โพล 2 สำนักเห็นตรงกัน ชี้อำนาจนายกฯ ลดลงหลังถูกหักกลางที่ประชุม ก.ต.ช. เชื่อปัญหาภายใน สตช.ยังไม่จบ ทั้งซื้อขายตำแหน่ง-องค์กร โดยร้อยละ 62 หนุน “ปทีป” นั่ง ผบ.ตร. ส่วนคะแนนนิยม “มาร์ค” เทียบ “แม้ว” ลดลง พร้อมย้อนรณรงค์ให้คนไทยรักกัน ควรให้นักการเมืองแบบอย่างก่อน
วันนี้ (23 ส.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเอแบคเรียลไทม์โพล เรื่องปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ กับภาวะความเป็นผู้นำ และความนิยมของสาธารณชนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวน 1,208 ครัวเรือน สำรวจระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2552 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.6 มองว่า ข่าวปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ เป็นการแย่งชิงอำนาจและความได้เปรียบทางการเมือง โดย ร้อยละ 92.3 คิดว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ คือ ปัญหาต่างๆ ในองค์กรตำรวจจะยังคงมีมากเหมือนเดิม ส่วนร้อยละ 92.2 คิดว่าปัญหาการซื้อขายตำแหน่งจะยังมีเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า ผู้ที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่ มากที่สุด อันดับหนึ่ง หรือร้อยละ 62.8 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รองลงมา ร้อยละ 47.6 ระบุ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย และร้อยละ 45.4 ระบุ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์
ส่วนกรณีการวิเคราะห์ค่าคะแนนด้านความเป็นผู้นำโดยภาพรวม จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ 49.38 คะแนน ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ 54.41 คะแนน เช่นเดียวกับความนิยมของประชาชนต่อนักการเมืองทั้งสอง พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังได้รับความนิยมสูงกว่านายอภิสิทธิ์ คือ ร้อยละ 43.6 ต่อคะแนนของนายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 39.8 ตามลำดับ ขณะที่ความในใจที่ประชาชนฝากเตือนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.9 ระบุว่าก่อนจะรณรงค์ให้คนไทยสามัคคีกัน รัฐบาลต้องเป็นตัวอย่างทำให้ดูก่อน ขณะที่ร้อยละ 77.4 ระบุว่า นักการเมืองอย่ามัวแต่ทะเลาะกัน
นอกจากนี้ ทางด้านสวนดุสิตโพลก็ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่องการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ในสายตาประชาชน ปรากฏว่า ร้อยละ 44.71 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นตำแหน่งที่สำคัญ ทั้งอำนาจและผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายต้องการ ร้อยละ 63.58 มองว่า การลงมติคัดค้านการเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลลดลง ร้อยละ 52.64 มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจต่อรองน้อยลง และร้อยละ 44.53 เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องเร่งสะสางปัญหาในพรรคให้เกิดความสามัคคี โดยเฉพาะระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปัญหาจะไม่บานปลาย และจะไม่เกิดความวุ่นวายทางการเมือง