"ผ่าประเด็นร้อน"
ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการสอบสวน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับพวก เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไปกรณีถูกกล่าวหาว่าทุจริตการใช้งบประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน กว่า 18 ล้านบาท
ไม่สามารถยุติเรื่องได้ตามที่ นที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหนังสือถึง สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงโดยแย้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่เคยสรุปก่อนหน้านี้ว่ามีการทุจริตและมีความผิดวินัยร้ายแรง
อย่างไรก็ดีแม้ว่าความเห็นของกฤษฎีกาดังกล่าวอาจมีข้อแตกต่างในรายละเอียด โดยเฉพาะในประเด็นที่ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการสอบวินัยร้ายแรงตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์เสนอนายกรัฐมนตรี(สมัคร สุนทรเวช) ไปก่อนหน้านี้
เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของเรื่อง ก็ขอสรุปแบบรวบรัดตัดความพอให้เข้าใจในเบื้องต้นกันก่อนว่าในยุคที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับการร้องเรียนว่า พล.ต.ท.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ยังเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำทุจริตงบประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวนกว่า 18 ล้านบาท
ต่อมา ผลการสอบสวนพบว่ามีความผิดจริงจึงเสนอให้ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ แล้วตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง แต่กลับถูกดองเรื่องไว้ จากนั้นมาในยุคที่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้เป็นเหตุผลในสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯและกำลังจะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง แต่ สมชาย ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯเสียก่อน
จนกระทั่ง ชวรัตน์ ชาญวีระกุล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งส่งตัว พล.ต.อ.พัชรวาท กลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่าภารกิจที่มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯได้เสร็จสิ้นแล้ว แต่ที่น่าสังเกตก็คือเป็นคำสั่งในวันหยุดคือวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551 และยังเป็นการออกคำสั่งก่อนหน้าที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าถวายสัตย์ฯและสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯได้อย่างสมบูรณ์เพียงหนึ่งวันเท่านั้น และถัดมา ชวรัตน์ ก็มานั่งเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นในพรรคเดียวกันกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นพี่ชายของ พล.ต.อ.พัชวาท กับ เนวิน ชิดชอบ เสียอีก
นั่นคือความเป็นมาโดยคร่าวๆเกี่ยวกับพฤติกรรมและความผิดของ พล.ต.อ.พัชรวาท และเพื่อให้เห็นภาพการเชื่อมโยงไปถึงบุคคลและกลุ่มอำนาจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่กว่าจะดำเนินการได้แต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ขณะเดียวกันการอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาจนถึงปัจจุบันยังได้สร้างปัญหาในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจตามโครงสร้างใหม่อันอื้อฉาว ถูกกล่าวหาว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง มีเงินสะพัดนับพันล้านบาทจนต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ดีเมื่อแยกมาพิจารณาเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.พัชวาท เพื่อหาข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นมันก็ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างช่วยไม่ได้ อีกทั้งยังรวมไปถึงกรณีแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่อีกด้วย
เพราะจากท่าทีล่าสุดของ นายกฯอภิสิทธิ์ ระบุว่าจะยึดตามความเห็นของกฤษฎีกา และมอบหมายให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคนดูแล แม้ว่าดูแนวโน้มแล้วจะต้องออกมาในลักษณะ “ดอง” เรื่องต่อไปอีกรอบ
แต่อีกมุมหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในฐานะที่เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเคยสอบสวนจนพบความผิดของ พล.ต.อ.พัชรวาท มาก่อนได้ “ขีดเส้น” ให้นายกฯต้องสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯภายในหนึ่งสัปดาห์ หากไม่ดำเนินการจะฟ้องข้อหาละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ก็อาจเป็นตัวเร่งให้นายกฯต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ หากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน พล.ต.อ.พัชรวาทขึ้นมาจริงๆ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงจะต้องออกคำสั่งโยกย้ายมาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ หรืออีกทางหนึ่งจะต้องให้ออกจากราชการไว้ชั่วคราว เพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้หรือไม่
ดังนั้นข้อคิดเห็นของกฤษฎีกา หากมองอีกมุมหนึ่งก็อาจเป็น “ตัวช่วย” สำคัญสำหรับนายกรัฐมนตรีที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจาก “กลุ่มอำนาจ” อย่างน้อยก็ทำให้ปัญหาในการผลักดันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่คลี่คลายลงไปได้มาก !!