นายกฯ ระบุการนำประเด็นการแก้ไข รธน.หารือในที่ประชุมรัฐสภาเหมาะสมแล้ว ติงต้องระวังมาตราที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ได้เสียของ ส.ส.-ส.ว. ไม่ขัดข้องหากเสียงส่วนใหญ่ขอตั้ง ส.ส.ร.3 อ้อนกลุ่มชุมนุมให้ใจเย็นอย่าเพิ่งออกมาชุมนุมนอกสภา
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตอนที่อยู่กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่บ้านสนามบินน้ำเมื่อเช้านี้ ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้มีการอภิปรายกันไป และคิดว่าทางพรรคร่วมรัฐบาลคงจะเริ่มมีความเห็นใกล้เคียงกันมากขึ้นว่า ประเด็นไหนบ้างที่จะเดินหน้าไปได้ แต่ทาง ส.ส.และส.ว.ส่วนหนึ่งเข้าใจว่า เขาก็ยื่นตัวร่างของเขาเข้ามาแล้ว แต่เราอยากจะขอให้ทางสภาฯมีการอภิปรายเป็นการทั่วไปรอบหนึ่งก่อนและคงจะเดินหน้าได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้วางวันไว้หรือยัง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ย.ในการประชุม ครม. ถ้าส่งไปที่สภาฯก็คงจะเย็นวันที่ 8 ก.ย.หรือไม่ก็วันที่ 9 ก.ย. ซึ่งตนอยากให้สภาประชุมในวันที่ 16-18 ก.ย.นี้ ส่วนจะกี่วันก็แล้วแต่ทางประธานสภาจะกำหนด
ต่อข้อถามว่า พรรคอยากจะแก้ตรงไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า บางเรื่องไม่มีปัญหา อย่างม. 190 เป็นต้น แต่บางเรื่องอยากให้ระมัดระวัง เพราะมีการไปตีความมาตรา 122เหมือนกันว่าประเด็นไหน ที่เป็นประโยชน์โดยตรงของ ส.ส.และ ส.ว.จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ฉะนั้นเป็นแนวทางที่ต้องไปดูรายละเอียดตรงนั้น ส่วนแนวคิดที่บอกว่า อาจจะต้องมีการตั้งส.ส.ร.สำหรับระยะยาว เราก็ไม่ได้ขัดข้อง ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของพรรคเรื่องการนิรโทษกรรมยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เวลานี้มันไม่มีประเด็น
เมื่อถามว่า มี ส.ส.และส.ว.บางส่วนรวมทั้งพันธมิตรฯออกมาบอกว่าถ้ามีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะออกมาชุมนุมคัดค้าน นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ตนคิดว่าการอภิปรายทั่วไปมันไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ต้องชุมนุมคัดค้านอะไร เป็นการรับฟัง ถ้าไม่รับฟังกันก่อนเราก็จะไม่ทราบเหตุและผลของแต่ละฝ่าย ดังนั้นใครที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็อยากให้เป็นเรื่องของสภาฯที่จะพูดคุยอธิบาย ประชาชนจะได้รับรู้รับทราบ จากนั้นจะตัดสินใจทำอะไรคงจะเปิดให้มีส่วนร่วมอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงคิดว่าจะอธิบายกับสังคมได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็ต้องอธิบายได้ หากอธิบายไม่ได้ก็คงแก้ไขไม่ได้ ต่อข้อถามว่า ส.ส.และส.ว.ได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีชื่อ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะถูกมองว่ารัฐบาลยื้อเวลาหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มีประเด็นอย่างนั้น ตนคิดว่าตัวข้อสรุปของคณะกรรมการมีระยะสั้นกลางยาว และมีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องมาพูดคุยกัน ตนไม่ทราบว่าจริงๆแล้วที่ยื่นไปวันนี้มีของพรรคไหนอย่างไรบ้าง