xs
xsm
sm
md
lg

“ชวนนท์” ยันเลิกแถลงการณ์ “พระวิหาร” แล้ว - การันตี “กษิต” จุดยืนเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ
เลขาฯ รมว.ต่างประเทศแจงไทยยกเลิกแถลงการณ์ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารยุค “นพเหล่”แล้ว ตามศาลปกครองชี้ขาด พร้อมยืนยันไม่มีแนวคิดจะเข้าร่วมคณะ กก.7 ชาติดูแลพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เพียงแต่ศึกษาผลดีผลเสียเท่านั้น ส่วนมติ ครม.ปี 46 ให้ใช้พื้นที่ร่วมกัน เป็นเรื่องของรัฐบาลทักษิณ ส่วน รบ.ปัจจุบันเน้นให้คณะ กก.เขตแดนเจรจาและคืบหน้าไปมากแล้ว ย้ำ “กษิต”ยังจุดยืนเดิม

จากกรณีที่ ม.ล.วรรณวิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา และนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้มาร่วมเสวนาในรายการ"คนในข่าว" ทางสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี เมื่อคืนวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการระบุว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ มีจุดยืนและท่าทีที่เปลี่ยนไปในกรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะในประเด็นแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา ที่ยินยอมให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว และพื้นที่บริเวณรอบปราสาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นของไทย แต่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน และต้องการให้เป็นพื้นที่กันชน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า ในประเด็นข้อตกลงร่วมไทย-กัมพูชา ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.51 ในยุคที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศนั้น ขอยืนยันว่าได้มีการยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากศาลปกครองได้พิพากษาชี้ขาดไปแล้วแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงเท่ากับว่าสิ้นสภาพไปโดยปริยาย และทางกระทรวงการต่างประเทศก็แจ้งให้กัมพูชาได้รับทราบแล้ว จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้อีก

ส่วนเรื่องคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ร่วม 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วนตัวแทนจาก 7 ประเทศ ที่มีการพูดว่า ไทยมีแนวคิดที่จะเข้าร่วมด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเสียดินแดนในบริเวณดังกล่าวนั้น ขอยืนยันว่า จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติชัดเจนว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปศึกษาผลดี ผลเสียของการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าว จึงขอชี้แจงว่า เรายังไม่ได้เข้าร่วม และยังไม่มีแนวคิดที่จะเข้าไปร่วม

นายชวนนท์ ยังกล่าวด้วยว่า การรับฟังความคิดเห็น หรือการทำประชาพิจารณ์ เรื่องข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และได้เสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มิใช่เป็นการกระทำเพื่อรองรับข้อตกลงร่วมไทย- กัมพูชา ให้มีผลสมบูรณ์

ส่วนที่มีการอ้างถึงมติครม.เมื่อปี 2546 เกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ให้ไทย-กัมพูชา ใช้พื้นที่ดังกล่าวร่วมกันนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการเสนอให้ขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และไม่มีความผูกพันกับการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าว มีกองกำลังทหารไทยรักษาอธิปไตยของชาติอยู่อย่างเข้มแข็ง

นายชวนนท์ ยืนยันว่า ท่าทีของรัฐบาลและนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ในเรื่องปัญหาปราสาทพระวิหาร ไม่ได้เปลี่ยนไป ยังคงยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงขอกำลังใจจากประชาชน จากนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ ในการทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้กับบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้นักวิชาการบางคน นำเอาความจริงมาพูด เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน
กำลังโหลดความคิดเห็น