xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : วัดใจ “นายกฯ” ยังกล้าหนุน “ปทีป” เป็น ผบ.ตร.หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ผู้ที่นายกฯ เห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็น ผบ.ตร.ที่สุด
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

การประชุม ก.ต.ช.เพื่อตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ยังไม่ถูกกำหนดว่าจะมีขึ้นอีกครั้งเมื่อใด หลังที่ประชุมคราวก่อน (20 ส.ค.) ก.ต.ช.เสียงข้างมาก หักหน้านายกฯ ค้าน “พล.ต.อ.ปทีป” เป็น ผบ.ตร.ทั้งที่นายกฯ การันตี ว่า มีความเหมาะสมและเป็นกลางทางการเมือง แต่ ก.ต.ช.ที่ค้าน กลับต้องการดัน “พล.ต.อ.จุมพล” ขึ้นแทนมากกว่า โดยไม่เป็นที่เปิดเผยว่าด้วยเหตุผลกลใด แต่ข่าวสะพัดว่า แรงหนุน “จุมพล”มาจากการเดินเกมของ “ผู้จัดการรัฐบาล และเลขาธิการนายกฯ” หลังจากนี้ นอกจากต้องวัดใจว่า นายกฯ ยังจะดัน “ปทีป” ขึ้นแท่น ผบ.ตร.เป็นคำรบสองหรือไม่ ถ้าดัน จะถูกตบหน้าอีกหรือไม่แล้ว ยังต้องลุ้นด้วยว่า ระหว่างตำรวจสาย “บุ๋น” อย่าง “ปทีป” กับตำรวจสาย “บู๊” ที่ “ทักษิณ” ไว้วางใจอย่าง “จุมพล” ใครจะเข้าวินกันแน่

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

นับเป็นเรื่องที่แม้แต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเองก็คงคาดไม่ถึงว่าจะถูกคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ตบหน้าด้วยการมีมติ 5:4 คัดค้าน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)คนใหม่ แทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ตามที่นายอภิสิทธิ์เสนอ โดย ก.ต.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.น่าจะเหมาะกับตำแหน่ง ผบ.ตร.มากกว่า แต่ปัญหาคือ นายอภิสิทธิ์ เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบเพียงชื่อเดียว เมื่อไม่ผ่านความเห็นชอบ การแต่งตั้ง ผบ.ตร.จึงต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่านายอภิสิทธิ์จะเสนอชื่อผู้เหมาะสมเข้าที่ประชุมใหม่(นายกฯ บอกว่า จะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า)

ถ้าเผอิญกรรมการ ก.ต.ช.ทั้งหมดเป็นตำรวจ การออกมาวีโต้อำนาจของนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ต.ช.แบบนี้ อาจถูกมองได้ว่า นายกฯ มีปัญหาหรือไม่สามารถปกครองตำรวจได้ แต่เมื่อกรรมการ ก.ต.ช.เกือบครึ่ง (จากทั้งหมด 11 คน) มาจากสายการเมือง เช่น รัฐมนตรีมหาดไทย, รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม งานนี้จึงเป็นเรื่องของการเมือง โดยเฉพาะเมื่อผู้ปฏิบัติการณ์หักโผ ผบ.ตร.ของนายกฯ ครั้งนี้ คือ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทยชาติพัฒนา และมือไม้ของรัฐมนตรีมหาดไทย คือ นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แถมมีข่าวว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเดินเกมล็อบบี้ให้ นายชวรัตน์และ ก.ต.ช.หนุน พล.ต.อ.จุมพล เป็น ผบ.ตร.ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือผู้จัดการรัฐบาลและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมทั้งนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ที่ล็อบบี้ผ่าน นายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชาย นายชวรัตน์

ไม่ว่า นายสุเทพ และ นายนิพนธ์ รวมถึง นายเนวิน นายชวรัตน์ จะมีเหตุผลกลใดในการสนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล และคัดค้าน พล.ต.อ.ปทีป แต่ภาพความขัดแย้งได้เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาล โดยเฉพาะภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้หลังเกิดเหตุ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จะทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม “ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะคนเป็นกรรมการ ก.ต.ช.ตั้ง 11 คน ก็ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นธรรมดา ...ผมยังไม่มีโอกาสที่จะสอบถามนายชวรัตน์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้ามีเวลาก็จะถาม แต่ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น”

ขณะที่ นายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน ก็โบ้ยว่า เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องไปเคลียร์กันเอง เพราะเรื่องทั้งหมดอยู่ที่นายสุเทพและนายนิพนธ์ “ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร คิดว่า สื่อน่าจะไปสอบถาม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ไม่ควรมาถามผม และไม่ควรไปถามนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทยด้วย ...ทั้งหมดคำตอบอยู่ที่นายสุเทพ และนายนิพนธ์ ซึ่งต้องไปคุยกันเองในพรรคประชาธิปัตย์”

จนถึงขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังอุบไต๋ว่า การประชุม ก.ต.ช.นัดหน้า จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ซ้ำอีกครั้งหรือไม่ โดยบอกเพียงว่า “ทำตามกฎหมายทุกอย่าง และมีมารยาทพอ” นายอภิสิทธิ์ ยังพูดถึงกรณีที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติ 5 : 4 ด้วยว่า “ถ้าตนยกมือก็ชนะไปแล้ว เพราะเสียงจะเป็น 5 : 5 และตนจะเป็นผู้ชี้ขาด แต่ให้เกียรติกัน และกระบวนการยังไม่ยุติ ก็เดินหน้าทำตามกระบวนการกฎหมายต่อไป และคิดว่าทุกอย่างคงจะเรียบร้อย”

แม้ยังต้องลุ้นว่า ผลการประชุม ก.ต.ช.นัดหน้าจะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีปอีกหรือไม่ ถ้าเสนอ ประวัติศาสตร์ “หักหน้า” นายกฯ จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ แต่ลำพังแค่มีปัญหาในการประชุม ก.ต.ช.ที่ผ่านมา ก็ทำเอาพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้าน ออกมาโจมตีนายอภิสิทธิ์ว่าไร้ภาวะผู้นำ พร้อมเรียกร้องให้รับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออกแล้ว

ลองมาดูกันว่า หลายฝ่ายในสังคมมองปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ที่นายกฯ ถูกหักหน้าอย่างไร และอยากให้ใครเป็น ผบ.ตร.มากกว่ากัน ระหว่าง พล.ต.อ.ปทีป และ พล.ต.อ.จุมพล

พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 บอกว่า จากที่ได้เคยร่วมงานและเห็นการทำงานของ ทั้ง พล.ต.อ.ปทีป และ พล.ต.อ.จุมพล มา คิดว่าในแง่ความรู้ความสามารถไม่มีปัญหา เพราะมีทัดเทียมไม่แพ้กัน แต่ถ้ามองในแง่ความเหมาะสมกับสถานการณ์และความเป็นกลางทางการเมืองแล้ว พล.ต.อ.ปทีป เหมาะสมที่สุด

“พล.ต.อ.ปทีป ในฐานะเราก็เคยรับราชการมา ถามว่า ความเหมาะสม ความเห็นผม ผมก็ว่าน่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ตามที่ท่านนายกฯ ท่านเสนอออกมา ส่วนในการประชุมของทาง ก.ต.ช.เนี่ย แน่นอนคณะกรรมการส่วนหนึ่งก็ต้องพูดตรงๆ ว่าตำแหน่งนี้มันก็มีผลในทางการเมือง เพราะฉะนั้นผู้ที่ถูกเสนอชื่อขึ้นมาในชื่ออื่นๆ เนี่ยผมก็เห็นว่า มันก็ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง อาจจะไม่ใช่โดยเปิดเผย แต่ที่ทราบอยู่ก็จะมีความสัมพันธ์ทางการเมือง เราไม่ต้องการผู้นำองค์กรซึ่ง ณ สถานการณ์อย่างนี้ไปมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเลย เหตุผลเพราะต้องเข้าใจสถานการณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินะวันนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนของสังคมแล้ว เพราะฉะนั้นผู้นำสูงสุดขององค์กรนี้จะต้องเป็นผู้ซึ่งอยู่ในจุดที่มีความเป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองจริงๆ เท่านั้นถึงจะปรับแก้องค์กรนี้ได้ การแก้ไของค์กรนี้อย่างแรกที่จะต้องทำ ต้องแก้ไขในเรื่องบุคลากรก่อน เพราะผู้ที่เข้ามามีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เข้ามาสู่ระดับที่จะให้คุณให้โทษใครได้ ณ วันนี้มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นยังไงซะ ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของบุคลากรเนี่ย ก็คงจะยากที่จะแก้ไข สตช.”

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตเลขาธิการสภาทนายความ มองกรณีที่ประชุม ก.ต.ช.เสียงข้างมากโหวตสวนนายกฯ ที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีปเป็น ผบ.ตร.ว่า ถ้ามองในแง่นักกฎหมายแล้ว คิดว่า น่าจะเกิดจาก ก.ต.ช.แต่ละคนมองข้อกฎหมายแตกต่างกัน โดยนายกฯ อาจมองว่ากฎหมายให้ตนมีหน้าที่เสนอชื่อ ผบ.ตร. จึงได้เสนอบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด แต่กรรมการ ก.ต.ช.ก็อาจมองว่า แม้กฎหมายให้อำนาจนายกฯ เสนอชื่อ ผบ.ตร.แต่การจะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช.ทั้งคณะ ความเห็นที่ออกมาจึงแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม นายเสรี ชี้ว่า การเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น ผบ.ตร.ของนายกฯ นั้น กฎหมายไม่ได้บอกว่าต้องเสนอชื่อเดียว ดังนั้นนายกฯ อาจเสนอหลายชื่อให้ ก.ต.ช.พิจารณาก็ได้ หรือถ้าจะเสนอชื่อซ้ำกับคราวแรกก็ทำได้ แต่ควรมั่นใจว่าจะไม่ถูกตีตกอีก

“การเสนอชื่อ (ผบ.ตร.) เนี่ย ในกฎหมายถ้าเจตนาที่จะให้ชื่อเดียว ก็ต้องเขียนไว้เลยว่าชื่อเดียว กฎหมายเขาไม่ได้เขียนเอาไว้ เพราะฉะนั้นการเสนอชื่อนั้นมันเป็นกระบวนการ เป็นวิธีการที่จะกำหนดขึ้นมาเอง ...ถ้านายกฯ จะเสนอชื่อเดียวก็เป็นสิทธิ ถ้าเสนอหลายชื่อก็ไม่ได้ห้าม ก็อยู่ที่ว่าจะเสนอ สมมติเสนอชื่อเดียว เกิด กตช.ไม่เห็นชอบล่ะ ท่านทำยังไง ท่านก็ต้องวิ่งกลับไปหามาอีกชื่อหนึ่ง ถูกมั้ย (ถาม-แต่กฎหมายบอกว่าเสนอชื่อซ้ำได้?) ก็นั่นสิ พอซ้ำได้ แล้วถามว่าอำนาจที่สุด สุดท้ายอยู่ที่นายกฯ หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ใช่มั้ย ถ้าหากว่าให้อำนาจอยู่ที่นายกฯ เพียงคนเดียว กฎหมายจะเขียนไว้เลยว่าให้นายกฯ เป็นคนแต่งตั้งเลย แต่อันนี้กฎหมายให้ กตช.เป็นคณะกรรมการขึ้นมาแต่งตั้ง เพียงแต่นายกฯ เป็นประธานชุดนี้ เพราะฉะนั้น นายกฯ ก็คงต้องดูว่า เสนออะไรแล้วให้มันเดินหน้าได้ แต่ถ้าบอกว่าเสนอไปแล้ว ก.ต.ช.ไม่เห็นชอบ พอไม่เห็นชอบ บอกว่าท่านจะยืนยันไปอีก ก.ต.ช.ก็ไม่เห็นชอบอีก ถามว่าจะได้ ผบ.ตร.มั้ย มันก็คือไม่ได้ เพราะต่างคนต่างยัน เพราะฉะนั้นวิธีการที่มันเดินได้มากที่สุดก็คือ เมื่อกฎหมายให้เขาเห็นชอบแล้ว ถ้าเกิดเขาไม่เห็นชอบ ท่านก็ต้องไปหาคนใหม่เข้ามา หรือท่านอาจจะบอกว่าไปคุยกันแล้ว เป็นที่เข้าใจแล้ว ถ้าจะเสนอชื่อเดิมก็ได้ แต่นั่นหมายความว่าเสนอชื่อเดิมแล้วก็ควรจะต้องได้ ถูกมั้ย ควรต้องมีความชัดเจนอยู่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเสนอชื่อเดิมแล้ว เกิดไม่ได้ซ้ำเข้าไปอีก ก็คงไม่ควรต้องไปหาครั้งที่ 3 แล้ว ก็ต้องเสนอชื่อใหม่แล้ว”

ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การที่นายกฯ แพ้มติ ก.ต.ช.เสียงข้างมาก ไม่น่าจะถึงขั้นทำให้นายกฯ ขาดความชอบธรรมในการบริหาร เพราะแพ้แค่เสียงเดียว ไม่ได้แพ้แบบหมดรูป และปกติแล้ว การโหวต ก็ต้องมีแพ้มีชนะเป็นธรรมดา ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ล็อบบี้นายชวรัตน์ และกรรมการ ก.ต.ช.ให้หนุน พล.ต.อ.จุมพล เป็น ผบ.ตร.นั้น รศ.ดร.ไชยันต์ ชี้ว่า ถ้า นายสุเทพ และ นายนิพนธ์ ทำอย่างที่เป็นข่าวจริง โดยที่ไม่บอกให้นายอภิสิทธิ์รู้ก่อน จะถือว่าเป็นการเสียมารยาททางการเมืองอย่างมาก

“ถ้าข่าวนี้เป็นจริงเนี่ย ก็หมายความว่า มันก็มีความไม่สอดคล้องกลมกลืนกันภายในพรรค หมายความว่า นายกฯรู้ล่วงหน้าหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ มันก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก ว่า คน 2 คนภายใต้การบริหารงานของนายกฯ มีความคิดเห็นที่แตกต่างและไม่บอกกัน ที่จริงมันจะบอกกันก็ได้ นายกฯ จะได้เตรียมตัวเตรียมรู้ว่ามีเหตุผลอะไร แต่ถ้าบอกก่อนล่วงหน้า ผมก็คิดว่ามันก็แฟร์ และนายกฯ ก็ เป็นความคิดเห็นของนายกฯ ว่าอยากจะเสนอชื่อคุณปทีป ก็เป็นสิทธิของนายกฯ การที่จะไปล็อบบี้คุณชวรัตน์ นายกฯ รู้มั้ย ถ้าไม่รู้ มันก็เป็นมารยาทที่เสียมาก เป็นการเสียมารยาททางการเมืองของคุณสุเทพกับคุณนิพนธ์”

“(ถาม-คุณชวรัตน์ ให้ความสำคัญกับเลขาฯ หรือรองนายกฯ ของพรรค ปชป.มากกว่าตัวนายกฯ จะถือเป็นการไม่ให้เกียรติกันทางการเมืองมั้ย?) อันนี้ชัดเจนว่า ให้ความสำคัญกับคุณสุเทพมากกว่า มันก็คงเป็นไปได้ เพราะคุณสุเทพเป็นคนประสานงานติดต่อกับทางพรรคภูมิใจไทยให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ตัวคุณอภิสิทธิ์ (ถาม-แสดงว่าอาจจะมีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า?) ก็อาจจะมีมุมมองในเรื่องของการทำให้พรรคสามารถร่วมรัฐบาลกันได้ คือระหว่างหลักการที่ควรจะเป็นกับหลักการที่เป็นจริง มันอาจจะมีช่องว่าง หลักการที่เป็นจริงก็หมายความว่า ในทางปฏิบัติมันจะมีอะไรที่ดึงดูดร่วมกันที่ทำให้พรรคอยู่ด้วยกันได้ แต่ที่ควรจะเป็นคือ ความเหมาะสมและสามารถแก้ปัญหาใน สตช.ได้หรือไม่ ถ้าการที่คุณชวรัตน์เสนอชื่อคนที่สุเทพและคุณนิพนธ์ต้องการเนี่ย ก็อาจจะทำให้การประสานงานยังคงเป็นไปได้ แต่มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา สตช.ในความคิดของคุณอภิสิทธิ์”


เมื่อถามว่า นายกฯ เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เป็น ผบ.ตร.เพราะมองว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์และมีความเป็นกลางทางการเมือง รศ.ดร.ไชยันต์ บอกว่า ถ้า พล.ต.อ.ปทีป มีความเป็นกลางทางการเมืองมากกว่า ก็คงจะเหมาะที่จะเป็น ผบ.ตร.มากกว่า พล.ต.อ.จุมพล แต่ส่วนแล้วคิดว่า นายสุเทพ และ นายนิพนธ์ ก็อาจจะมีเหตุผลที่ดีในการหนุน พล.ต.อ.จุมพล ที่เป็นคนรุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่นกัน จึงขึ้นอยู่ว่า งานนี้นายกฯ หรือนายสุเทพ จะประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้องกว่ากัน

“ถ้า (พล.ต.อ.ปทีป) มีความเป็นกลางทางการเมืองมากกว่า ก็คงจะเหมาะกว่าท่านจุมพล แต่ทีนี้ผมก็ไม่คิดว่าคุณสุเทพกับคุณนิพนธ์จะไม่มีเหตุผลที่ดีนะ เหตุผลที่ดี ก็อาจจะเรียกว่า ในแง่หนึ่งคุณจุมพลก็เป็นคนที่อยู่ในรุ่นเดียวกับคุณทักษิณน่ะ มันน่าจะทำให้เห็นว่า เราก็สามารถแต่งตั้งคนรุ่นเดียวกับคุณทักษิณได้ ถ้าเขาเหมาะสม และอีกอันหนึ่ง ถ้าข่าวที่เขาพูดกันมานานแล้วว่า ผู้ใหญ่ข้างบนโน้น เขาค่อนข้างจะสนับสนุนคุณจุมพลเนี่ย อันนี้มันก็เป็นความเข้มแข็งทางการเมืองอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า ถ้า ปชป.หรือพรรคร่วมรัฐบาลส่งเสริมคนที่ทางผู้ใหญ่ข้างบนนั้นเขาสนับสนุนอยู่ มันก็มีความเข้มแข็งตรงนี้ ความเป็นกลางทางการเมืองก็อาจจะมีได้เหมือนกัน เพราะคุณจุมพลก็คงจะทำอะไรที่คงจะต้องอยู่ในกรอบ เพราะเมื่อมาเป็นนัมเบอร์วันของ สตช.แล้ว มาเพราะมีใบสั่งจากเบื้องบนอะไรอย่างนี้ มันก็อาจจะตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่งนะ ผมคิดว่าคุณนิพนธ์คุณสุเทพก็คงมองอะไรแบบนี้ คุณชวรัตน์คงมองอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่คุณอภิสิทธิ์คงอยากจะให้คนที่มาเป็นนัมเบอร์วันอะไรตรงนี้ ปลอดจริงๆ จากอิทธิพลอะไรต่างๆ หรือคอนเน็กชั่นอะไรต่างๆ ที่ไม่เข้มข้นเท่ากับคุณจุมพล มันก็แล้วแต่ว่า วิสัยทัศน์ การคาดการณ์ การประเมินสถานการณ์ในอนาคตระหว่างคุณอภิสิทธิ์กับคุณสุเทพและคุณนิพนธ์ ใครจะเป็นคนประเมินได้ถูกต้องกว่ากัน”

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า นายกฯ ได้ยืนยันกับนายชวรัตน์กลางที่ประชุม ก.ต.ช.คราวที่แล้วว่า จะยังคงสนับสนุน พล.ต.อ.ปทีป เป็น ผบ.ตร. หากทำไม่ได้ จะยุบสภานั้น รศ.ดร.ไชยันต์ บอกว่า หากเป็นการพูดเพื่อแสดงสปิริตกรณีที่ทำไม่สำเร็จ ก็เห็นด้วย เพราะเป็นมารยาททางการเมือง แต่ถ้าพูดเพื่อขู่นายชวรัตน์ ก็อาจเป็นไพ่ที่ทำให้นายชวรัตน์คิดใหม่ เลิกโหวตสวนนายกฯ ได้ อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ไชยันต์ เชื่อว่า จะไม่มีการยุบสภาในช่วงนี้แน่ เพราะถึงยุบไป พรรคภูมิใจไทยก็คงไม่ได้เปรียบเท่าไหร่ และคงไม่ได้เสียงอะไรเพิ่มขึ้นมากมาย ดูได้จากผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สกลนครและศรีสะเกษที่ผ่านมา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองก็คงจะอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกัน!!
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไว้ใจขนาดเคยให้ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค ปชป.ตกเป็นข่าวว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการณ์หนุน พล.ต.อ.จุมพลเป็น ผบ.ตร.
นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ตกเป็นข่าวว่าจับมือนายสุเทพล็อบบี้นายชวรัตน์และ ก.ต.ช.ให้หนุน พล.ต.อ.จุมพล เป็น ผบ.ตร.เช่นกัน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผชิญหน้ากับ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย เป็นครั้งแรกในงานแสดงสินค้าโอท็อป ที่เมืองทองธานี( 23 ส.ค.) หลังนายชวรัตน์ โหวตสวนกรณีเลือก ผบ.ตร.
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.พี่ชายคุณหญิงพจมาน ต้องการคั่วตำแหน่ง ผบ.ตร.เช่นกัน
พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตตำรวจสันติบาล ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงการทำงานทที่ไม่ซื่อสัตย์ของ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.(25ส.ค)
กำลังโหลดความคิดเห็น