xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีศักร” หนุนนายกฯ ค้านเขมรขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศรีศักร” หนุนนายกฯค้านเขมรขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ชี้ หากขอขึ้นทะเบียนร่วมต้องศึกษาให้รัดกุม ด้าน “ธีระ” เตรียมเยือน ส.ป.ป.ลาว เจรจา รมว.วัฒนธรรมลาว เรื่องขอขึ้นทะเบียนเชียงแสน-สุวรรณโคมคำ เป็นมรดกโลกร่วม 2 ประเทศ ยันไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดน

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยจะเสนอคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา ต่อคณะกรรมการยูเนสโก ว่า ตนเห็นด้วยกับการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่งผู้แทนไทยไปยื่นหนังสือคัดค้าน แต่การเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมทั้ง 2 ประเทศ จะต้องมีการดำเนินงานอย่างรัดกุม ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ไทยต้องไกล่เกลี่ยเรื่องของเขตแดนกับกัมพูชาให้ชัดเจน 2.จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ประเทศ อย่างเท่าเทียมกัน ศึกษาข้อดีข้อเสีย และนำข้อมูลมาทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศได้รับรู้ เพราะหากทำไม่รัดกุมแล้ว การขึ้นทะเบียนร่วมอาจจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนที่เป็นพื้นที่ภูมิทัศน์โดยรอบปราสาทได้ ไม่ว่าจะเป็น สระตราว สถูปคู่ ผามออีแดง และพื้นที่กันชน 4.6 ตารางกิโลเมตร

ด้านนายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีแผนงานแนวทางการดำเนินการในด้านนำเสนอแหล่งโบราณ คดีเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย ร่วมกับแหล่งโบราณคดีสุวรรณโคมคำ แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ชื่อ The Trans-boundary of Archaeological Urban Complex of ChiangSean and Suvannakhomkham ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สมบูรณ์อายุราว 500-600 ปี และที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในภูมิภาคนี้ เสมือนเป็นช่องประตูแม่น้ำโขงตอนเหนือของไทย-ลาว ร่วมเป็นมรดกโลกแห่งแรกของ 2 ประเทศนั้น ตนได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอเดินทางไปเยือน ส.ป.ป.ลาว อย่างเป็นทางการ ในการเจรจาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลาว ถึงความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเสนอแหล่งโบราณสถานเป็นแหล่งมรดกโลก ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้

นายธีระ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่า การเจรจาในการจะเสนอแหล่งโบราณคดีเป็นมรดกโลกของทั้ง 2 ประเทศในครั้งนี้ ไม่น่ามีปัญหาและผ่านไปด้วยดี เพราะไม่มีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนเหมือนกับกัมพูชา เนื่องจากอารยธรรมไทยกับลาวมีความคล้ายคลึงกัน และอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานของทั้ง 2 ประเทศได้มีการประสานงานในด้านข้อมูลมาโดยตลอด ซึ่งการตนจะเดินทางไปหารือครั้งนี้ จะเป็นการหารือในความก้าวหน้าของกรอบนโยบายการดำเนินงาน ของทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมของทั้ง 2 ประเทศ ในการพัฒนาข้อมูลของสภาพภูมิทัศน์ ร่วมกัน จากนั้นจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น