็นครูเขานะครับ ซึ่งก็อาจจะไม่สามารถไปอ้างได้ทั้งหมดว่าเราเป็นครูที่ให้เขาทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เป็นครูในช่วงหนึ่งของชีวิตเขาที่ได้มีโอกาสสอนอยู่ในหลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชน
“ตอนที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านคุณทักษิณ ในทางการเมืองนี่นะครับ แล้วก็เห็นณัฐวุฒิเขาไปร่วมอยู่ในเวทีที่ ทางฝ่ายคุณทักษิณนี่นะครับ โดยเฉพาะ เข้าใจว่าเป็นคนแรกๆ ที่ไปเปิดประเด็นเรื่องอมาตยาธิปไตย อะไรนี่ ในฐานะที่เป็นครูเขาก็รู้สึกช็อกเหมือนกันนะว่า เขาก็ไปแสดงจุดยืนทางนั้น” รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้ากล่าว
การได้รับปูนบำเหน็จเป็นถึงโฆษกรัฐบาล ประกอบกับฐานะทางการเงินที่มั่งมี ดีวันดีคืนในช่วงรับใช้ระบอบทักษิณ โดยเห็นได้ชัดจากการมีบ้านหรูร่วม 10 ล้านบาทในหมู่บ้านเศรษฐสิริ ย่านสนามบินน้ำและใช้รถยนต์ราคาแพงไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้ณัฐวุฒิ ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองหลวงอย่างไม่อายใคร
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในบทบาทผู้ดำเนินรายการทีวีคนเสื้อแดงเพื่อพิทักษ์ระบอบทักษิณ
แต่การได้มาซึ่งทรัพย์สินและบารมีจากการรับใช้ระบอบทักษิณ กลับทำให้ครอบครัว พี่-น้องของณัฐวุฒิ ถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวสิชล โดยเฉพาะที่บ้านเกิดในชุมชนสะพานน้ำแดง ถนนขอจิตต์เมตต์ ในอำเภอสิชล จนแม่ของณัฐวุฒิไม่อาจทนต่อแรงกดดันของเพื่อนบ้าน ต้องปิดกิจการร้านขายข้าวแกงมานานกว่า 1 ปีแล้ว เนื่องจากคนในชุมชนเริ่มไม่กินข้าวแกงร้านนี้
ทำให้ปัจจุบันแม่ของณัฐวุฒิต้องทิ้งร้างบ้านเกิด ไปช่วยญาติขายข้าวแกงที่เขาพลายดำ เพราะคนที่นั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นเครือญาติของณัฐวุฒิทั้งสิ้น เช่นเดียวกับญาติฝ่ายบิดาในอำเภอปากพนัง ที่หลายคนถึงกับต้องเปลี่ยนนามสกุลจาก “ใสยเกื้อ” เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมของนายณัฐวุฒิ รวมทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียหายเสมอ เมื่อออกสังคม
เปิดปูม 3 เกลอหัวขวด : “ตู่-สู้แล้วรวย”