รายงานโดย ออรีสา อนันทะวัน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์การเสียดินแดนรอบประสาทพระวิหาร นำโดยวีระ สมความคิด พยายามขึ้นไปอ่านแถลงการณ์บนผามออีแดงเรียกร้องพื้นที่4.6 ตารางกิโลเมตรกลับคืนสู่อ้อมอกคนไทย แต่กลับมีไอ้โม่งที่เป็น “ม็อบจัดตั้ง” ระดมยิงหนังสติ๊กเข้าใส่จนเกิดปะทะขึ้นนั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงแค่ “กระพี้” ของปัญหาเรื่องเขาพระวิหารระหว่าง “ไทย-เขมร” เท่านั้น
เพราะแก่นของเรื่องทั้งหมดอยู่ตรงที่ความไม่เข้าใจของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบความจริงเรื่องเขาพระวิหาร โดยเฉพาะความจริงเรื่องที่ “เขมรร่วมมือกับฝรั่ง” ฮุบดินแดนของราชอาณาจักรไทยไป
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและนักมานุษยวิทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำว่า ครั้งชาติ ว่าเป็นการกล่าวหา เพราะคลั่งชาติเป็นการรักชาติแบบไม่มีเหตุผล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไทยยึดพื้นที่ของเขมรมาโดยคิดว่าเป็นประเทศใหญ่กว่าและเห็นเขมรเป็นขี้ข้า อันนี้ไม่ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นปกป้องสิทธิดินแดงอำนาจอธิปไตยของชาติ โดยกลุ่มคนที่เห็นว่าในเมื่อรัฐบาลจัดการไม่ได้ ประชาชนต้องจัดการ
“กระบวนการที่คุณวีระ ทำถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว คือเขาทำถูกในแง่การปลุกระดมความเป็นชาติขึ้นมาประชาชนมาจากทุกภูมิภาคเพื่อมาช่วยกันทำภารกิจ ที่ผ่านมาคนไทยไม่เคยเอาใจใส่เรื่องนี้เลย เป็นการกดดันรัฐบาลว่าอย่าหน่อมแน้มนะ โดยจุดสำคัญเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งคนไทย คนต่างชาติร่วมกันขายชาติ มีผมประโยชน์ร่วมกันมันเป็นเรื่องอันตรายมาก”
รศ.ศรีศักรเล่าย้อนหลังถึงกลโกงของเขมรที่กระทำต่อไทยถึง 3 ครั้ง 3 คราว่า การโกงครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่การล่าอาณานิคมเฟื่องฟู โดยขณะนั้นเขมรตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสและใช้ความเป็นประเทศมหาอำนาจเข้ามากำหนดเขตแดนที่ไม่เป็นธรรมจากราชอาณาจักรไทย
“ฝรั่งทำสนธิสัญญากับไทยในปี ค.ศ.1904 โดยในครั้งนั้นยึดหลักการแบ่งเขตแดนด้วยสันปันน้ำ ซึ่งไทยก็ยอมรับเงื่อนไข แต่ปัญหาคือ ไทยเองกลับประมาท ไม่ส่งผู้แทนและเจ้าหน้าที่ไปร่วมสำรวจ ทำแผนที่ ปล่อยให้ฝรั่งเศสดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว กระทั่งทำข้อตกลงเสร็จสิ้นในปี ค.ศ.1907 และผู้แทนรัฐบาลไทยก็ไปเซ็นยอมรับความแผนที่ชุดนี้ โดยไม่มีการคัดค้าน”
สำหรับครั้งที่ 2 สมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชาต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ โดยไปขุดเอาสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสทำไว้กับไทยในอดีตมายืนยันว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร เพราะอยู่ในดินแดนที่ฝรั่งเศสแบ่งให้ แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมโดยยืนยันสิทธิเหนือดินแดนจากกติกาเรื่องสันปันน้ำซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และในที่สุดเรื่องก็ถูกยกระดับกลายเป็นข้อพิพาทและนำไปสู่ศาลโลก
การขึ้นศาลโลกในครั้งนั้นถือเป็นการร่วมกันโกงครั้งที่ 2 เพราะศาลโลกตัดสินให้เขมรเป็นฝ่ายชนะไทย โดยให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร ซึ่งรัฐบาลไทยจำใจต้องยอมรับ แต่ได้สงวนคำคัดค้านเอาไว้ โดยจอมพล สฤษฎิ์ ธนรัชต์ ได้ประกาศว่าจะเอาคืนด้วยน้ำตาว่าวันหนึ่งจะเอาคืน
ส่วนกลโกงครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเขมรภายใต้การนำของ “สมเด็จฯ ฮุนเซ็น” ต้องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไทยไม่ยอม แต่ท้ายที่สุด “นายนพดล ปัทมะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวชก็ไปเซ็นยินยอมในแถลงการณ์ร่วมให้เขมรขึ้นทะเบียนได้ โดยการรู้เห็นเป็นใจของยูเนสโก ซึ่งส่งผลทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกผนวกรวมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เป็นดินแดนไทยเข้าไปด้วย
“ผมฟันธงเลยนะว่า กรรมการยูเนสโกส่วนหนึ่งฮั้วกับเขมร มันชัดเจนมากเพราะยูเนสโกก็รู้ว่าขึ้นเฉพาะตัวปราสาทไม่ได้ ดังนั้นเราต้องเล่นงานยูเนสโกนั่น โดยถอนตัวจากสมาชิกมรดกโลก ขณะที่รัฐบาลเองก็ทำลับๆ ล่อๆ หลายรอบแล้ว ผมถือว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว เพราะนายกฯ ดีแต่พูดแต่ไม่ทำ ซื้อเวลาไปวันๆ แล้วเขมรก็เข้ามายึดพื้นทำเส้นทางขึ้น คนส่วนใหญ่ไม่ยอมจึงเกิดการเคลื่อนไหว อย่างที่คุณวีระ และเครือข่ายทำนั่นแหละ”
“การทวงคืนพื้นที่คืนไม่ต้องไปพึ่งรัฐบาลหรอก เพราะรัฐบาลช่วยอะไรไม่ได้ พลังประชาชนเท่านั้นที่จะต้องออกมากดดันรัฐบาล แล้วสร้างภาวะสังคมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี่ขึ้นอยู่กับพลังประชาชนว่าจะเข้มแข็งขนาดไหน”รศ.ศรีศักรให้คำแนะนำ
ด้าน ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ สถาบันไทยคดีศึกษา แกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นผลมาจากการตัดสินของศาลโลกว่ากรรมสิทธิ์ในปราสาทเป็นของเขมร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้ยึดตามสันปันน้ำ ทำให้กลายเป็นปัญหาเรื่อยมา จากนั้นก็มาเติมเชื้อไฟด้วยการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยนำพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นดินแดนของไทยเข้าไปด้วย
แต่จุดที่ทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำและเสียท่าเขมรก็คือ การไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เพราะนอกจากจะขัดต่อมาตรา 190ตามรัฐธรรมนูญเพราะเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วยังมีนัยที่ไทยจะต้องเสียอธิปไตยและเสียดินแดนด้วย
“สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นโมเดลของการเสียพื้นที่จุดอื่นๆ ในอนาคตเขมรจะจัดการกับแผนที่ที่อื่นที่มีปัญหา โดยใช้แบบแผนเดียวกันใช้กรอบเจรจาเหมือนกัน เช่นปราสาทตาเมือนธมและตาเมือนโต๊ดจังหวัดสุรินทร์ และปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้วที่อาจจะต้องเสียไป ที่สำคัญเขมรอยากรุกล้ำเขตแดนเข้ามาทางจังหวัดตราด มิหนำซ้ำหลักเขตที่ 73 ในจังหวัดตราด ยังเป็นตัวชี้เข้าไปในพื้นที่ทะเลว่าอาณาเขตจะอยู่ตรงไหน”
ม.ล. วัลย์วิภา อธิบายต่อว่า อีกจุดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือปัญปัญหาเรื่องหลักที่เขต 73ในจังหวัดตราด ซึ่งก่อนหน้านี้เขมรพยายามประกาศว่าเป็นพื้นที่ของตนเอง แต่รัฐบาลไทยไม่รับรองเพราะเป็นเส้นเขตแดนที่ล้ำเข้ามาในดินแดนไทย อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากก็เกิดขึ้นตามมาเมื่อ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไปตกลงทำ Joint Communique และนำไปสู่การเซ็น MOU ร่วมกับกัมพูชา เพื่อลากเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล โดยไม่ยึดตามหลักวิชาการ ไม่ผ่านสภาและไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ด้วยผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย กัมพูชาที่มีทั้งก๊าซธรรมชาติ และบ่อน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องเร่งยกเลิก MOU ปี 2544
ส่วนการที่ไทยจะเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรคืนนั้น ม.ล.วัลย์วิภา แนะว่ารัฐบาลไม่ควรใช้การเจรจาอย่างเดียว แต่ต้องมีมาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น นำกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาใช้ คือเอาพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติมาควบคุม โดยใช้นโยบายการผลักดันให้คนเขมรที่ลุกล้ำเข้ามาออกจากพื้นที่ออกไปทีละเล็กทีละน้อย ส่วนทหารเองก็ต้องช่วยยืนยันในพื้นที่ว่าเป็นของไทยอย่างเด็ดขาดชัดเจน ขณะที่กระทรวงต่างประเทศก็ควรทำเอกสารเรื่องการข้ามชาติให้ถูกต้องโดยใช้พาสปอร์ต ใครจะเข้าออกก็ควรมีพาสปอร์ต เพื่อยืนยันอธิปไตยของไทย