ศาลปกครองสูงสุด สั่งไม่รับอุทธรณ์คำร้องสอด ทายาทแม้ว ขอเข้าเป็นคู่กรณีโต้แย้งสิทธิ คดีแบงก์ไทยพาณิชย์ ร้องระงับจ่ายเงินในบัญชีชำระภาษีขายหุ้นชิน ตามคำสั่งสรรพากรซ้ำซ้อน คำสั่งอายัด คตส.มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน ชี้ ผลคดีไม่กระทบสิทธิ โอ๊ค-เอม
วันนี้ (26 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุด โดย นายจรัญ หัตกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ยกคำอุทธรณ์ที่ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งรับทั้งสองคนเป็นผู้ร้องสอด เพื่อเป็นคู่กรณี โต้แย้งสิทธิ ว่าธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไม่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำ 1328/2551 ต่อศาลปกครองกลาง ที่ขอให้ศาลสั่งธนาคาร ระงับการส่งเงินบัญชีของทั้งสองคน เพื่อชำระค่าภาษีอากรค้าง เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่คำนวณจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2550 ของนายพานทองแท้ จำนวน 6,075,498,993.21 บาท และ น.ส.พิณทองทา จำนวน 6,075,236,235.38 บาท ตามคำสั่งอายัดของกรมสรรพากร ที่ซ้ำซ้อนคำสั่งอายัดทรัพย์สินคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
โดย นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ยื่นคำอุทธรณ์ อ้างว่า เนื่องจากทั้งสองเป็นเจ้าของทรัพย์ การที่ศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องสอดให้ทั้งสองเป็นคู่กรณี เพราะเห็นว่าคดีที่ ธ.ไทยพาณิชย์ ฟ้องกรมสรรพากร คดีหมายเลขดำ 1328/2551 นั้น มีประเด็นพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งอายัดกรมสรรพากร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากศาลพิพากษาเป็นอย่างไรก็ตาม ผลคำพิพากษาก็ไม่มีผลกระทบที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิในบัญชีเงินฝากของทั้งสองแต่อย่างใด นั้นไม่เห็นด้วย เพราะทั้งสองเห็นว่า การวินิจฉัยเนื้อหาของคดีนั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสียก่อนว่าคำสั่งอายัดของ คตส.ชอบด้วยกฎหมาย และยังมีผลให้ใช้บังคับอยู่หรือไม่ ซึ่งทั้งสองเห็นว่าคำสั่งอายัดของ คตส.ไม่มีผลแล้ว ทำให้คำสั่งอายัดของกรมสรรพากรมีผลเหนือกว่า ดังนั้น คำสั่งอายัดของ คตส.จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิในทรัพย์สินของทั้งสอง เพราะหากศาลมีคำพิพากษาว่าคำสั่งอายัด คตส.ชอบหรือไม่ชอบแต่สิ้นผลไปแล้ว ก็จะทำให้ทั้งสองคนสามารถนำเงินในบัญชีไปชำระหนี้ภาษีอากรค้างตามที่กรมสรรพากรมีคำสั่งอายัดได้ และทั้งสองไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่มภาษีอีกต่อไป กรณีจึงถือได้ว่าทั้งสองคน เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งอายัดทรัพย์นั้น แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของกรมสรรพากร ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ในเงินฝากตามบัญชีที่ คตส.มีคำสั่งอายัดไว้ ตามที่ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ทั้งสองเป็นเจ้าของทรัพย์ การที่ คตส.มีคำสั่งอายัด ย่อมถือได้ว่าทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงไม่จำเป็นที่ทั้งสองคนต้องเข้ามาร้องสอดเป็นคู่กรณีเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับ รับรองตามสิทธิของตนที่มีต่อเงินฝาก อีกทั้งนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมายของผลคดีดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจรับคำร้องสอดของทั้งสองคนไว้พิจารณาได้ คำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่กรณีนั้นชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีเรื่องอายัดทรัพย์ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ที่ ธ.ไทยพาณิชย์ ยื่นฟ้องกรมสรรพากรนั้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2552 ยืนตามศาลปกครองกลาง ให้คุ้มครองชั่วคราว สั่งธนาคารระงับการส่งเงินในบัญชีของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ที่ คตส.มีคำสั่งวันที่ 11 มิ.ย.2550 อายัดเงินในบัญชีฝากธนาคารของครอบครัว บุตร บริวาร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่กองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ เพื่อชำระภาษีกับกรมสรรพากร ผู้ถูกฟ้อง จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาวันที่ 2 เม.ย.2552 ยืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับฟ้องคดีที่ นายพานทองแท้ ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร, นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร และ เจ้าพนักงานสรรพากรรวม 7 คน เรื่องออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเรียกเก็บภาษีเงินได้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา จากการซื้อหุ้น บมจ.ชินคอร์ป มาจากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2549 คนละ 164 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาทด้วย