xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาสะสางแดนสนธยา “ดีเอสไอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำว่า “แดนสนธยา” สำหรับหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สังกัดกระทรวงยุติธรรมน่าจะไม่ผิดไปจากความจริงมากนัก เพราะถ้าพิจารณาจากทั้งการทำงานและการบริหาร ดูเหมือนมีความลึกลับ และมีปัญหาสลับซับซ้อนชวนให้น่าสงสัยอยู่ตลอดเวลา

และยิ่งนานวันหน่วยงานดังกล่าวก็ยิ่งห่างไกลจากเจตนารมณ์จากการก่อตั้งออกไปไกลทุกที ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นว่ายิ่งทำงานรับใช้ “การเมือง” กลายเป็น “รัฐตำรวจ” อีกแห่งที่เติบโตขึ้นมาอย่างน่ากลัว

ทั้งที่ด้วยเจตนาดั้งเดิมมุ่งหวังให้ดีเอสไอเข้ามาผดุงความยุติธรรม คานอำนาจการทำหน้าที่ตามอำเภอใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะการเข้ามาคลี่คลายคดีสำคัญที่มีความสลับซับซ้อน เป็นหน่วยงานพิเศษลักษณะคล้ายกับ “เอฟบีไอ” ของสหรัฐอเมริกา แต่หากนับย้อนกลับไปตั้งแต่วันก่อตั้งเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แทบทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาด้วยความเป็นธรรม อาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานดังกล่าวเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานระยะเวลาผ่านมาเพียงแค่ 7 ปีเศษคงยังไม่อาจเห็นหน้าเห็นหลังอะไรได้มากนัก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็มาจาก “แม่น้ำร้อยสาย” หรือพวกใครพวกมันยังไม่อาจจูนเครื่องให้ลงตัวกันได้นัก แต่หากมองอีกมุมหนึ่งด้วยระยะเวลาดังกล่าวก็ถือว่าไม่น้อยเกินไป เพราะถ้านับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน มีอธิบดีมาแล้วถึง 3 คน ถือว่าหากมีการพัฒนาไปในทางที่ดีก็น่าจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยได้แล้ว

แต่ที่ผ่านมาเวลาที่เสียไปกลับถูกใช้ไปสำหรับเป็นเครื่องมือฝ่ายการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลักษณะแบบนี้เริ่มเห็นชัดเจนมาตั้งแต่ยุคอธิบดีดีเอสไอคนที่สองคือ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ในยุคของรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มถูกวิจารณ์ว่าเป็น “รัฐตำรวจ” สาขาใหม่ เนื่องจากมีการดึงบุคลากรจากตำรวจประเภทมือเท้ามาเสริมทีมกันอย่างขนานใหญ่

รายชื่อที่ต้องถูกจับตามองก็คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลูกน้องใกล้ชิดของ ทักษิณ ที่ถูกดึงมาเป็นรองอธิบดี พร้อมๆกับมีการดึงนายตำรวจคนอื่นๆมาดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับตำแหน่งรองอธิบดี เช่น พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อดีตนายตำรวจติดตาม พล.ต.อ.สมบัติ หรือ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เพื่อนร่วมรุ่นกับ พ.ต.อ.ทวี เป็นต้น ซึ่งในยุคนี้ก็เริ่มมีการขยายบทบาทของหน่วยงานกันอย่างมากมาย เริ่มรับโอนหลายคดีเข้ามาทำ เช่น คดีเพชรซาอุฯ คดีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิต แต่ก็ไม่เคยเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ที่น่าสังเกตก็คือมีหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คดีทุจริตรถและเรือดับเพลิง คดีทุจริตการขายสินทรัพย์ของ ปรส. รวมไปถึงล่าสุดคดีเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 258 ล้านบาท

แม้ว่าก่อนหน้านี้ดีเอสไอในยุคของ สุนัย มโนมัยอุดม เป็นอธิบดี จะได้รับการจับตามองและมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะเป็นหน่วยงานที่สืบสาวคดีสำคัญได้ เพราะในยุคนั้นได้รับโอนคดี “ซุกหุ้น” ภาค 2 นั่นคือการทุจริตซื้อขายหุ้นในบริษัทเอสซีแอสเซท เพื่อดำเนินคดีกับ ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ดีในยุครัฐบาลของ สมัคร สุนทรเวช ก็มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมดีเอสไอมาเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาจนถึงปัจจุบัน

หากจำกันได้เกิดกรณี “พิลึกพิลั่น” เมื่อมีการออกหมายจับ สุนัย มโนมัยอุดมในข้อหาหมิ่นประมาท มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้รอจับกุม สุนัย ทันทีที่ก้าวลงจากเครื่องบิน มาจากต่างประเทศ แต่ก็มีการช่วยเหลือจนรอดพ้นจากเงื้อมมือของตำรวจใน “ระบอบทักษิณ” มาได้อย่างหวุดหวิด

หลายกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวล้วนแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานดีเอสไอนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานที่ออกมาส่วนใหญ่มักออกมาในลักษณะของการ “รับใช้การเมือง” หรือเป็นเครื่องมือเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม แทบทั้งสิ้น แต่ขณะเดียวกันยังไม่ปรากฏให้เห็นว่าได้สร้างผลงานจากคดีที่ “พิเศษ” จริงๆ ตามเจตนารมณ์ได้เลยแม้แต่คดีเดียว

นอกเหนือจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องบุคลากร โดยเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นได้ชัดที่สุดหลังจากเกิดคดีลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งเอเอสทีวีผู้จัดการ ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องหาคือ ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัด บช.ปส.แต่ในทางปฏิบัติถูกขอตัวมาช่วยงานที่ดีเอสไอ

ขณะเดียวกันในการสืบสวนในทางลับยังพบว่า ส.ต.ท.วรวุฒิ ยังเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของดีเอสไออีกด้วย และส่อไปในทางไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่ถูกต้อง

มิหนำซ้ำตามรายงานยังพบว่ามีผู้บังคับบัญชาบางคนมีท่าทีปกป้อง รวมทั้งมีพฤติกรรมทำลายหลักฐาน เพื่อไม่ให้เชื่อมโยงไปถึงผู้บงการเสียอีก


ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาตั้งแต่ต้นนอกจากยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว อีกด้านหนึ่งกลับถูกมองว่ามีการนำหน่วยงานแห่งนี้ไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง และแม้กระทั่งในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในยุคของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำกับดูแลดีเอสไอมานานกว่า 6 เดือนแล้ว

แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นแดนสนธยาที่มีความลึกลับซับซ้อนน่าสงสัยมากขึ้นทุกวัน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น