เลขาฯ ปชป.สยบข่าวขัดแย้ง “บัญญัติ” ชี้เป็นความคลาดเคลื่อน ยืนยันมีความเห็นตรงกันการแก้ไข รธน.ต้องให้ภาค ปชช.มีส่วนร่วม โบ้ยแนวทางแก้ รธน.ต้องฟังเสียงสภาฯ ทั้ง “ระยะสั้น-ระยะยาว หรือจำเป็นต้องตั้ง ส.ส.ร.”
วันนี้ (16 ก.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายสุเทพ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มีความคิดเห็นไม่ตรงกันว่า ข่าวคลาดเคลื่อนมาก เพราะตนและนายบัญญัติมีความเห็นตรงกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ โดยความคิดความเห็นสำคัญๆ จะต้องมาจากความคิดเห็นของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งสมาชิกในพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นตรงกัน ดังนั้น ความคิดความเห็นในการประชุมรัฐสภาจะไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะอภิปรายโดยมีตัวตั้งคือข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเราจะนำเสนอแนวทางที่ถูกต้องที่เหมาะสมสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อถามว่า การแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งที่พรรคร่วมพยายามผลักดันนั้น ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์จะไม่เอาด้วย นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ให้ความเคารพในข้อตกลงที่มีอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล แต่เราต้องการให้สมาชิกของแต่ละพรรคไปพูดคุยกันแล้ว และให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไปหารือกันให้มีความเห็นชอบร่วมกันแล้วแจ้งไปแต่ละพรรค ดังนั้น ขั้นตอนการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องของสมาชิกพรรคทุกพรรคจะร่วมกันเข้าชื่อ เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวิปรัฐบาลที่จะแก้ไขเฉพาะมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสุเทพ กล่าวว่าตนอยู่ในที่ประชุมด้วยตลอดและวิปรัฐบาลไม่ได้พูดออกมาแบบนั้น
เมื่อถามว่า ข้อเสนอระยะสั้นแก้ไขเพียง 2 ประเด็น คือ 190 และระบบเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยแก้ไขเรื่องอื่นๆ ในระยะยาวนั้นเป็นไปได้หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ในการหารือกันในพรรคประชาธิปัตย์ มี 2 ประเด็นที่พรรคต่างๆ เห็นพ้องต้องกันก็สามารถแก้ไขไปก่อนเลยได้ โดยเฉพาะมาตรา 190 และเขตเลือกตั้ง ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เหลือต้องให้ประชาชนตัดสินใจ จึงอาจจะมีการทำประชามติ หรืออะไรต่างๆ เพื่อร่วมกันตัดสินใจ แต่ในการประชุมรัฐสภาก็จะมีการเสนอความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ