xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ยาหอมคุยเล็งดึงการเมืองภาคประชาชน ร่วมดันนโยบายรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“อภิสิทธิ์” ปาฐกถาชำแหละนโยบายรัฐกับการเมืองภาคประชาชน ฟุ้งเล็งเห็นความสำคัญของภาคประชาชน ชี้ไม่หวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับแค่กาบัตรเลือกตั้งและชุมนุมประท้วงเท่านั้น ฝันดึงภาคประชาชนร่วมดันนโยบายรัฐ ลั่นพร้อมรับฟังทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่ขวางหากจะประท้วงคัดค้านรัฐ แต่อย่าชุมนุมนอกกรอบทำส่วนร่วมเดือดร้อน ย้ำข้อเสนอแก้รธน.ต้องทำ “ประชาพิจารณ์-ประชามติ” ให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้องประชุมพระปกเกล้า อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เมื่อเวลา 18.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายรัฐบาลกับการเมืองภาคพลเมือง” ซึ่งจัดโดยสาขาวิชารัฐศาสตร์ มศธ.ว่า เรื่องของการเมืองภาคพลเมืองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในระบอบประชาธิปไตยที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลดำเนินนโยบายหลายอย่าง เพื่อสนับสนุนการเมืองภาคสังคมให้เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันที่ดีสำหรับประเทศให้เกิดความมั่นคงต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า หลังจากประเทศประสบกับวิกฤติทางการเมืองใน 3-4 ปีหลัง ก็มีการพูดถึงการเมืองภาคพลเมือง แต่เมื่อนึกถึงก็จะนึกถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตนจำได้ว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 ตนขึ้นมารับหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน โดยวันที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคฯได้พูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องขอสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“ผมพูดว่าผมไม่ต้องการเห็นการมีส่วนร่วมเพียงสองรูปแบบ แบบแรกคือ แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้งทุกระดับ แม้ตรงนั้นจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมเพียงไปเลือกการเมืองในระบบตัวแทนท่ามกลางความซับซ้อนหลากหลายก็จะไม่ตอบสนองและแก้ปัญหาให้ประชาชนพอใจได้ แบบที่สองการประท้วง เรามักพูดถึงการแสดงพลังต่อต้านความไม่ถูกต้อง หรือเรื่องแสดงออกจุดยืนทางการเมืองหรือไม่ชอบใครก็แล้วแต่ แต่ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย เพราะการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งแสดงออกในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความตื่นตัวในการแสดงออก ที่ไม่อยากเห็นการถูกจัดสองรูปแบบนี้ เพราะการเมืองภาคประชาชนมีคุณค่ามากกว่านี้” นายกฯ ระบุ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคริเริ่มตั้งสมัชชาประชาชนและสมัชชาประชาธิปัตย์ มีการคุยถึงเรื่องปัญหาต่างๆของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และปัจจุบันได้ข้อคิดและความเห็นหลายอย่างในวันนั้นนำมากำหนดเป็นโยบายพรรค และเมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็ได้หยิบยกสิ่งเหล่านั้นเข้ามาใช้จนถึงวันนี้ด้วย

“แต่น่าเสียดายที่เข้าช่วงหลังของปี 48 วิกฤตการเมืองก็เกิดมาอย่างต่อเนื่อง มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขณะนั้นนำไปสู่การยุบสภา เกิดปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเกิดรัฐประหาร จนถึงปลายปีที่แล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง และช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ได้เห็นความวุ่นวายทางการเมืองอีกครั้ง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า แม้ 3-4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นภาพความขัดแย้งตรงนี้ จึงทำให้คนมองว่าภาพการเมืองภาคประชาชนเกิดความขัดแย้ง แต่การเมืองภาคประชาชนก็มีความเข้มแข็งโดยลำดับ และเมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาก็มุ่งมั่นตั้งใจในการที่จะสานต่อแนวคิดสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลักดันนโยบาย

จากนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเมืองภาคประชาชนได้เพิ่มความเข้มแข็งที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณหลายด้าน อาทิ ระบบสาธารณสุขได้รับการยอมรับในระดับโลก องค์การอนามัยโลก(WHO) แสดงความชื่นชมความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด เริ่มต้นตั้งแต่การมีระบบอาสาสมัคร การทำกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ และตั้งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาของการเมืองภาคประชาชนหนีไม่พ้นปัญหาของการมีส่วนร่วมของประชาชนในลักษณะของการชุมนุม ตนถือว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่การชุมนุมต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่กำหนดในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 ซึ่งระบุว่าต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และอยู่ภายใต้กฎหมาย

“แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นที่ประสบอยู่คือทำอย่างไรที่จะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมมีพลังถ่วงดุลให้รัฐบาลรับฟังเสียงข้างน้อย และข้อเรียกร้อง แต่ต้องไม่ทำให้ทำลายกระบวนการพัฒนาของประเทศโดยรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้ให้นโยบายและยึดถือปฏิบัติกว่าครึ่งปีว่าจะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาล แต่เมื่อตนพูดหลายคนก็หงุดหงิด บอกว่ารัฐบาลอ่อนแอ รัฐบาลไม่จัดการเด็ดขาด แต่ตนบอกว่าเราต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้องอะไร ตนบอกว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่เหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ หรือการขัดขวางการประชุมอาเซียนที่พัทยา ตนถือว่ารัฐบาลต้องดำเนินการรักษากติกา เพื่อบ้านเมือง ก็ดำเนินการภายใต้หลักของกฎหมายพิเศษ และภายใต้การเคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เหตุการณ์กลับเข้าอยู่ในภาวะปกติ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนทราบดีว่าหากประชาชนมีความเดือดร้อนก็ชุมนุมได้ แต่ตนพูดว่าอย่าไปทำผิดกฎหมาย อย่าปิดถนน แค่รวมตัวกัน ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือตนก็รับข้อเรียกร้องทุกข้อเรียกร้อง ซึ่งบางเรื่องรัฐบาลก็ดำเนินการให้ แต่บางครั้งเรียกร้องเกินกำลังก็ต้องอธิบายชี้แจง แต่ยืนยันตนฟังเสียงในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“การใช้วิธีปิดถนน คุกคามไม่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล และถ้าทำผิดกฎหมายและชุมนุมยืดเยื้อ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปรักษากฎหมายเป็นอันดับแรก แนวทางนี้จะทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองของทุกฝ่ายจะช่วยเดินหน้าประชาธิปไตย เพื่อให้การเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็งอยู่ในขอบเขต และส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะถ้าทำผิดกฎหมาย ขัดขวางการทำหน้าที่ของผู้อื่น การปิดกั้นไม่ให้คนอื่นๆพบปะสื่อสารกับประชาชน ไม่ใช่การกระทำของนักประชาธิปไตย ดังนั้นสังคมทั้งสังคมต้องไม่ยอมรับลักษณะที่มีการใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธ หรือสิ่งอื่นเป็นอาวุธเราต้องร่วมกันต่อต้าน เพราะไม่ใช่วิถีของนักประชาธิปไตย และถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะช่วยเดินหน้าในการแก้ปัญหาต่างได้” นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า มีความคิดเห็นต่างกันรุนแรง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันหาทางออก เพราะตนคาดหวังในระบบการเมืองตัวแทนและภาคเมืองประชาชน ว่าจะร่วมกันเรียนรู้ในบางประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องหาทางที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกัน เช่น การทำประชามติ ประชาพิจารณ์ ตั้งโต๊ะเจรจา เพื่อรักษาสถาบันหลักและรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด

“เพราะหลังจากนี้ถ้าเราฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ รูปแบบที่เคลื่อนไหวที่มีอยู่ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนา มีพลวัตต่อไปรัฐบาลและผมจะมองการเมืองภาคประชาชนในทางบวก ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้สร้างสรรค์สิ่งดีดีให้ประเทศชาติได้ เพื่อให้ทันต่อการแก้ปัญหากับประชาชนได้อย่างโปร่งใสต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น