“ปณิธาน” เผย “อภิสิทธิ์” เร่งกระทรวง-หน่วยราชการ ตั้งกระบอกเสียง ตีปี๊บผลงาน วางแผน ผุดโฆษกทุกจังหวัด ยัน อบต.-ท้องถิ่น อ้างผลงานดีแต่ไม่ได้บอกชาวบ้าน ครวญรากหญ้าไม่รู้รัฐบาลทำงานเพื่อประชาชน แขวะ “ทักษิณ” กล่อมคนได้ เพราะไม่ต้องบริหารประเทศ ต่างกับรัฐบาลเผชิญวิกฤตรอบด้าน
วันนี้ (5 ส.ค.) นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ ครม.เร่งรัดการออกกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ค้างอยู่จำนวนมาก โดยค้างอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา 13 ฉบับ กระทรวงยุติธรรม 2 ฉบับ กระทรวงแรงงาน 3 ฉบับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ สำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานละ 2 ฉบับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 ฉบับ และประมวลจริยธรรมข้าราชการอีก 1 ฉบับ
นายปณิธาน กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้แต่ละกระทรวงและหน่วยราชการต่างๆเร่งแต่งตั้งโฆษกประจำกระทรวง เพื่อเข้ามาเป็นกรรมการโฆษกจำนวนกว่า 70 คน สำหรับกระทรวงละ 2 คนเป็นโฆษกฝ่ายการเมือง 1 คนและโฆษกฝ่ายประจำ 1 คน โดยยังมีกระทรวงที่ยังไม่แต่งตั้ง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ หลังจากที่มีโฆษกของกระทรวงแล้ว ต่อไปจะแต่งตั้งโฆษกของทั้ง 76 จังหวัด และโฆษกของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ผลงานของรัฐบาลได้ถูกสื่อสารไปยังประชาชนทุกจุดทั่วประเทศ
“ที่ผ่านมา ปัญหาของรัฐบาล คือ ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ว่ารัฐบาลทำงาน เพื่อประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ เพราะรัฐบาลต้องรับมือกับวิกฤตรอบด้าน ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น ไม่ได้บริหารประเทศ จึงมีโอกาสได้สื่อสารกับประชาชนเพียงอย่างเดียว เช่น กรณีการถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดงนั้น แม้รัฐบาลส่วนกลางจะอธิบายกับประชาชน แต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยอธิบายกับประชาชน ปัจจุบันแม้ว่าจะมีประชาสัมพันธ์จังหวัด แต่ก็ไม่ได้ทำงานในเชิงรุกมีแค่การรายงานข่าวตามปกติเท่านั้น” โฆษกรัฐบาล กล่าว
นายปณิธาน กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกล่าวหาว่า รัฐบาลบริหารมา 6 เดือน แต่ไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของรัฐบาลนั้น อยู่ในช่วงวิกฤต มีความแปรปรวนสูง ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะไร้ยุทธศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็มีคดีใหญ่ๆ หลายคดีทั่วประเทศที่รัฐบาลต้องเผชิญ ทั้งคดี นายสนธิ ลิ้มทองกุล คดี นายสมชาย นีละไพจิตร คดียิงมุสลิมในมัสยิด แต่เมื่อผ่าน 3 เดือนไป นายกฯสามารถตั้งหลักได้ จึงเริ่มมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแก้ปัญหา แต่เมื่อไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ประชาชนจึงยังไม่เข้าใจ