ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดรับฟังคำชี้แจง คำร้อง “สุรพงษ์” ขอให้สอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 53 ชี้ กรรมาธิการแปรญัตติไม่มีรายละเอียดเข้าข่ายขัดมาตรา 168 วรรค 6 “สุรพงษ์” หวังผิดถึงขั้นรัฐยุบสภา เตรียมนัดชี้ชะตาพรุ่งนี้ เวลา 17.00 น.เผยส่อไม่ขัด รธน.หลังเคยมีกรณีร้องสมัยรัฐบาล “สมชาย” ที่ศาลชี้ไม่ขัด รธน.
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับฟังคำชี้แจง กรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอให้ตรวจสอบว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2553 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 6 หรือไม่ โดยฝ่ายผู้ร้องมีผู้มาเข้าชี้แจงประกอบด้วยฝ่ายผู้ร้อง ได้แก่ นายสุรพงษ์ นายประเกียรติ นาสิมมา นางอนุสรา ยังตรง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขณะที่ฝ่ายกรรมาธิการงบประมาณ ประกอบด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองประธานกรรมาธิการ และนายบัณฑูร สุภัควณิช ผอ.สำนักงบประมาณ ผู้เข้าชี้แจง
ภายหลังจากการชี้แจงกว่า 1 ชั่วโมง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้ให้ปากคำเพิ่มเติมกรณีที่กรรมาธิการงบประมาณ ได้แปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า การเสนอดังกล่าวขัดต่อมาตรา 168 วรรค 6 เพราะกรรมาธิการ และ ส.ส.จะมีส่วนรู้ถึงการใช้งบประมาณ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จะกระทำมิได้ เพราะฉะนั้นการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ โดยไม่มีรายละเอียดของโครงการ เป็นไปไม่ได้นอกจากจะมีการสมรู้ร่วมคิดกันเท่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การแปรญัตติเพิ่มเติมก็ถือว่าตกไป เพราะ ส.ส.จะทำได้แค่ปรับลดเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการตีความว่าการแปรญัตติเพิ่มเติมนั้นไม่ได้แปรโดยกรรมาธิการงบฯ แต่ทำโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นอย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จะบอกว่า เป็น ครม.เป็นผู้แปรญัตติก็ทำไม่ได้ เพราะ ครม.ก็ต้องแปรผ่านกรรมาธิการเช่นกัน แล้วนำมาเข้าสู่สภาโดยที่ไม่มีรายละเอียด และให้สภารับรอง ส.ส.ไม่ใช่วัวใช่ควาย แต่ไม่ว่าผลจะออกอย่างไรเราก็ยอมรับ หากศาลตีความว่าถูก คราวหน้าเราจะทำบ้าง เพราะเราชอบเลียนแบบ
“หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าผิด รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่ยุบก็เป็นเรื่องของนายกฯ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นสมัย พ.ศ.2481 ที่พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกฯ ซึ่ง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านสภา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ยุบสภา ดังนั้น ก็อยู่ที่รัฐบาลว่าจะละอายหรือไม่ ถ้าหน้าหนาไม่ออกก็เป็นเรื่องของท่าน” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่ตนจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมีความพยายามล็อบบี้ ให้ตนไม่ยื่นโดยผู้ที่จะเสียประโยชน์ และอยู่อีกฟาก แต่ไม่ได้เป็นการขู่บังคับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะชนะคดีหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า “ผมไม่เคยมั่นใจอะไรกับศาล”
ด้าน นายประเกียรติ กล่าวว่า ตามธรรมเนียมปกติ หากรัฐบาลจะตั้งงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกระทรวง ทบวง กรม จะต้องทำเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติม มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเพิ่มให้หน่วยงานใดและใช้ในกิจการอะไร และเสนอเข้าสู่สภา เริ่มต้นตั้งแต่วาระ1 ใหม่ ไม่ใช่ลักไก่พอผ่านวาระ 1 ก็เพิ่มงบในชั้นกรรมาธิการ โดยที่ไม่มีรายละเอียดเช่นนี้
ด้าน นายกรณ์ พร้อมทั้ง กมธ.งบ ใช้เวลาชี้แจงประมาณ 40 นาที ภายหลังชี้แจงเสร็จก็รีบเดินทางกลับทันทีโดยปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดของการชี้แจง ซึ่ง นายกรณ์ กล่าวเพียงว่า “ชี้แจงไปหมดแล้วและไม่น่ามีปัญหาใดๆ”
ทั้งนี้ ภายหลังการชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดวันแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันที่ 3 ก.ย. เวลา 17.00 น
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีคำร้องที่พรรคเพื่อไทยมายื่นมานั้นมีลักษณะเดียวกับที่ 30 ส.ว.ที่นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.เคยยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 สมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขณะนั้นมีการร้อง ว่า การตัดลดงบประมาณและตั้งงบประมาณเพิ่มกลับมาอีกนั้นน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 และ 168 เพราะ ครม.เป็นผู้ใช้งบประมาณ แต่ ครม.ยังมีสถานะเป็น ส.ส.จึงต้องห้ามแปรญัตติใดๆ ที่มีผลได้เสียไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม ซึ่งในครั้งนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติวินิจฉัยด้วยมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 168 วรรค 6 แต่อย่างใด เพราะการที่ ครม.มีมติให้เสนอเพิ่มงบประมาณเท่ากับจำนวนที่ถูกปรับลดต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นการกระทำในฐานะฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติ ซึ่งเป็นการดำเนินการในฐานะองค์กรฝ่ายบริหาร มิได้กระทำในฐานะ ส.ส.