xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริตงบชุมชนพอเพียง “ปชป.”ส่อโกงคนจน(อีกแล้ว)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการทุจริตงบโครงการชุมชนพอเพียง แต่กลับมีคำยืนกรานว่า ไม่มีนักการเมืองระดับชาติ-เครือญาติรัฐมนตรี –แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวครั้งนี้

คำยืนยันแรกออกมาจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ย้ำว่าการทุจริตโครงการงบชุมชนพอเพียงเป็นแค่ความผิดพลาดเพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับส่วนใหญ่และพบว่าผู้มีส่วนในความผิดพลาดเป็นแค่ระดับนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่

ปัดผิดให้พ้นพวกตน โยนให้คนอื่นไปแบบนิ่มๆ

คำยืนยันที่สองมาจาก เจริญ คันธวงศ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการชุมชนพอเพียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สรุปผลการสอบสวน
เบื้องต้นพบว่า

ไม่ได้มีระดับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ หรือคนในคณะรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และไม่พบการทุจริตใดๆ

ถ้าพูดตามประสาชาวบ้าน ก็คือทั้งอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะ

“อุ้ม-ฟอกผิด-ประคอง”

คนที่อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดในการอนุมัติโครงการงานและงบประมาณโครงการชุมชนพอเพียงของสำนักงานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน(สพช.) หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนาย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน นาย สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. และคนสำคัญ คือนาย ประโภชน์ สภาวสุ น้องชายกอร์ปศักดิ์ในฐานะรอง ผอ.สพช.

ซึ่งทั้งสามคนกำลังถูก พรรคเพื่อไทย และหน่วยตรวจสอบต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน คณะกรรมาธิการต่างๆ ของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เดินหน้าตรวจสอบการใช้งบและการอนุมัติโครงการย้อนหลังเกือบทั้งหมดของ สพช.หลังพบว่ากระบวนการอนุมัติโครงการและการสั่งซื้อสินค้าของประชาคมชุมชนพอเพียง

ส่อว่า มีความไม่โปร่งใส โผล่ออกมาให้เห็นหลายต่อหลายเรื่อง

โดยประเด็นหลักๆ ก็คือความผิดปกติในเรื่อง ของถูกแต่ซื้อแพง แถมสินค้าที่ชุมชนสั่งซื้อแล้วส่งเรื่องให้ สพช.อนุมัติ ก็พบว่ามีการกระจุกตัวอยู่กับสินค้าเพียงไม่กี่บริษัท และเมื่อส่งของไปแล้ว ก็ไม่ได้คุณภาพ

อีกทั้งการทำกระบวนการเพื่อสั่งซื้อสินค้า ก็ทำอย่างผิดขั้นตอนไม่ได้มีการประชุมขอมติอย่างแท้จริง

แต่มีการทำคำสั่งซื้ออย่างรวบรัด หลังจากโดนชักชวนจากนักการเมืองท้องถิ่นหรือกรรมการชุมชน บริษัทขายสินค้า ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเนื่องจากต้องให้มีการออกคะแนนเสียงของประชาคมชุมชนพอเพียง เพื่อให้ได้ความต้องการที่แท้จริง แต่กลับพบว่าหลายโครงการเมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปแล้ว ประชาชนจำนวนมากแทบไม่รู้เรื่องขั้นตอนทั้งหมด

ถึงกับบางแห่งเมื่อส่งของไปแล้วประชาชน-ชาวบ้าน-เกษตรกร ได้แต่ทำหน้างงๆ ว่ามันคืออะไร ทำไมถึงมีการส่งมา แล้วรัฐส่งมาให้เพราะเหตุใด

อันแสดงให้เห็นว่า คนที่สั่งซื้อและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำการโดยการรวบหัวรวบหางกันเอง ไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ชุมชนทราบ

ทั้งหมดแม้จะเป็นแค่เพียงการเปิดเผยออกมาไม่กี่โครงการไม่กี่ชุมชน แต่ก็เจอมีปัญหาตามที่ยกมากล่าวอ้างจริง

แนวคิดชุมชนพอเพียง แม้มีที่มาจากการดัดแปลงต่อยอดมาจากโครงการ SML ของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เพียงแต่ปรับเปลี่ยนกระบวนการประชาคมบางขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น

ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี แถมยังสอดรับกับหลักและแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตัวเองของชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาคุณภาพการดำเนินชีวิตของประชาคม

แต่เมื่อเกิดเรื่องความผิดปกติ การรั่วไหลของเม็ดเงินในโครงการ การสมรู้ร่วมคิดกันของทั้งกรรมการชุมชน-นักการเมือง-บริษัทเอกชน ผู้บริหารใน สพช.ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการอนุมัติโครงการ รวมถึงการปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบอย่างรอบคอบ

จนทำให้โครงการนี้ แทนที่จะเป็นการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยมีภาครัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนในบางเรื่อง แต่กลับพบพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบประชาชนโดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า หมู่บ้าน เกษตรกรซึ่งก็ลำบากและมีรายได้ต่ำอยู่แล้ว

จึงไม่ผิดที่เมื่อกลิ่นเน่าเหม็นของโครงการนี้เริ่มปรากฏออกมาให้เห็นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนประเมินว่าหากอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ ยังทำไขสือ และอุ้มพวกเดียวกัน ก็อาจทำให้ประชาธิปัตย์ต้องถูกตราหน้าอีกครั้งว่า

เป็นรัฐบาลที่ทำนาบนหลังคนจน-เกษตรกร เหมือนเช่นกรณี สปก.4-01 ที่เอาสิทธิคนจนที่จะได้รับมอบสิทธิ์ที่ดินจากรัฐไปให้คนรวย อันเป็นเรื่องเหม็นที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ล้างไม่ออกมาจนบัดนี้

ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ ขอบอกว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องรับไม่ได้ในความรู้สึกของสังคมไทย ที่นักการเมืองมาวางแผนเอารัดเอาเปรียบเงินภาษีของประชาชนโดยใช้ประชาชนระดับรากหญ้า-เกษตรกร-คนในชนบทและชุมชนต่างๆเป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองและบริษัทเอกชนบางแห่ง

เราได้รู้มาว่า การทุจริตน่าจะเค้าความจริง เนื่องจากพบว่าการอนุมัติให้ชุมชนแห่งไหนเข้าร่วมโครงการชุมชนพอเพียง, การเห็นชอบการจัดสรรงบเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ คนที่ได้ประโยชน์กับคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจอาจมีสายสัมพันธ์อันดี และใกล้ชิดกับนักการเมืองบางคนในรัฐบาลชุดนี้

การโกงกินแบบล้าหลัง ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่ประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหามาก่อนหน้านี้ หลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แค่ทำงานได้ไม่กี่เดือน ก็ปรากฏกลิ่นเน่าเหม็นไปทั่วครม.และพรรคประชาธิปัตย์

กรณี “ปลากระป๋องเน่า”

ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนทำให้นาย วิฑูรย์ นามบุตร รมว.ต้องหลุดจากเก้าอี้

ทั้งที่ตอนแรกก็ยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่รู้ไม่เห็น และคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมใจกันออกมาปกป้องอย่างแข็งขัน

แต่เมื่อเจอกระแสสังคมกดดันอย่างหนักและวิฑูรย์เคลียร์ข้อสงสัยของหลายฝ่ายไม่ได้ในเรื่องการ หาของไม่ได้มาตรฐานไปแจกคนจน-แจกชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมแต่กลับได้รับปลากระป๋องเน่าไปกิน

อภิสิทธิ์ก็เลยต้องบีบให้วิฑูรย์ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยด่วน ซึ่งทั้งกรณีของ สปก.4-01 –ปลากระป๋องเน่า-ทุจริตงบชุมชนพอเพียง จะพบว่าล้วนมี

ประชาชน-เกษตรกร-ผู้มีรายได้น้อย

เป็นจุดศูนย์กลางของตัวนโยบายทั้งสิ้น จึงทำให้ความรู้สึกของสังคมเมื่อได้ยินได้รู้กับสิ่งเหล่านี้ ทุกคนจึงรู้สึกเจ็บปวดในใจว่า

ไฉนประชาธิปัตย์ ผิดซ้ำผิดซากกับเรื่องหาผลประโยชน์ เอาเปรียบคนจน เกษตรกร เช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้ง สปก.4-01 ,ทุจริตปลากระป๋องเน่า,งบชุมชนพอเพียง

หรือจะเป็นเพราะว่าหน้ามืดตามัว เนื่องจากเป็นฝ่ายค้านมานานเกือบแปดปี ดังนั้นพอมีอำนาจ เลยฟาดทุกอย่างที่ขวางหน้า

ถึงขั้นเกิดเรื่องอื้อฉาว ซึ่งหลายคนไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในยุคดิจิตอล 3 จีเช่นนี้

กับเรื่องในทำนอง การคอรัปชั่นล้าหลังแบบเดิมๆ คือเอาของถูกมาขายให้รัฐราคาแพง แล้วกินกันสามต่อคือ นักการเมือง ,ข้าราชการ และ พ่อค้า

จนเป็นเหตุให้รัฐบาลประชาธิปัตย์กำลังเพลี่ยงพล้ำในตอนนี้

จึงควรที่ อภิสิทธิ์ จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเรื่องทุจริตงบโครงการชุมชนพอเพียงได้แล้ว ไม่ใช่จะทำตัวลอยชายไม่ให้ความสำคัญ เพราะเกรงว่าหากลงมาด้วยตัวเอง แล้วสื่อจะให้ความสนใจ จนเทน้ำหนักการเสนอข่าวเปิดโปงเรื่องนี้ตามไปด้วย จนอาจทำให้รัฐบาลประชาธิปัตย์พังก่อนเวลาอันควร

เมื่ออภิสิทธิ์ยังยืนกรานว่า “กฎเหล็ก 9 ข้อ”ที่เน้นเรื่องการจัดการกับคนในรัฐบาลโดยไม่ต้องมี “ใบเสร็จ”และให้ความสำคัญเรื่อง “จริยธรรม-ความถูกต้อง”ในการทำงาน เป็นหลักเหนือกว่าทุกสิ่ง ก็ควรที่อภิสิทธิ์ต้องเลิกลอยตัว แล้วปล่อยให้เอาผิดกับระดับเจ้าหน้าที่ สพช.เท่านั้น

ขณะเดียวกัน กอร์ปศักดิ์ ก็ไม่ควร คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล คิดจะเล่นงานตนเองเพื่อให้หลุดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จนถึงกับไปโพสต์ข้อความในทวิสเตอร์ของตัวเองว่า

“ผมหลับสบายดี ในขณะที่ฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลรวมหัวกันเตะผมออกจากรัฐบาล”

เพราะเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เงินภาษีประชาชน เป็นสิ่งที่นักการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายบริหารต้องพร้อมให้ถูกตรวจสอบทุกเรื่อง ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

ถ้ากอร์ปศักดิ์คิดว่า การที่ตัวเองถูกตรวจสอบเป็นเรื่องการเมืองก็ไม่สมควรจะอาสามาทำงานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีรวมถึงน้องชายตัวเองด้วย

เราเห็นว่า แค่การเอาน้องชายมาเป็นรอง ผอ.สพช.แล้วตัวกอร์ปศักดิ์คุม สพช.และเป็นประธานบอร์ด สพช.มันก็ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว

แทนที่กอร์ปศักดิ์จะรีบเร่งเคลียร์ตัวเองให้เร็วที่สุดแต่กลับพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่ากำลังถูกเล่นงาน จึงถือเป็นทัศนคติที่อันตรายทางการเมืองอย่างยิ่งทั้งกับตัวกอร์ปศักดิ์และอภิสิทธิ์

คำเตือนสุดท้ายสำหรับเรื่องนี้ “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”ขอชี้ว่า หากอภิสิทธิ์-กอร์ปศักดิ์ ยังไม่รีบจัดการปัญหาทุจริตงบชุมชนพอเพียง แล้วปล่อยให้เรื่องเน่าเหม็นเช่นนี้ต่อไป ก็ไม่แน่ที่เนื้อร้ายที่อภิสิทธิ์คิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ อาจทำให้รัฐบาลนับถอยหลังรอวันสิ้นอายุขัยก่อนเวลาอันควร !
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
กำลังโหลดความคิดเห็น